×

เสวนาบทบาทตุลาการ: การธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน

โดย THE STANDARD TEAM
20.05.2021
  • LOADING...
เสวนาบทบาทตุลาการ: การธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาสาธารณะ ‘บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน’ มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้ 

 

  • ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
  • ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ทั้งนี้งานเสวนามีปาฐกถานำในหัวข้อ ‘How to Save Thailand’s Constitutional Democracy’ โดย ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและกฎหมายรัฐธรรมนูญของเอเชีย และเป็นผู้เขียนหนังสือ ‘How to Save a Constitutional Democracy’

 

 

การดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั่วโลก

ศาสตราจารย์ทอม กินส์เบิร์ก กล่าวว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เป็นระบบการปกครองที่มีมาอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศทั่วโลก ปัจจุบันมี 43 ประเทศทั่วโลกปกครองด้วยระบอบนี้ และมี 8 ประเทศเท่านั้นที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญมีส่วนในการกำหนดบทบาทประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ เหล่านี้อย่างมาก ในอดีตของหลายประเทศ สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญ แต่มีการต่อรองทางอำนาจระหว่างตัวสถาบันและรัฐสภามาโดยตลอด บางกรณีมีบทบาทในการกำหนดนายกรัฐมนตรีหรือกระทั่งคนในรัฐบาลก็เป็นเชื้อพระวงศ์

 

จะพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป อำนาจในการควบคุมประชาชนก็น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวกับอำนาจทางการเงินของสถาบันกษัตริย์ ยิ่งเมื่อระบบเศรษฐกิจเริ่มซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 สถาบันกษัตริย์ต้องต่อรองกับประชาชนเพื่อนำเงินไปทำสงคราม หรือเพื่อให้มีส่วนในการบริหารรัฐบาล สถาบันกษัตริย์จึงต้องต่อรองกับรัฐบาลและชนชั้นนำ สิ่งนี้ทำให้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์อย่างเต็มตัวมาโดยตลอดเปลี่ยนเป็นปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

 

“หากมองไปยังยุโรป หลายราชวงศ์ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของสภา เพราะหากต่อต้านอาจเกิดความรุนแรงขึ้นได้ หลายประเทศในยุโรปที่ยังมีราชวงศ์อยู่จึงเกิดจากการที่ราชวงศ์ยอมรับเงื่อนไขของสภา เพราะหากไม่ยอมรับ ประเทศก็จะกลายเป็นปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐแทน” 

 

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากเมื่อประชาชนลุกฮือขึ้นต่อต้าน เนื่องจากสถาบันกษัตริย์ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้อง บางครั้งสถาบันกษัตริย์อาจจะร่วมมือกับกองทัพเพื่อปราบประชาชนแต่ก็เป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะหลายครั้งนำมาซึ่งการที่กองทัพเป็นผู้ล้มล้างสถาบัน เช่น ในกัมพูชาปี 1907 หรืออีกกรณีหนึ่งที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขต้องหายไป ก็คือการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในลาวปี 1975” ศาสตราจารย์ทอม กล่าว

 

ศาสตราจารย์ทอม กล่าวอีกว่า การที่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้นจะอยู่รอด ก็เมื่อสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และจะไม่อาจหวนกลับไปปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อีกเด็ดขาด มีหลายประเทศที่พยายามกลับไปเป็นเช่นนั้น เช่น ประเทศเนปาล มีช่วงสั้นๆ ที่ราชวงศ์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่เมื่อปี 1960 เกิดเหตุที่กษัตริย์ล้มล้างรัฐธรรมนูญและทวงคืนพระราชอำนาจกลับไป ซึ่งกินเวลาไปอีกสามทศวรรษ ก่อนจะถูกเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1990 จนกษัตริย์ต้องยอมจำนนกลับมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่รอดมาได้ อย่างไรก็ตาม ปี 2000 ที่สถาบันทำลายตัวเองลงด้วยการที่องค์รัชทายาทสังหารกันเอง เกิดการพยายามเปลี่ยนกลับไปปกครองประเทศด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งนำไปสู่โศกนาฏกรรมจนราชวงศ์และระบอบกษัตริย์เนปาลก็ถูกยกเลิกไปในท้ายที่สุด

 

“จะเห็นได้ว่าเมื่อพยายามเปลี่ยนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นจบไม่ดีนัก ดังนั้นทางรอดเดียวคือ สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีการรักษารัฐธรรมนูญด้านหนึ่ง รักษาสถาบันกษัตริย์อีกด้านหนึ่ง เมื่อไปด้วยกันได้จะไปได้ดีมากๆ แต่หากให้น้ำหนักสถาบันกษัตริย์มากกว่า แปลว่าคุณกำลังปฏิเสธประชาธิปไตย” ศาสตราจารย์ทอม กล่าว

