วันนี้ (7 มิถุนายน) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า จัดเฟซบุ๊กไลฟ์รายการ คิดไปข้างหน้ากับธนาธร ทางเพจ Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และการจัดการวัคซีน โดยยกตัวอย่างการจัดการที่น่าสนใจจากต่างประเทศมานำเสนอให้เห็นทิศทางการจัดการที่เหมาะสม
ธนาธรระบุว่า เดือนมิถุนายนนี้เป็นเดือนที่สำคัญที่รัฐบาลไทยมีแผนที่จะฉีดวัคซีนในปริมาณมากให้แก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายที่จะฉีดให้ได้ภายในเดือนมิถุนายน 5-6 ล้านโดส หมายความว่าในหนึ่งวันจะต้องฉีดถึง 2 แสนโดสต่อวัน และเดือนต่อๆ ไปอาจจะต้องเพิ่มศักยภาพในการฉีดไปถึง 5 แสนโดสต่อวัน
ซึ่งหากรัฐบาลทำไม่ได้ตามแผนนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ประเทศไทยจะกลับสู่สภาวะปกติได้ช้าลง แต่ละวันที่ผ่านไปคือความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชน
ยกเคส ‘ดีทรอยต์’ เปิดข้อมูลสารพัด เข้าถึงง่าย โหลดได้ทันที มีทุกอย่าง ตั้งแต่จำนวนวัคซีนไปถึงการใช้จ่ายของรัฐ
ธนาธรได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจคือกรณีของเมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองที่มีประชากร 6 แสนคน พื้นที่ 300 กว่าตารางกิโลเมตร หากเข้าไปดูที่หน้าเว็บไซต์ของเมืองดีทรอยต์ จะเห็นได้ว่าเมื่อเข้ามาถึงจะพบกับกำหนดการฉีดวัคซีนทันที เมื่อเลื่อนลงมาดูก็จะเห็นข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 และข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนควรรับรู้เป็นลำดับถัดมา
จากนั้นธนาธรได้นำเสนอหน้าเว็บไซต์ของเมืองดีทรอยต์ พร้อมแสดงให้เห็นว่าในเว็บไซต์เพียงเว็บเดียวนี้มีข้อมูลทุกเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นไทม์ไลน์ซึ่งสามารถดูย้อนหลังได้, จำนวนเตียงที่มีอยู่และใช้ไปแล้วทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลสนาม ฮอสพิเทล และห้องไอซียู, ผลการตรวจหาเชื้อในประชากร แสดงจำนวนและสัดส่วนระหว่างผลบวกและลบ รวมถึงแยกเป็นตามพื้นที่และประเภทการตรวจ, จำนวนผู้ป่วยแยกย่อยถึงระดับรายอำเภอและตำบล, จำนวนผู้ได้รับวัคซีนแล้ว, จำนวนวัคซีนที่ได้รับมาจากรัฐบาลกลาง ลงรายละเอียดไปถึงว่ามีวัคซีนยี่ห้ออะไรในจำนวนเท่าไรบ้าง, สถานที่ฉีดวัคซีนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมีในจุดใดบ้าง และมีวัคซีนยี่ห้ออะไรให้เลือกบ้าง, และข้อมูลนโยบายที่จูงใจให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน
นอกจากนี้บนหน้าเว็บไซต์ยังมีการแสดงข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทั้งข้อมูลกิจกรรมที่มีการเบิกจ่าย จำนวนเงินที่มีการเบิกจ่าย ฯลฯ ที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลใช้งบประมาณไปกับอะไรบ้าง เบิกจ่ายให้กับใครไปบ้าง
ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและสามารถเข้าดูได้ทันทีผ่านออนไลน์ โดยไม่มีการปกปิดหรือขั้นตอนที่ยุ่งยากในการเข้าดู
เปิดเว็บไซต์รัฐบาลไทยเทียบจะๆ ไร้ฐานข้อมูลเปิดให้ประชาชน ถึงมีปุ่มให้กด แต่ก็โหลดไม่ได้
จากนั้นธนาธรได้ลองเข้าเว็บไซต์ของฝั่งไทยเพื่อเปรียบเทียบกัน โดยยกตัวอย่างหน้าเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งแม้จะมีอินโฟกราฟฟิก แต่ก็ไม่มีฐานข้อมูลที่ลึกและตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนวัคซีนที่ได้รับมา และมีวัคซีนอะไรบ้าง รวมถึงข้อมูลประชากรที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งบนหน้าเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานครไม่มีข้อมูลเหล่านี้อยู่เลย
ส่วนบนหน้าเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ฐานข้อมูลกลางของรัฐบาล จะพบว่า มีข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวนหนึ่ง เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ซึ่งสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ แต่ต้องกรอกอีเมล วัตถุประสงค์การใช้งาน และรายละเอียดของการใช้ข้อมูล
ซึ่งทำให้เห็นว่าการจะเข้าไปหาข้อมูลที่มีความสำคัญเช่นนี้ไม่สะดวกสบายและไม่ง่ายเลยสำหรับประชาชน เมื่อเทียบกับตัวอย่างของเมืองดีทรอยต์ที่ประชาชนสามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ทุกข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้ง PowerPoint และ Excel พร้อมให้ประชาชนเข้าถึงได้ในทันที
ส่วนรายงานข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น รายงานข้อมูลโควิด-19 ในแต่ละเคส มีการแสดงผลให้ดาวน์โหลดได้ในรูปแบบ API แต่เมื่อกดเข้าไปแล้วกลับไม่สามารถเข้าถึงหรือดาวน์โหลดได้ ขึ้นแสดงผลบนหน้าจอเป็นเพียงข้อความว่า “ไม่สามารถเปิดหน้าเว็บนี้ได้ เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์หยุดการโต้ตอบ”
