วานนี้ (27 พฤษภาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน ว่าช่วงสมัยปิดประชุมที่ผ่านมา นับตั้งแต่มีการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม ตนได้ยินแต่เรื่องราวการต่อสู้อันน่าเศร้าของเจ้าของธุรกิจที่ต้อง ‘ทำบัญชีทั้งน้ำตา’ ยอมเฉือนเนื้อของตัวเองเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในบริษัท เรื่องราวของโรงแรมที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริการเพื่อพยุงธุรกิจตัวเองให้รอดในยามที่นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ หรือเรื่องราวของร้านอาหาร ร้านกินดื่มมากมายหลายแห่งต้องปิดตัวและล้มหายตายจากไปทีละร้านอย่างน่าหดหู่ใจ
“หัวใจสำคัญในการที่จะนำพา SMEs ไทยออกจากวิกฤตครั้งนี้ สามารถสรุปได้ในคำเดียว คำคำนั้นก็คือคำว่า ‘กระแสเงินสด’ หรือที่เรียกกันคุ้นปากในแวดวงเถ้าแก่ว่าสายป่าน ถ้าเป็นทุนใหญ่ที่มีสายป่านยาวคงไม่เดือดร้อนมาก และไม่ต้องง้อรัฐบาล แต่ถ้าเป็นทุนเล็กซึ่งก็เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่มีสายป่านสั้น ความช่วยเหลือจากรัฐบาลคือท่อช่วยหายใจสุดท้ายของพวกเขา ยิ่งไปกว่านั้นผมยังเข้าใจอีกว่า การที่รัฐบาลใดๆ ก็ตามจะออกนโยบายที่ตอบโจทย์ ตรงประเด็น และครอบคลุมได้ รัฐบาลต้องเข้าใจธรรมชาติของกระแสเงินสดในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ SMEs เพื่อทำให้ธุรกิจที่กระแสเงินสดที่เป็นลบ ณ ปัจจุบัน กลับมาเป็นบวกได้ในอนาคต” พิธากล่าว
ทั้งนี้ พิธาระบุว่า ในส่วนของ พ.ร.ก. ซอฟต์โลน เป็นการช่วยเหลือแบบกระแสเงินสดทางการเงิน โดยให้ธนาคารเอกชนปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อขยายสายป่านให้ SMEs ยังพอหายใจต่อไปได้ แต่ปัญหาที่เห็นหลักๆ คือ พ.ร.ก. ฉบับนี้ ต่อให้แก้ไขให้ตรงจุดแล้วก็ยังใช้เวลาเกือบหนึ่งปี ซึ่งอาจจะแค่พอช่วยต่อลมหายใจได้บ้างเพียงเล็กน้อย แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการจริงๆ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลละเลยมาโดยตลอดคือ การช่วยพยุงกระแสเงินสดการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลในต่างประเทศช่วย SMEs ของเขา ด้วยการชดเชยโดยตรงกับ SMEs เพราะการให้เงินกู้อย่างเดียวในสถานการณ์แบบนี้ไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่ SMEs ต้องการไม่ใช่การได้หนี้เพิ่ม แต่คือการชดเชยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการชดเชยรายได้ที่หายไปเพราะคำสั่งรัฐ หรือการอุดหนุนพยุงการจ้างงาน
พิธายกตัวอย่างด้วยว่า เช่น ญี่ปุ่น ถ้า SMEs รายได้หดหายไปมากกว่า 50% ของเดือนเดียวกันในปีก่อนโควิด-19 แม้แต่เดือนเดือนเดียว เขาสามารถไปขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้ที่หายไปได้จากรัฐบาล โดยมีวงเงินสูงสุดให้ 2 ล้านเยน หรือประมาณ 6 แสนบาท, นิวซีแลนด์ ในช่วงที่จะมีประกาศล็อกดาวน์ ถ้าคาดการณ์ไปข้างหน้าว่ารายได้จะหดหายมากกว่า 40% สามารถที่จะขอเงินเยียวยาจากรัฐไปพยุงการจ้างงาน เอาไปจ่ายเงินเดือนพนักงานต่อไปในช่วงล็อกดาวน์ แต่ถ้าหากผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้วรายได้ไม่ได้หายไปมากอย่างที่คาดไว้ ค่อยนำเงินอุดหนุนบางส่วนกลับมาคืนรัฐบาล เป็นลักษณะที่รัฐบาลช่วยหมุน Working Cap ให้ โดยไม่ต้องมานั่งพิสูจน์ความลำบากหรือรอให้ SMEs ตายไปแล้วค่อยกู้ชีพขึ้นมา, สหรัฐอเมริกา ถ้าธุรกิจร้านอาหาร หรือ ผับ บาร์ ร้านเหล้า มีรายได้ที่หายไปจากโควิด-19 ผู้ประกอบการก็สามารถไปขอเงินเยียวยาชดเชยรายได้จาก Restaurant Revitalization Fund หรือกองทุนช่วยเหลือร้านอาหาร โดยจะได้เงินเยียวยาจากการเปรียบเทียบรายได้ปี 2563 และ 2564 โดยวงเงินสูงสุดที่ร้านอาหารจะได้รับจากการเยียวยาคือ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 300 ล้านบาทต่อธุรกิจ
“ทั้งหมดคือตัวอย่างมาตรการจากรัฐบาลที่ใส่ใจให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชน เขาเข้าใจว่าถ้า SMEs ตายไปแล้วจะฟื้นกลับมาได้ยากมาก และจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนต่อเศรษฐกิจของเขา เขามีวิสัยทัศน์มากพอที่รีบตัดวงจรอันเลวร้ายนั้นก่อนที่เศรษฐกิจของเขาจะลงเหว นอกเหนือจากการเยียวยาโดยตรงแล้ว ยังมีมาตรการอีกมากมายที่รัฐบาลสามารถทำได้ เช่น ตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเพิ่มทุนให้ หรือแม้แต่การพักหนี้ระยะยาวให้กับธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากคงจะเป็นเวลาอีกหลายปีกว่าธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับคืนมา” พิธากล่าว
พิธากล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อย้อนมาดูประเทศไทยและค้นหาความใส่ใจของรัฐบาลที่ผ่านมากลับไม่เจออะไรเลย แล้วจะไม่ให้ประชาชน จะไม่ให้เจ้าของธุรกิจโอดครวญกันทั้งประเทศได้อย่างไร ถ้าจะอ้างว่าไม่มีงบประมาณ สภาพเศรษฐกิจของเราไม่เหมือนประเทศอื่นเขาฟังไม่ขึ้น เพราะรัฐบาลมีทั้งอำนาจ มีเงินจากงบประมาณปีที่แล้ว 3.3 ล้านล้านบาท เงินกู้อีก 1 ล้านล้านบาท และมีแผนว่าปีนี้จะออกงบประมาณอีก 3.1 ล้านล้านบาท รวมถึงการกู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท มีงบประมาณมากมายขนาดนี้ แต่ผู้ประกอบการยังอดอยากปากแห้ง ธุรกิจร่อแร่ การท่องเที่ยวยังคงไม่เห็นแสงสว่าง ร้านอาหารต้องลุ้นวันต่อวัน ว่าเปิดร้านแล้วมีลูกค้ามากินคุ้มทุนกับที่จะเปิดไหม เงินทุนสำรองก็เริ่มร่อยหรอ หรือมีตัวอย่างมาตรการช่วยเหลือต่างๆ จากรัฐบาลอื่นให้ศึกษาและหยิบมาใช้ก็ยังคงนิ่งเฉย ทำให้คิดเป็นอื่นใดไม่ได้ว่า เหตุผลเดียวที่การแก้ไขมาตรการเงินกู้ล่าช้าเกินการ เหมือนวัวหายล้อมคอก และมาตรการการคลังอุดหนุนเยียวยาโดยตรงที่ไม่ออกมาเสียทีก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลไม่แยแส ไม่เข้าใจ และไม่ให้ความสำคัญกับ SMEs ไทยเลย ทั้งที่ SMEs คือเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศ และความสำเร็จของ SMEs คือความสำเร็จของประเทศไทย
หลังการอภิปราย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ในฐานะประธานที่ประชุม พิจารณาพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก. ซอฟต์โลน) ได้ให้สมาชิกลงมติ พ.ร.ก. ดังกล่าว โดยสมาชิกมีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก. 331 เสียง ไม่เห็นชอบ 1 และงดออกเสียง 58 เสียง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์