ท่ามกลาง ‘ข่าวใหม่’ ว่าด้วยการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนทางเลือก ‘Sinopharm’ ซึ่งกำลังจะเปิดเผยผ่านงานแถลงข่าวของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันนี้ (28 พฤษภาคม) ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนตัวนี้เป็นที่สนใจขึ้นมาโดยใช้เวลาไม่นานนัก
แต่ทว่าในมุมของกระบวนการขออนุมัติเพื่อใช้งานในกรณีฉุกเฉินกับองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อตรวจสอบกับเอกสารของ WHO เมื่อ 18 พฤษภาคม ปรากฏรายชื่อของวัคซีน Sinopharm ขึ้นมาในบัญชีล่าสุด ‘2 ชื่อ’ โดยตัวหนึ่งได้รับอนุมัติให้ใช้งานในกรณีฉุกเฉินไปแล้วเรียบร้อย แต่อีกตัวหนึ่งมีเพียงข้อมูลวัคซีน แต่ยังไม่มีรายละเอียดใดๆ ระบุเกี่ยวกับขั้นตอนการพิจารณา
เราจะมารู้จักวัคซีนทั้งสองตัวนี้กัน
- ทั้งสองตัวล้วนเป็นวัคซีนที่อยู่ในร่มใหญ่ของบริษัท China National Pharmaceutical Group หรืออีกชื่อหนึ่งคือ Sinopharm
- แต่วัคซีนตัวที่ได้รับการอนุมัติจาก WHO เพื่อใช้เป็นการฉุกเฉินแล้วเป็นวัคซีนที่ผลิตโดยโรงงานในปักกิ่ง ภายใต้บริษัท Beijing Institute of Biological Products (BIBP) ส่วนวัคซีนอีกตัวที่อยู่ในรายชื่อ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก WHO เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยโรงงานในเมืองอู่ฮั่น ภายใต้บริษัท Wuhan Institute of Biological Products (WIBP)
- ความสัมพันธ์คือทั้ง BIBP และ WIBP ต่างก็เป็นบริษัทลูกของ China National Biotec Group (CNBG) และ CNBG ก็เป็นบริษัทลูกของ Sinopharm อีกทอดหนึ่ง ส่วน Sinopharm ก็เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน อยู่ใต้คณะกรรมการบริหารสินทรัพย์แห่งชาติจีน (State-owned Assets Supervision and Administration Commission: SASAC) โดยตรง
- WHO ประกาศอนุมัติใช้วัคซีนที่ผลิตโดย BIBP เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม และระบุผ่านเอกสารว่าได้พิจารณาให้วัคซีนที่ผลิตโดย BIBP และวัคซีนของ WIBP เป็น ‘คนละผลิตภัณฑ์กัน’ โดยแม้วัคซีนทั้งสองตัวจะเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย แต่ก็ผลิตจากเชื้อก่อโรคโควิด-19 ต่างสายพันธุ์กัน
- ส่วนในเอกสารอีกฉบับซึ่งลงวันที่ 18 พฤษภาคม ปรากฏวัคซีนที่ผลิตโดย WIBP ในรายชื่อ แต่ยังไม่มีการระบุรายละเอียดใดๆ ของขั้นตอนการพิจารณาเลย
- สำหรับข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมของวัคซีนที่ผลิตโดย BIBP คลิกอ่านได้ที่ https://thestandard.co/sinopharm/
- ในด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม มีเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของ อย. ที่ระบุความคืบหน้าการขออนุญาตวัคซีนโควิด-19 ในไทย มีเนื้อหาระบุว่าวัคซีนของ Sinopharm โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว อยู่ระหว่างประเมินคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีน และวัคซีนนี้มีชื่อทางการค้าว่า ‘COVILO’ ซึ่งบทความในวารสาร Signal Transduction and Targeted Therapy ให้ข้อมูลว่าเป็นวัคซีนที่ผลิตโดย WIBP ในอู่ฮั่น (ซึ่ง WHO ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนใช้ฉุกเฉิน) แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลจากเอกสารฉบับหนึ่งขององค์การอนามัยโลกกลับระบุว่าวัคซีน COVILO นี้เป็นวัคซีนที่ผลิตโดย BIBP ในปักกิ่ง
- แต่อีกด้านหนึ่ง หากถามว่าแนวทางการนำเข้าและจัดสรรวัคซีนทางเลือก Sinopharm ที่จะเปิดแถลงข่าวที่สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันนี้ (28 พฤษภาคม) จะเป็นการนำเข้าวัคซีน Sinopharm จากอู่ฮั่นหรือปักกิ่งนั้น คงต้องรอฟังคำตอบจากการแถลงในช่วงบ่าย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องอาจจะมีคำตอบที่ชัดเจน
ภาพ: Pavlo Gonchar / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.fda.moph.go.th/SitePages/News.aspx?IDitem=1278
- https://www.who.int/news/item/07-05-2021-who-lists-additional-covid-19-vaccine-for-emergency-use-and-issues-interim-policy-recommendations
- https://extranet.who.int/pqweb/vaccines/who-recommendation-covid-19-vaccine-bibp
- https://extranet.who.int/pqweb/sites/default/files/documents/Status_COVID_VAX_18May2021.pdf
- https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-sinopharm-covid-19-vaccine-what-you-need-to-know
- https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE-recommendation-COVID-19-vaccine-BIBP
- http://www.sinopharm.com/en/1398.html
- http://www.xinhuanet.com/english/2021-04/10/c_139871751.htm
- https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/341252/WHO-2019-nCoV-vaccines-SAGE-recommendation-BIBP-background-2021.1-eng.pdf?sequence=1
- https://www.nature.com/articles/s41392-021-00621-4.pdf?origin=ppub
- https://cdn.who.int/media/docs/default-source/immunization/sage/2021/april/1_sage29apr2021_sinopharm.pdf?sfvrsn=ddf0d841_5