“ล้มเหลว มักง่าย และเสียหาย” พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวสรุปเหตุผล 3 ประการที่ไม่สามารถเห็นชอบให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อแก้วิกฤตโควิด-19 ในการแถลงข่าวถึงการเตรียมพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทในช่วงเช้าของวันนี้ (9 มิถุนายน) โดยที่เนื้อหาของ พ.ร.ก. เพื่อชี้แจงวางแผนการใช้จ่ายจากเงินกู้ชุดนี้มีความยาวอธิบายประกอบอยู่เพียง 5 หน้าเท่านั้น
การกู้เงินครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ของการกู้เงินแก้วิกฤตโควิด-19 จากครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาทมาแล้วในช่วงของการระบาดระลอกแรก
ชวนให้ประชาชนตั้งคำถามถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ปัจจุบันยังไม่ทุเลาลง ซ้ำจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วงการระบาดครั้งแรกอย่างมาก ว่า 1 ล้านล้านบาทที่ผ่านมาถูกนำไปจัดสรรอย่างไร? รัฐบาลมีความจำเป็นแค่ไหนในการกู้เงินรอบใหม่? และการกู้เงินครั้งนี้จะถูกนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่?
กู้เงินครั้งแรก 1 ล้านล้านบาท
- พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ประกาศเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2563 ขณะการระบาดระลอกแรกของโรคโควิด-19 เป็นวงเงิน 1 ล้านล้านบาท มีความยาวทั้งหมด 5 หน้า
- แผนงานการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2. ชดเชยเยียวยาให้ประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 555,000 ล้านบาท และ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท
- ภายหลังแผนงานได้มีการปรับเปลี่ยนสัดส่วนค่าใช้จ่าย โดยเพิ่มเงินชดเชยเยียวยาเป็น 685,000 ล้านบาท (56.5%) ลดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจเหลือ 270,000 ล้านบาท (39%) ส่วนเงินแก้ปัญหาโรคระบาดยังคงเดิมที่ 45,000 ล้านบาท (4.5%)
- ในปัจจุบันมีโครงการภายใต้เงินกู้ชุดนี้ ที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 287 โครงการ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 817,233 ล้านบาท หรือเท่ากับใช้ไปแล้ว 81.72% ของเงินกู้ทั้งหมด คงเหลือ 182,777 ล้านบาท
- เงินในสัดส่วนของการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ถูกมองว่าเป็นความจำเป็นสูงสุดในการคลี่คลายสถานการณ์โรคระบาดนี้ นอกจากจะได้กรอบวงเงินในสัดส่วนที่ต่ำสุด ในปัจจุบันยังถูกอนุมัติใช้ไปเพียงแค่ 25,825.87 ล้านบาท หรือ 57.4% ของวงเงินเท่านั้น
โครงการที่น่าสนใจจากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
- โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,805 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ โดยกรมการพัฒนาชุมชน วงเงิน 4,787 ล้านบาท
- โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช วงเงิน 741 ล้านบาท
- โครงการ OTOP ไทย สู้ภัยโควิด-19 โดยกระทรวงมหาดไทย วงเงิน 95 ล้านบาท
กู้เงินครั้งที่สอง 5 แสนล้านบาท
- พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 กำลังอยู่ในขั้นตอนการลงมติรับรองผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ (9 มิถุนายน) ขณะการระบาดระลอกที่ 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นวงเงิน 5 แสนล้านบาท มีความยาวทั้งหมด 4 หน้า
- แผนงานการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. แก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท (6%) 2. ชดเชยเยียวยาให้ประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท (60%) และ 3. ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท (34%)
- เช่นเดียวกับการกู้เงินครั้งแรก สัดส่วนของการแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 เพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขยังคงอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำที่สุด แม้ว่าการระบาดในระลอกที่ 3 จะมีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งภาครัฐยังล้มลุกคลุกคลานอยู่กับการจัดหาวัคซีนมาให้แก่ประชาชนที่ปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิด โดยที่ยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนให้เพียงพอกับโรงพยาบาลทุกแห่งจนต้องเลื่อนการฉีดออกไปในหลายพื้นที่ ก่อนจะกลับมาประกาศว่าพร้อมฉีด
งบประมาณกองทัพบก ปี 65 ยังมากกว่างบแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19
- ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่ได้ผ่านการลงมติจากสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนของงบกองทัพบกได้รับการจัดสรรทั้งหมด 39,694,972,200 บาท เป็นจำนวนที่มากกว่างบแก้ปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ของ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ถึง 9.6 พันล้านบาท
ซื้ออาวุธจำเป็นเหมือนของใช้ในบ้าน เหมือนทิชชู่ในห้องน้ำ ห้ามซื้อแล้วถ้าเข้าห้องน้ำจะใช้อะไร
- พล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แถลงในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ภายหลังการประชุมกรณีที่ฝ่ายค้านเสนอให้ตัดงบประมาณของกองทัพในการจัดซื้ออาวุธของปี 2565 ไปก่อนเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดย ผบ.ทบ. ได้ย้ำถึงความจำเป็นของการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพว่า “เหมือนของใช้ในบ้าน เหมือนทิชชู่ในห้องน้ำ แล้วบอกว่าทิชชู่ ห้ามซื้อนะปีนี้ แล้วถ้าเข้าห้องน้ำคุณจะใช้อะไร” และได้ปรับแผนเน้นเฉพาะส่วนที่จำเป็นและคุ้มค่าต่อการใช้งานแล้ว
- งบประมาณการจัดซื้ออาวุธของกองทัพบกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 6,000 ล้านบาท ได้แก่ การจัดหาเฮลิคอปเตอร์ รถกู้ซ่อม เครื่องช่วยฝึกเทคโนโลยีขั้นสูง การจัดหาระบบควบคุมการยิงของรถถัง M60 ในส่วนที่สองเป็นงบประมาณผูกพันข้ามปีอีก 6,000 ล้านบาท ได้แก่ การจัดซื้อรถถัง VT-4 เฮลิคอปเตอร์แบบโจมตี และยานเกราะ Stryker
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: