วานนี้ (9 มิถุนายน) จิราพร สินธุไพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในการอภิปราย พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ว่าไม่มีทางปล่อยให้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ผ่านอย่างแน่นอน เพราะถ้าดูที่มาที่ไปของรวมถึงแนวทางการใช้เงินจะพบว่า แท้จริงแล้วรัฐบาลสามารถหลีกเลี่ยงการออกเป็น พ.ร.ก. และสามารถดำเนินการในรูปแบบ พ.ร.บ. ได้แต่เลือกที่จะไม่ทำ กลับพยายามอ้างความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ และจงใจจะใช้ประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้สภาต้องผ่าน พ.ร.ก. ฉบับนี้โดยเร็ว
จิราพรกล่าวต่อว่า การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ คณะรัฐมนตรีอ้างความจำเป็นเร่งด่วนตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งสามารถจะกระทำได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ดีในร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 ไปมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ารัฐบาลหั่นงบสาธารณสุขลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศที่กำลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 และมีข้อสังเกตว่าไม่มีการตั้งงบเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เอาไว้ในงบกลางดังเช่นในงบประมาณปี 2564 ที่ตั้งไว้ถึงจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงกับสภาในการประชุมครั้งนั้นว่า จะมาใช้เพิ่มเติมจาก พ.ร.ก. กู้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาทฉบับนี้ ซึ่งปรากฏว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้มีการตั้งงบประมาณด้านสาธารณสุขเอาไว้จำนวน 3 หมื่นล้านบาท แสดงว่าแท้จริงแล้วรัฐบาลมีการวางแผนเพื่อกู้เงิน 5 แสนล้านบาทตั้งแต่แรก พร้อมๆ กับการเริ่มจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปี 2565 หรือไม่ จึงจงใจไม่จัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขและการจัดการโควิด-19 ไว้ใน พ.ร.บ. งบประมาณปกติให้เพียงพอ แต่เก็บเอาไว้เพื่อมากู้นอกระบบในรูปแบบ พ.ร.ก. แทน ซึ่งจะยากต่อการตรวจสอบมากขึ้น
“ยิ่งไปกว่านั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีการวางแผนจะกู้เงินเพียง 1 แสนล้านบาท จากก้อน พ.ร.ก. กู้เงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท และที่เหลือจะทยอยกู้ แบบนี้จึงเท่ากับว่าแท้จริงแล้วเงินที่เหลืออีกจำนวน 4 แสนล้านบาท ไม่ได้จำเป็นเร่งด่วนขนาดที่จะรอใช้ใน พ.ร.บ. งบประมาณปกติไม่ได้ เพราะกว่าจะได้ใช้จริงก็ต้องรอขึ้นปีงบประมาณใหม่ นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลจริงใจในการใช้เงินที่เป็นภาษีของประชาชนเพื่อบริหารจัดการด้านวัคซีนและแก้ปัญหาโควิด-19 จริง ก็สามารถใส่ไว้ใน พ.ร.บ. งบประมาณปกติได้ตั้งแต่แรก” จิราพรกล่าว
จิราพรยังกล่าวต่อไปว่า ในการกู้เงินครั้งแรกจำนวน 1 ล้านล้านบาท แทบไม่มีรายละเอียดโครงการต่างๆ ให้สภาพิจารณา แต่ได้อนุโลมให้เพราะเข้าใจได้ว่า เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นกะทันหัน ยากต่อการประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมโครงการต่างๆ ในการแก้ปัญหา แต่ในการกู้เงินครั้งนี้รัฐบาลได้ผ่านประสบการณ์รับมือกับการระบาดมาแล้วถึง 3 ครั้ง ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในประเทศไทยจนถึงปัจจุบันที่มีการขอกู้เงินผ่าน พ.ร.ก. วงเงิน 5 แสนล้านบาทฉบับนี้ ผ่านมากว่า 1 ปี 4 เดือน รัฐบาลก็ยังเหมือนไม่มีประสบการณ์ในการเตรียมรายละเอียดโครงการเพื่อแก้วิกฤต กลับมีเพียงกระดาษไม่กี่แผ่นให้สภาพิจารณาเหมือนเดิม แล้วจะวางใจให้รัฐบาลไปใช้เงินจำนวนมหาศาลก้อนใหม่นี้เพิ่มอีกได้อย่างไร
ทั้งนี้ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 เข้าใจได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา แต่การใช้เงินเป็นจำนวนมากไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจจะฟื้นได้เสมอไป เพราะหัวใจสำคัญคือวิสัยทัศน์และประสิทธิภาพของการใช้เงินของผู้นำประเทศ ตราบใดที่คนใช้เงินยังเป็น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าทีมเศรษฐกิจผู้ที่ไม่เคยมีความรู้ความเข้าใจด้านเศรษฐกิจเลยแม้แต่น้อย บริหารประเทศล้มเหลวมาตลอด 7 ปี และพิสูจน์ความด้อยประสิทธิภาพของตัวเองมาแล้วในการบริหารจัดการเงินกู้มหาศาลจำนวน 1 ล้านล้านบาท ทำให้เกิดวิกฤตซ้อนวิกฤต จึงไม่อาจวางใจให้ผู้นำที่ไร้ความรู้ความสามารถอย่างร้ายแรงท่านนี้ได้มีโอกาสใช้เงินก้อน 5 แสนล้านบาทเพิ่มอีกแน่นอน
“ขอให้รัฐบาลหยุดอ้างความจำเป็นเร่งด่วน หยุดเอาความเดือดร้อน ความเป็นความตายของประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อให้สามารถออก พ.ร.ก. เงินกู้ 5 แสนล้านบาทฉบับนี้ เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ใช้เงินอย่างมือเติบไปกับโครงการแจกต่างๆ สร้างประโยชน์ทางการเมืองให้กับตัวเองแบบหลีกเลี่ยงการตรวจสอบของสภา โดยไม่คำนึงถึงความยากลำบากที่แท้จริงของประชาชน และยังเป็นการโยนหนี้ก้อนโตให้คนทั้งประเทศต้องมาแบกรับภาระแทนแบบไม่เห็นอนาคต” จิราพรกล่าวในที่สุด