 

สถาบันกษัตริย์มีบทบาทต่อประชาธิปไตยในโลกสมัยใหม่ในแง่ที่ว่า สถาบันนั้นช่วยปกป้องประชาชนจากการเมืองแบบประชานิยมบางประเภท เช่น เมื่อมีคนที่เสนอตัวว่าจะแก้ปัญหาให้ทุกอย่างในประเทศ ตนเป็นคนเดียวที่เป็นผู้แทนได้ ยกตัวอย่างคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีลักษณะไม่ไว้ใจสถาบันต่างๆ ของรัฐ และหลายกรณี นักประชานิยมเช่นนี้ได้ล้มล้างประชาธิปไตยลง เห็นได้จากในประเทศฮังการีที่นักประชานิยมฝ่ายขวาเข้าควบคุมระบบการเมืองทั้งหมด ดังนั้นสถาบันกษัตริย์จึงมีบทบาทในการป้องกันนักประชานิยมเหล่านี้ ด้วยการเป็นศูนย์รวมจิตใจจนไม่เหลือพื้นที่ให้นักประชานิยมได้มีบทบาทในการสื่อสารหรือเป็นศูนย์รวมของประชาชนโดยตรง 

 

นอกจากนี้กษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยนั้น เมื่อจำเป็นก็สามารถพูดบางอย่างทางการเมืองแล้วประชาชนจะเชื่อฟังหรือเพื่อระงับความรุนแรง ทั้งนี้สถาบันจะอยู่รอดได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่มีต่อประชาชนด้วย เพราะสถาบันกษัตริย์ที่ไม่เป็นที่รักของประชาชนนั้นอาจไปไม่รอดในท้ายที่สุด

 

ทุกสถาบันในสังคมต้องทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย อันเป็นหนทางเดียวในการจะแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ สิ่งสำคัญคือผู้พิพากษาจะต้องค้ำจุนสิทธิและเสรีภาพของรัฐธรรมนูญไว้ให้ได้ เราไม่อาจมีประชาธิปไตยโดยปราศจากนิติธรรม และไม่สามารถเลือกตั้งได้อย่างอิสระโดยปราศจากเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงสิทธิในการแสดงความเห็นและชุมนุมอย่างสงบ สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นของประชาธิปไตยที่ทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่รอดมาได้หลายร้อยปี ถือเป็นสูตรสำเร็จในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะคุณไม่อาจให้คนกลุ่มเล็กๆ เป็นผู้กุมคำตอบของทุกคำถามได้” ศาสตราจารย์ทอม ปิดท้าย

 

 

สถาบันพระมหากษัตริย์ คือผู้ได้รับผลกระทบจากสถาบันตุลาการโดยตรง

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ กล่าวว่า ในอดีตสังคมไทยมีขนาดเล็กมาก เราจึงเคยได้ยินเรื่องของการปกครองภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พ่อขุนรามคำแหงเป็นพระมหากษัตริย์ และว่าความให้ชาวบ้านที่มาร้องทุกข์ตีฆ้องได้ทุกคน แต่เมื่อสังคมขยายใหญ่ขึ้น จึงต้องมีคนช่วยทำหน้าที่นี้ โดยที่อำนาจที่แท้จริงยังอยู่ที่พระเจ้าแผ่นดิน เช่น ในรัชกาลที่ 4 สมัยที่ตำแหน่งราชครูว่างลง ก็เปิดโอกาสให้คนทั้งหลายสามารถเสนอชื่อคนที่เป็นมหาราชครูคนใหม่ได้ จึงนับว่าเป็นแนวโน้มการเข้ามามีส่วนร่วมของชาวบ้านที่น่าสนใจ แต่เวลานั้นอำนาจตุลาการยังไม่แยกมาจากอำนาจบริหารในกระทรวง ทบวง กรม จนเมื่อ 150 ปีที่แล้ว ซึ่งสยามกำลังพัฒนาและเป็นยุคปฏิรูป จึงเกิดการแยกอำนาจบริหารกับตุลาการออกจากกัน มีโรงเรียนกฎหมายใหม่ๆ เกิดขึ้น และเริ่มมีการก่อตัวขึ้นของระบบอำนาจตุลาการ แต่สงวนอำนาจไว้ให้พระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น จนกระทั่งปี 2475 ที่รูปแบบการปกครองเปลี่ยนไปจนถึงปัจจุบัน

