×

‘ส่งออกไทย’ เดือนเมษายน หลังหักน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวถึง 25% อานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้น

25.05.2021
  • LOADING...
การส่งออก ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

การส่งออกไทยเดือนเมษายน 2564 ยังคงฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวถึง 13.09% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน หรือราวๆ 3 ปี และยังมีมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 

 

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาการส่งออกของไทยมีมูลค่ารวมที่ 21,429 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 13.09%YoY ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 36 เดือน และหากตัดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกของไทยในเดือนดังกล่าวขยายตัวได้ถึง 25.70% 

 

การขยายตัวของการส่งออกไทยเป็นไปตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการผลิตและการส่งออกโลก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี อยู่ที่ระดับ 55.8 เป็นผลจากการเร่งตัวขึ้นของดัชนีด้านคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกใหม่ (New Export Orders) มาอยู่ที่ระดับ 54.7 (จากระดับ 53.5 ในเดือนก่อน) สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคและความต้องการนำเข้าสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

 

นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน จากการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 อย่างทั่วถึงในหลายภูมิภาคของโลก 

 

สำหรับการส่งออกช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 4.78% เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 11.58% สะท้อนการเติบโตของภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) 

 

โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ 

 

1. สินค้าเกษตรและอาหาร เป็นสินค้าที่มีการขยายตัวดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 

 

2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและขยายตัวเกือบทุกรายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 

 

3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง ยังมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

 

4. กลุ่มสินค้าเกี่ยวเนื่องกับภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัว เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคการผลิตและการส่งออกของไทย 

 

5. สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูงเช่นกัน สะท้อนถึงการขยายตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี

 

ด้านตลาดส่งออกสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับตลาดเอเชียใต้ โดยเฉพาะอินเดียที่มีการขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ จึงทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจำนวนมาก 

 

ส่วนการส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ยังหดตัวต่อเนื่องตามการหดตัวของตลาดสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ขณะที่ตลาดอื่นๆ เช่น CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซีย และ CIS ต่างมีอัตราการขยายตัวในระดับสูงแทบทั้งสิ้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X