ธนาธรโทรเอง ต่อ DGA ขอทางเข้าถึงข้อมูลวัคซีน สุดท้ายได้คำตอบ “โหลดไม่ได้เหมือนกัน”
จากนั้นธนาธรได้โทรศัพท์ไปสอบถามวิธีการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ และต้องพบกับข้อความอัตโนมัติให้กดเบอร์ภายในหรือกดเลือกติดต่อกับโอเปอเรเตอร์ โดยธนาธรเลือกกดติดต่อโอเปอเรเตอร์เพื่อสอบถามการเข้าถึงข้อมูล เจ้าหน้าที่ได้โยนให้ธนาธรติดต่อไปที่อีกเบอร์หนึ่งแทน
ซึ่งธนาธรได้ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ที่ได้รับมา ซึ่งเป็นส่วนของ DGA Contact Center ก็ต้องพบกับระบบข้อความอัตโนมัติเหมือนเดิม และเมื่อติดต่อกับโอเปอเรเตอร์ได้แล้ว ธนาธรได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่เพื่อสอบถามถึงการเข้าถึงข้อมูลระยะหนึ่ง ก่อนที่จะได้รับคำตอบว่าข้อมูล API ดังกล่าวไม่สามารถดาวน์โหลดได้ และทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลก็ไม่สามารถช่วยให้ธนาธรเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ด้วยเช่นกัน ธนาธรจะสามารถดาวน์โหลดได้เฉพาะข้อมูลที่มีหน้าแสดงผลขึ้นมาให้ดาวน์โหลดได้เท่านั้น พร้อมแนะนำให้ธนาธรติดต่อไปขอข้อมูลจากกรมควบคุมโรคโดยตรงแทน
ธนาธรจึงได้สอบถามกลับไปว่า ถ้าไม่ให้ดาวน์โหลดแล้วเหตุใดจึงมีแถบให้กดดาวน์โหลด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้ตอบกลับว่าข้อมูลในส่วนนี้ตนทราบเพียงว่าทางกรมควบคุมโรคเป็นผู้นำมาลงในเว็บไซต์ แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ดาวน์โหลดได้ และทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลก็ไม่สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้เช่นเดียวกัน
วอนรัฐบาลปรับปรุงการทำงาน เปิดข้อมูลทุกด้าน สร้างความเชื่อมั่นประชาชน จูงใจประชาชนรับวัคซีน
หลังจากวางสายโทรศัพท์ไปแล้ว ธนาธรได้กล่าวต่อไปว่า จากการค้นหาเพิ่มเติมตนก็พบว่า ความจริงภาครัฐก็มีการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนอยู่บ้าง ในเรื่องของการเก็บรักษา การกระจาย และจำนวนสต๊อกวัคซีน เช่น บนเว็บไซต์ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่า ฐานข้อมูลที่นำมาแสดงยังน้อยเกินไป ไม่มีการอัปเดตให้เท่าทันสถานการณ์ ไม่มีการเปิดเผยอย่างกว้างขวางให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามีฐานข้อมูลนี้ หนำซ้ำข้อมูลบางอย่างก็ไม่ตรงกันเอง บ้างก็ขัดแย้งกันเองด้วย
ธนาธรกล่าวต่อไปว่า เรื่องของการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างมาก เพราะรัฐบาลที่มีความใส่ใจในประชาชนอย่างแท้จริง ย่อมต้องให้ความสำคัญและมีความพยายามอย่างมากในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวกับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนที่มีอยู่ ยี่ห้ออะไรบ้าง ฉีดไปแล้วเท่าไรในแต่ละพื้นที่ เหลือวัคซีนอยู่เท่าไร รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อแยกย่อยเป็นรายพื้นที่
การเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้จะทำให้คนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล และยังทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย เข้าถึงข้อมูลได้หมด ซึ่งจะนำไปสู่การชักจูงให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนมากขึ้น เพราะมีความเชื่อมั่นในรัฐบาล
วัตถุประสงค์ของการฉีดวัคซีนคือการฉีดให้เยอะที่สุดและเร็วที่สุด ที่จะทำให้เกิดการป้องกันการแพร่ระบาดและการเสียชีวิตของประชาชน ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้รัฐบาลต้องให้ข้อมูลกับประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ประชาชนไว้ใจรัฐบาลและได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
“อยากฝากถึงรัฐบาลว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ผมนำเสนอไม่ได้เกินความสามารถ ใช้แล้วในหลายเมืองทั่วโลก ประเทศไทยก็มีศักยภาพที่จะทำได้ ถ้ารัฐบาลมีความจริงใจในการเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้กับประชาชน ประชาชนจะได้ไม่ต้องมาสับสนกันว่าตกลงตอนนี้วัคซีนรับมาเท่าไรแล้ว มีอยู่ในมือเท่าไร จะต้องไปลงทะเบียนที่ไหน ก็หวังว่ารัฐบาลจะมีการปรับปรุงกระบวนการตรงนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุด ประชาชนจะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อการยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้” ธนาธรกล่าวทิ้งท้าย