 

ประเด็นที่ต้องสร้างความเข้าใจคือ ศาลทั้งหลายพิพากษาในอรรถคดีตามกฎหมายที่บัญญัติไว้แล้วในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ศาลมีหน้าที่พิพากษาไปตามสิ่งที่เห็นว่าเป็นความยุติธรรม ผู้พิพากษาต้องคิดว่าท่านทั้งหลายทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ทำงานในพระปรมาภิไธย สิ่งที่ท่านตัดสินจึงต้องมีเหตุผลและปราศจากอคติ หากไม่ได้ทำดังนั้นก็จะมีความเสียหายเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น ระบบความศรัทธาต่อความยุติธรรมในประเทศและยังความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย หากคนไม่เชื่อในสถาบันตุลาการก็ไม่เชื่อในสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันพระมหากษัตริย์จึงได้รับผลกระทบจากสถาบันตุลาการโดยตรง 

 

โดยเฉพาะคดีที่มีความขัดแย้งทางการเมือง หากศาลทำหน้าที่ตามกฎหมายด้วยความปราศจากอคติ สิ่งเหล่านั้นจะทำให้เกิดความยั่งยืนสถาพรต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากไม่เป็นดังนั้นก็จะยังผลตรงข้าม ทำให้บ้านเมืองไม่สงบเรียบร้อย เพราะประชาชนไม่อาจพึ่งศาลได้ 

 

ดังนั้นจึงต้องหาทางทำให้ศาลพิสูจน์ตนเองต่อสาธารณชนให้ได้ และหากเราให้ความเป็นธรรมต่อข้อเท็จจริง คงไม่ปฏิเสธว่าเวลานี้ศาลถูกตั้งข้อสงสัยและจับตาอย่างหนัก

 

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลนั้นต้องแสดงผลที่ชัดเจน เมื่อใดก็ตามที่คำพิพากษาคลุมเครือ ความระแวงสงสัยก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งที่ประชาคมกฎหมายสนใจคือเหตุผลที่ผู้พิพากษายกมาแสดงนั้นสามารถหักล้างได้ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งดีกว่าได้หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องแสดงเหตุผลให้ชัดแจ้ง

 

ด้านความโปร่งใสของระบบ ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง เสริมว่า ต้องมีระบบการทำงานที่โปร่งใสและอธิบายได้ อย่าโมโหเมื่อถูกตั้งคำถาม นอกจากนี้ขอฝากไว้ว่า มีแนวโน้มว่าฝ่ายบริหารอาจจะมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมได้ ศาลจึงควรทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสง่างาม หากประชาชนพึ่งศาลไม่ได้แล้วจะพึ่งใคร ระบบทั้งระบบจะเสียหายและเป็นอันตรายไปด้วย ขอให้ผู้พิพากษาตระหนักถึงหน้าที่และประคองตนโดยปราศจากคติ เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยั่งยืนต่อไปได้

 

 

หน้าที่ของผู้พิพากษาคือทำให้สังคมเชื่อว่าผู้พิพากษาบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ

อาจารย์สมลักษณ์ จัดกระบวนพล กล่าวว่า “ที่ผ่านมาศาลยุติธรรมเป็นที่เคารพศรัทธาของประชาชนโดยทั่วไป ต่อมาความเคารพก็ดูจะถอยลงตามความเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การจะเป็นผู้พิพากษานั้นต้องได้รับการอบรมจิตวิญญาณของการเป็นผู้พิพากษาให้เป็นที่เชื่อถือศรัทธาเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม หน้าที่ของผู้พิพากษาคือทำให้สังคมเชื่อว่าผู้พิพากษาบริสุทธิ์ยุติธรรมจริงๆ หากผู้พิพากษาเจอเพื่อนในศาลไม่ว่าจะเป็นใคร แม้แต่ทนายความก็ห้ามพูดคุยและทักทายแม้จะไม่มีเจตนาใดๆ ก็ตามที ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการระแวงจากอีกฝ่าย” อาจารย์สมลักษณ์ กล่าว

 

การพิพากษาต้องมีเหตุมีผลทุกครั้งว่าทำไมฝ่ายใดจึงเป็นฝ่ายถูกต้อง และอีกฝ่ายจะต้องเสียประโยชน์เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายบทไหนมากกว่าบทไหน การตีความกฎหมายจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งและจะเกิดขึ้นก็เมื่อมีความสงสัยในถ้อยคำของกฎหมาย จึงต้องตีความตามเจตนารมณ์ให้เป็นประโยชน์และถูกต้องแก่คนส่วนใหญ่ หากพิพากษาคดีใดไปแล้วสังคมไม่เห็นด้วยในเชิงวิชาการหรือเหตุผลอื่นๆ ก็ต้องกลับมาคิดว่าตีความเพี้ยนไปหรือเปล่า อย่าเพิ่งไปโกรธสังคมว่าสังคมนั้นเป็นอริของตน

