×

ส่องแนวโน้มหุ้นทั่วโลกครึ่งปีหลัง ‘สหรัฐฯ-จีน-ยุโรป’ ยังโดดเด่นรับธีม Re-Opening เศรษฐกิจฟื้นตัวแกร่ง แนะไตรมาส 4 ปรับพอร์ตอีกครั้งก่อน Fed ประชุมใหญ่

06.06.2021
  • LOADING...
แนวโน้มหุ้นทั่วโลก

ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกใน 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ตลาดหุ้นสำคัญส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกันเป็นส่วนมาก อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายนนี้มีปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางความเคลื่อนไหวดัชนีหลายปัจจัย เช่น การดำเนินนโยบายของ Fed การดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อ และราคาน้ำมัน

 

รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการ ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนและช่วงครึ่งปีหลังมีโอกาสพักฐานระยะสั้น แต่เป็นการพักฐานเพื่อปรับขึ้นต่อ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบยังมีอีกมาก แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงที่ Fed จะลดการทำ QE และดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจก็ตาม 

 

เปิด 6 ปัจจัยมีผลต่อตลาดหุ้นทั่วโลก 

โดยปัจจัยที่จะเกิดขึ้นและกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนนี้ตลอดจนครึ่งปีหลังคือ 

 

1. การดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed โดยการลดการทำ QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด ทั้งนี้ มองว่าแม้ท้ายที่สุดแล้ว Fed จะหยุดการทำ QE และตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด แต่จะใช้เวลายาวนานและทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งจะมีการส่งสัญญาณ (Verabl Intervention) ให้ตลาดรับรู้เป็นระยะ

 

“Fed น่าจะเรียนรู้ถึงผลกระทบเวลาปรับเปลี่ยนนโยบายโดยไม่ส่งสัญญาณก่อนล่วงหน้า จึงเชื่อว่าจากนี้ไปเราจะเริ่มได้เห็นสัญญาณจาก Fed ที่สะท้อนถึงแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายมากยิ่งขึ้น” 

 

ทั้งนี้ จากคาดการณ์ว่า Fed จะส่งสัญญาณลดจำนวน QE ในครึ่งหลังปี 2564 จากนั้นจะเริ่มลดจำนวน QE ในปี 2565 โดยน่าจะขายพันธบัตรคืนกลับสู่ตลาดราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อครั้ง จากนั้นในครึ่งแรกของปี 2566 น่าจะหยุดใช้ QE และเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2566 

 

2. อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ซึ่ง ณ ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 6% สูงกว่าปกติที่อัตราว่างงานเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4% ซึ่งเป็นอัตราว่างงานที่ยังสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อยู่ อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับปี 2563 อัตราการว่างงานสหรัฐฯ สูงถึง 10% เพราะสถานการณ์โควิด-19 

 

เมื่อประเมินจากตัวเลขอัตราการว่างงานแล้ว มองว่า Fed จะยังไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวได้เร็วๆ นี้ 

 

3. เงินเฟ้อ ปัจจัยนี้อาจจะไม่ส่งผลเชิงลบต่อทิศทางความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นเหมือนในอดีต เนื่องจาก Fed ได้ปรับวิธีการประเมินเงินเฟ้อเป้าหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยให้สามารถนำตัวเลขเงินเฟ้อย้อนหลังมาอ้างอิงได้ เนื่องจากปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกไม่ปกติ 

 

“ในอดีตเราจะเห็นว่าเมื่อเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยก็จะขึ้น และตลาดหุ้นจะปรับลดลง แต่รอบนี้เชื่อว่าแม้เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ตลาดหุ้นจะไม่ปรับลดลง เพราะมีปัจจัยบวกในเรื่อง Earning ที่เรากำลังเข้าสู่ช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว มาพยุงดัชนี” 

 

4. Valuation ของตลาดหุ้น โดยปัจจุบันตลาดหุ้นส่วนใหญ่ถือว่าไม่ได้ถูกนัก และเมื่อเข้าสู่ช่วง Earning ขาขึ้น หลังจากหลายประเทศสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งสภาวะนี้ตลาดมักจะให้ตัวคูณ (Multiple) ราคาที่ลดลงเสมอ และเมื่อ Earning เติบโตได้ทันราคา ดัชนีก็จะไม่ปรับลดลง  

