วันนี้ (8 มิถุนายน) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) รายงานว่า ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องในคดีของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในความผิดฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จากการไม่ไปรายงานตัวต่อ คสช. เมื่อปี 2557 โดยอ้างถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินว่า คำสั่ง คสช. ที่ใช้ในคดีนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ โดยคดีนี้วรเจตน์ต่อสู้คดีมา 7 ปี
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 จากกรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลย (วรเจตน์ ภาคีรัตน์) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผลการพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กรณีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา โดยมติเอกฉันท์ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26
เฉพาะประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 โดยมติเสียงข้างมากว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง ด้วย
จากคำวินิจฉัยดังกล่าวสรุปได้ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 และ ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 เฉพาะในส่วนโทษทางอาญา ‘ขัดรัฐธรรมนูญด้วยมติเอกฉันท์’ ทั้ง 2 ฉบับ
แต่ในส่วนของฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2557 นอกจากจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 26 แล้ว ยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่งด้วย
ทำให้ประกาศทั้งสองฉบับไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมายอีกต่อไป ผู้ที่ถูกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกมารายงานตัวแล้วไม่มา จึงไม่มีโทษทางอาญาแต่อย่างใด
สำหรับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ระบุว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง
ขณะที่รัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ระบุว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลา ที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทําความผิดมิได้
สำหรับ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาอื่นอีกหลายแห่ง มีชื่อเสียงจากการร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์
หลังรัฐประหาร วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกคำสั่งฉบับที่ 5/2557 เพื่อให้วรเจตน์มารายงานตัว แต่ครั้งนั้นเขาไม่ไป และยังมีคำสั่งฉบับที่ 57/2557 เพื่อให้เขาไปรายงานตัวอีกครั้ง สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย รายงานว่า วรเจตน์มอบหมายให้ พัชรินทร์ ภริยา เข้ารายงานตัวแทน และให้เหตุผลว่าเขาป่วย จึงไม่สามารถเข้ารายงานตัวด้วยตนเอง
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2557 สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า กำลังทหารเข้าควบคุมตัววรเจตน์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หลังเดินทางกลับจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง บางสำนักรายงานว่า เขาถูกกักตัวอยู่ก่อนแล้วเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ต่อมาในวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการในคณะนิติราษฎร์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กตนว่า “ดร.วรเจตน์ ไม่ได้ถูกควบคุมตัว แต่ตัดสินใจเข้ารายงานตัวด้วยตัวเอง”
เช้าวันที่ 18 มิถุนายน 2557 ทหารควบคุมวรเจตน์มายังกองบังคับการกองปราบปราม เพื่อให้ตำรวจถามปากคำ และแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต่อมาพนักงานสอบสวนกองปราบปรามและทหารนำเขาไปยังศาลทหารกรุงเทพฯ เพื่อขอฝากขังจนถึงวันที่ 27 มิถุนายน ศาลทหารอนุมัติ และให้นำวรเจตน์ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ครอบครัวของวรเจตน์ยื่นหลักทรัพย์เงินสด 20,000 บาท เพื่อขอประกันตัว ในเวลาต่อมาศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัว โดยมีเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องขออนุญาตก่อนออกนอกราชอาณาจักร และให้มารายงานตัวตามวันที่นัดหมาย
ต่อมาในการต่อสู้คดีหลังโอนการพิจารณาคดีจากศาลทหารมาที่ศาลยุติธรรม วรเจตน์ได้ยื่นคำร้องให้ศาลแขวงดุสิตส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ประกาศดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และศาลได้มีคำวินิจฉัยว่าประกาศทั้งสองฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ภาพ: วงศกร ยี่ดวง / THE STANDARD