 

“หรือการออกคำสั่งละเมิดอำนาจศาล ตามจริงคำสั่งนี้มีขึ้นเพื่อความเรียบร้อยของคนที่มาศาล ไม่เช่นนั้นก็อาจเกิดการทำร้ายร่างกายกันในศาลได้ การละเมิดอำนาจศาลจึงมีขึ้นเพื่อความเรียบร้อยและการรวบตึงในการพิจารณาคดี ผู้พิพากษาบ้าอำนาจหรือจิตไม่ปกติมักใช้คำสั่งนี้ร่ำไป ผู้พิพากษาไม่ควรเอาอำนาจในการกล่าวหาใครว่าละเมิดศาลมาใช้ ข้อสำคัญของผู้พิพากษาที่ต้องยืนยันก็คือ เรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรม” อาจารย์สมลักษณ์ กล่าว

 

ผู้พิพากษาที่จะสั่งและทำอะไรก็ต้องดูกฎหมายเสียก่อน อย่าสั่งตามจิต และต้องอธิบายตอบคำถามโดยอย่าโกรธใดๆ

 

อาจารย์สมลักษณ์กล่าวอีกว่า มาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และกล่าวหากันวุ่นวายเวลานี้ สมัยตนเป็นผู้พิพากษานั้นไม่ค่อยปรากฏการกล่าวหาด้วยมาตรานี้ โดยมีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้น ยืนยันว่าศาลต้องเปลี่ยนความคิดว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับมาตรา 112 นั้นต้องเอาให้หนัก เพราะอย่าลืมคดีอากง (อำพล ตั้งนพกุล) ที่ถูกฟ้องด้วยคดีมาตรา 112 จนถูกขังและล้มป่วยจนเสียชีวิตในเรือนจำ เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ฝังใจตนมาโดยตลอด 

 

“ดังนั้นมาตรา112 จึงเป็นมาตราถูกนำมาใช้กล่าวหากันจนเปรอะเปื้อนไปหมด ไม่ใช่เป็นการธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นการดึงสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวกับการเมือง อย่าทำเลย ท่านอย่าทำเลย บ้านเมืองเปลี่ยนแล้ว อย่าไปใช้ความคิดแบบเดิมว่าต้องลงโทษให้หนักเพราะสังคมจะยอมรับไม่ได้” อาจารย์สมลักษณ์ กล่าว และขยายความถึงมาตรา 113 ว่า 

 

เป็นมาตราที่ระบุไว้ดังนี้ว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ, ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต 

 

อยากถามว่าศาลจะทำหน้าที่ธำรงรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างไร หากบุคคลหรือคณะบุคคลที่ปฏิวัติสำเร็จแล้วออกกฎหมายหรือออกคำสั่ง โดยให้ถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้เลย เพราะตามกฎหมาย หากบุคคลหรือคณะบุคคลทำไม่สำเร็จจะถูกประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต เราจึงไม่อาจตอบคำถามนี้ได้เว้นแต่จะเขียนมาตราเพิ่มขึ้นมา เช่น มาตรา 113/1 ว่าหากทำสำเร็จ ว่าคำสั่งของผู้นั้นถือเป็นกฎหมายได้ ซึ่งข้อนี้ไม่มี ดังนั้นหากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการรัฐประหารให้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ เท่ากับว่าศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน และเพิกเฉยต่อการรักษาประชาธิปไตยทั้งยังส่งเสริมให้มีการรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์

 

 

หลักการ The King Can Do No Wrong กับศาล

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่า อยากให้สังเกตว่ามาตรา 2 ที่ระบุไว้ว่า ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 โดยก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการเขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ จะเห็นว่ามีการแยกออกเป็นสองส่วนคือ

 

ระบอบการปกครองกับประมุข ต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ก็นำประโยคทั้งสองมาต่อกันโดยไม่มีคำเชื่อม เอาเว้นวรรคออกเท่านั้น และต่อมาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ซึ่งร่างโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ เติมคำเชื่อมจนกลายเป็น ‘ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข’ ก่อนที่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 จะถูกปรับเปลี่ยนและแก้ไขอีกครั้งเป็น ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ โดยการเชื่อมประโยคเข้าด้วยกันนี้ทำให้เกิดปัญหาบางประการขึ้นมา เพราะเมื่อแยกสองประโยคคนยังเข้าใจว่าเป็นสองเรื่อง ว่าเป็นเรื่องระบอบการปกครองกับเรื่องของประมุข แต่เมื่อจับสองประโยคมาติดกันหลังการยึดอำนาจ ประโยคหลังก็ค่อยๆ มีสถานะขึ้นมาแซงประโยคแรกในที่สุด