 

“นัยก็คือแม้ตลาดหุ้นจะไม่ได้ถูก แต่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะพยุงให้ดัชนีไม่ปรับลดลงหรือลงไม่มากนัก” 

 

5. การดำเนินนโยบายการคลังสหรัฐฯ ที่ส่งสภาพคล่องเข้าสู่ระบบมหาศาลราว 2.3 แสนล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 11% ของ GDP สหรัฐฯ จะเข้ามากระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจะส่งผลต่อการใช้จ่าย การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่สุด 

 

6. แผนปฏิรูปภาษีนิติบุคคลสหรัฐฯ ซึ่ง โจ ไบเดน ได้ปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลขึ้นมาเป็น 28% จากเดิม 21% ก็ยังถือว่าต่ำกว่ายุคก่อน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ภาษีนิติบุคคลอยู่ที่ 35% และ โดนัลด์ ทรัมป์ ปรับลดลงมาอยู่ที่ 21% ขณะเดียวกันเชื่อว่าภาคตลาดทุนสหรัฐฯ จะไม่ให้น้ำหนักในประเด็นภาษีนิติบุคคลมากนัก เพราะในอดีตบริษัทในสหรัฐฯ​ เคยเผชิญกับอัตราภาษีนิติบุคคลสูงถึง 50% อ้างอิงตามคำกล่าว วอร์เรน บัฟเฟตต์  

 

รัฐศรัณย์กล่าวว่า จาก 6 ปัจจัยดังกล่าวจะพบว่า ปัจจัยเรื่องสภาพคล่องหายไปจากระบบจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังมีสภาพคล่องจากมาตรการคลังสหรัฐฯ มากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่นโยบายการเงินจะกดดันตลาดหุ้นอยู่เป็นระยะ แล้วแต่ Verbal Intervention ของ Fed 

 

แนะลงทุนจีน เหตุ P/E ไม่ถึง 15 เท่า

และเมื่อประเมิน Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกแล้ว พบว่า ตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นมากสุดคือเวียดนาม (VN30 +40%) จีน, ฝรั่งเศส (CAC40 +17.2%) และสหรัฐอเมริกา (S&P 500 +11.6%) ขณะที่ฝั่ง Forward P/E พบว่า ตลาดหุ้นเวียดนาม จีน ฮ่องกง น่าสนใจ เพราะ P/E ยังไม่เกิน 15 เท่า

 

จึงแนะนำให้ลดพอร์ตหุ้นสหรัฐฯ หรือไม่ต้องเพิ่ม และเพิ่มพอร์ตลงทุนหุ้นจีนในกลุ่มเฮลท์แคร์ โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ (หุ้นเด่นคือบริษัท ZTO Express) และซัพพลายเชนของเทคโนโลยีและยานยนต์ (หุ้นเด่นคือบริษัท Sunny Optical

 

“สำหรับความกังวลเรื่องประเด็น Trade War มองว่า ไบเดนยังไม่มีนโยบายหลักหรือนโยบายเร่งด่วนในเรื่องกีดกันจีน หรือหากมี ท่าทีหรือการกระทำของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ก็ไม่รุนแรงเหมือนยุคของ โดนัลด์ ทรัมป์” 

 

ไทยพาณิชย์มองบวกหุ้นต่างประเทศ

ศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ CIO Office บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ตลาดหุ้นในครึ่งปีหลังจะมีปัจจัยมากดดันอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะเรื่องการดำเนินนโยบายของ Fed แต่ บล.ไทยพาณิชย์ มีมุมมองเป็นบวกต่อหุ้นต่างประเทศค่อนข้างมาก ​โดยเฉพาะหุ้นยุโรป 

 

โดยกลางปีถึงสิ้นปี 2564 เราจะได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง จากการที่หลายประเทศเริ่มกลับมาเปิดประเทศและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ทำให้กำลังซื้อที่ถูกอั้น (Pend Up Demand) ทะลักเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจริง ซึ่งปรากฏการณ์จะทำให้อัตราการเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม แต่ก็จะเป็นผลกระทบสั้นๆ เท่านั้น 

