×

ประชุมสุดยอดผู้นำ G7 สุดสัปดาห์นี้ มีประเด็นไหนน่าจับตาบ้าง

10.06.2021
  • LOADING...
ประชุมสุดยอดผู้นำ G7

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ หรือ G7 จะจัดขึ้นที่คอร์นวอลล์ สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 11-13 มิถุนายนนี้ ซึ่งไฮไลต์สำคัญคือการร่วมประชุมครั้งแรกของ โจ ไบเดน นับตั้งแต่รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยครั้งนี้ถือว่าสำคัญเนื่องจากเกิดขึ้นท่ามกลางฉากหลังของโรคระบาดโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย และนี่คือประเด็นน่าจับตาจากที่ประชุมครั้งนี้ 

 

การกระจายวัคซีน

การวางแนวทางขับเคลื่อนการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 จะเป็นวาระสำคัญของการประชุมซัมมิต G7 รอบนี้ โดยบรรดาผู้นำต้องการร่างแผนยกเครื่องระบบสาธารณสุขโลกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดใหญ่ในอนาคต

 

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร ยังหวังใช้เวทีนี้เรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ช่วยกระจายวัคซีนให้ส่วนที่เหลือของโลก เพื่อให้ครอบคลุมประชากรโลกภายในสิ้นปี 2022

 

สำหรับจอห์นสันแล้ว เขามองว่า หากทำเช่นนั้นได้จะถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการแพทย์ ขณะที่สหราชอาณาจักรจะผลักดันให้เกิดการพูดคุยเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางที่จะเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน

 

การค้าระหว่างประเทศ

ที่ประชุม G7 รอบนี้จะส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต โดยการผลักดันให้เกิดการค้าเสรีและเป็นธรรม หลังช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกบอบช้ำจากสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้า 

 

โดยแถลงการณ์จากรัฐบาลสหราชอาณาจักรในฐานะเจ้าภาพซึ่งออกมาก่อนการประชุมจะเปิดฉากขึ้นระบุว่า “แนวทางร่วมกันในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเสริมสร้างระบบการค้าระหว่างประเทศและสนับสนุนการฟื้นตัวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะสร้างงานที่ดีและยั่งยืนให้กับประเทศต่างๆ”

 

นอกจากนี้การประชุมรอบนี้ยังเปิดโอกาสให้จอห์นสันสร้างสะพานเชื่อม ในขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังแสวงหาข้อตกลงใหม่ๆ กับประเทศคู่ค้าหลังออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit)

 

ปัญหาโลกร้อน

เจ้าภาพการประชุม G7 ชี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนด้านสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ซึ่งวาระสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเป้าหมายปกป้องธรรมชาติและมหาสมุทร 30% ภายในปี 2030

 

นอกจากนี้ยังคาดว่าจอห์นสันจะเรียกร้องให้ผู้นำชาติอื่นๆ สนับสนุนแผน Climate Change ฉบับใหม่เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยคาร์บอนในระบบเศรษฐกิจเพื่อควบคุมภาวะโลกร้อน ซึ่งครอบคลุมการใช้ผลิตภัณฑ์พลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในแอฟริกาและหลายประเทศของเอเชีย

 

คุณค่าร่วมกัน

ในขณะที่โลกเริ่มฟื้นตัวจากโรคระบาด การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนค่านิยมร่วมกัน และสนับสนุนประเทศยากจนให้เติบโตไปพร้อมๆ กับประเทศร่ำรวย

 

นอกจากนี้จะมีการโฟกัสกับการพัฒนาทั่วโลก, ประชาธิปไตย, การศึกษาสำหรับเด็กผู้หญิง, ความมั่นคงทางอาหาร, สุขภาพ และการจัดหาเงินทุนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ประเทศที่เข้าร่วมประชุม: นอกจากผู้นำสหราชอาณาจักร (เจ้าภาพ) และสหรัฐฯ แล้ว สมาชิก G7 ยังประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งผู้นำรัฐบาลเข้าร่วมทั้งหมด

 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำสหภาพยุโรป (EU), อินเดีย, เกาหลีใต้, แอฟริกาใต้ และออสเตรเลีย ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม G7 ครั้งนี้ด้วย

 

ซึ่งในช่วงท้ายการประชุมจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมสรุปผลการประชุม โดยคาดว่านายกรัฐมนตรีจอห์นสันจะแถลงข่าวเกี่ยวกับเนื้อหาการประชุมในวันอาทิตย์นี้ (13 มิถุนายน)

 

ภาพ: Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X