 

“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ พระราชอำนาจของกษัตริย์ตามหลักการแล้วอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ อยากชวนตั้งข้อสังเกตว่า การปฏิวัติรัฐประหารไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่มีมาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่มาจากการปราบดาภิเษก การรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่มีมายาวนาน แต่ความแตกต่างคือเมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน แล้วพระมหากษัตริย์ขึ้นไปอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ การยึดอำนาจหลัง 2475 จึงเป็นการยึดอำนาจจากรัฐบาล ไม่ได้แตะต้องไปถึงสถาบันกษัตริย์อีกต่อไป จะขัดแย้งประการใดก็เป็นการยึดอำนาจนายกรัฐมนตรีและไม่สะเทือนถึงสถาบันกษัตริย์” ดร.ปริญญา กล่าว

 

สิ่งที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยต่างจากระบอบราชาธิปไตยก็คือ สภามาจากปวงชน เป็นผู้แทนปวงชน ร่างพระราชบัญญัติและร่างฉบับประกอบรัฐธรรมนูญจะตราเป็นกฎหมายต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากรัฐสภา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้จัดทำกฎหมาย แต่เป็นผู้โปรดเกล้าฯ เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีที่มาจากเสียงข้างมากที่สภาผู้แทนเลือก แล้วให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ส่วนศาลนั้นก็ทรงโปรดเกล้าฯ ตุลาการโดยไม่ได้เป็นผู้คัดเลือกเอง แต่ผ่านคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม มีกรรมการศาลเพื่อสรรหาแล้วทูลเกล้าฯ เรียกว่าเป็นหลักการ The King Can Do No Wrong มาตราสำคัญคือมาตรา 182 ว่าด้วยบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ ต้องมีรัฐมนตรีลงนาม พระมหากษัตริย์จึงใช้อำนาจได้ก็เมื่อมีผู้ทูลเกล้าฯ แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ได้ ทรงเป็นประมุขอยู่เหนือการเมืองขึ้นไป โดยมีผู้แทนจากปวงชนเป็นผู้ดำเนินการในแต่ละเรื่องแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ

 

“ประชาธิปไตยคือการปกครองตนเอง ทะเลาะกันให้จบแล้วขึ้นทูลเกล้าฯ ไม่ใช่นำความขัดแย้งไปให้พระองค์ทรงชี้ ซึ่งพระองค์ทำไม่ได้เพราะอยู่เหนือการเมือง” ดร.ปริญญา กล่าว

 

ในอำนาจทั้งสามที่แบ่งแยกกันตามหลักการปกครองของประชาธิปไตย มีเพียงอำนาจศาลเท่านั้นมีมีการระบุว่าดำเนินการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ การจะออกกฎหมายมาบังคับใช้ได้นั้นก็ต้องผ่านการลงพระปรมาภิไธยเสียก่อน 

 

แต่ผู้พิพากษาบางกลุ่มเชื่อว่าตนได้รับการปกป้องจากหลักการ The King Can Do No Wrong ซึ่งไม่ใช่เลย หากคำตัดสินของศาลทำให้ประชาชนสงสัยขึ้นมา ศาลต้องรับผิดชอบ เพราะจะกระทบไปถึงพระองค์ 

 

หลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือทั้งสามอำนาจต้องรับผิดชอบไม่ใช่ให้พระมหากษัตริย์รับผิดแทน ศาลต้องออกหน้าไม่ใช่หลบอยู่หลังสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสื่อมเสียกระทบไปถึงสถาบัน ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ จึงเกิดการร้องเรียนว่านายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ไม่ครบ ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเพราะการถวายสัตย์เป็นการกระทำทางการเมือง มีความสัมพันธ์เฉพาะกับทางสถาบัน ซึ่งตนเรียนว่าเหตุผลนี้ฟังไม่ได้และทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะทำให้คนเข้าใจไปกว่าการอ่านถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบนั้นเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับสถาบัน ทำให้ผู้คนเชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นคนของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยังอยู่ตรงนี้ได้ แทนที่การเมืองจะจบที่นายกรัฐมนตรี ก็กลายเป็นกระทบไปถึงสถาบัน

FYI
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X