 

แนะลุยหุ้นยุโรป สหรัฐฯ จีน ไตรมาส 3

ทั้งนี้ เชื่อว่าแนวโน้มตลาดหุ้นทั่วโลกจะเคลื่อนไหวทิศทางบวกในไตรมาส 3 เนื่องจากปัจจัยกดดันเรื่องการปรับนโยบาย QE ของ Fed ตลาดได้รับรู้ไปหมดแล้ว ขณะเดียวกันจะมีปัจจัยบวกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ทั้งสหรัฐฯ ประเทศแถบยุโรป รวมถึงจีนด้วย 

 

“เราชื่นชอบตลาดหุ้นยุโรปที่สุด เนื่องจากหลายประเทศในกลุ่มนี้ทยอยเปิดประเทศและมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เด่นชัด อีกทั้งหุ้นในตลาดส่วนมากก็อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มการเงิน กลุ่มวัตถุดิบต่างๆ กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต นอกจากนี้ตลาดหุ้นจีนและสหรัฐฯ ก็น่าสนใจในไตรมาส 3 รับกับธีมเปิดประเทศและเศรษฐกิจฟื้นตัว”

 

ศรชัยกล่าวเพิ่มว่า ในไตรมาส 4 ของปี อาจจะมีแรงสะดุดเกิดขึ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการประชุมใหญ่ของ Fed ที่จะมีการอัปเดตนโยบายหลักๆ ซึ่งอาจจะมีการส่งสัญญาณเรื่องการทำ Tappering ที่ชัดเจน 

 

โนมูระคาด หุ้นไทยเดือนมิถุนายนแกว่งตัวกรอบแคบ 

ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า สำหรับเดือนมิถุนายนตัวแปรกำหนดทิศทางตลาดจะเกิดขึ้นจาก 3 ประเด็น คือ 

 

1. ความสามารถในการคุมโควิด-19 vs. การเร่งฉีดวัคซีน จะมีผลต่อกำไรตลาดปรับลงหรือไม่ 

2. การผ่าน พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท วันที่ 9-10 มิถุนายน สะท้อนเสถียรภาพของ รัฐบาล 

3. การส่งสัญญาณปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ Fed 

 

ดังนั้นจึงคงกลยุทธ์รอ ‘Buy on Dip’ เพื่อเพิ่มน้ำหนักจากพอร์ตหุ้น 50% ที่เพิ่มมาในเดือนก่อน โดยเชิงแท็กติกยังใช้ Barbel Portfolio ให้น้ำหนักหุ้น Value / Laggard มากกว่า Growth / Momentum 

 

ทั้งนี้ แนะนำหุ้นเด่น

 

1. The Reopening ของต่างประเทศ บวกต่อห้างที่มีสาขาต่างประเทศ และนโยบายยิ่งช้อปยิ่งได้ภายในหนุน (CRC) 

 

2. หุ้นที่มีโอกาสเข้า SET50 รอบเดือนกรกฎาคม 2021 (IRPC: Spread ปิโตรเคมียังสูง) 

 

3. หุ้นที่ผลประกอบการฟื้นตัว (Turnaround) เป็นจุดที่ Consensus เริ่มต้นปรับประมาณการทั้งกลุ่มสื่อทีวี เน้นผู้นำอุตสาหกรรม (BEC) 

 

4. Soft Commodity ที่ได้ประโยชน์เชิงบวกจากลานีญา ผสานความต้องการฟื้นหนุนกำไรครึ่งแรกปี 2563 และวงจรอาจยาวกว่าตลาดคาด (TVO) 

 

5. หุ้น Laggard กลุ่มเครื่องดื่มที่ได้ประโยช์จากช่วง High Season หนุนกำไร ไตรมาส 2/2563 เติบโต รวมทั้งพัฒนาการเชิงบวก กรณี อย. เตรียมออกใบอนุญาตสกัดให้กลุ่มกัญชง จะบวกเชิง Sentiment ต่อ (ICHI, SAPPE) 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X