วานนี้ (18 พฤษภาคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ปี 2564 ได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน และการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศจำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มีนาคม 2564
ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 99.7 รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ โดยประชาชนมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 81.2 พอใจปานกลาง ร้อยละ 15.9 พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด ร้อยละ 2.3 และไม่พึงพอใจ ร้อยละ 0.6
เมื่อแยกเป็นรายโครงการพบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจโครงการเราเที่ยวด้วยกันระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 59.9 พึงพอใจระดับมากถึงมากที่สุดโครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 82.7 โครงการเราชนะ ร้อยละ 86.7 และ ม.33 เรารักกัน ร้อยละ 67.8 และยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 อันดับแรก ดังนี้
- ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน
- ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ
- ควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ
ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ดังนี้
- ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา
- ควรเพิ่มวงเงิน
- ควรให้เป็นเงินสด
สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะ ร้อยละ 62.9 โครงการคนละครึ่ง ร้อยละ 26.3 โครงการ ม.33 เรารักกัน ร้อยละ 6.1 โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ร้อยละ 1.7 และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ร้อยละ 0.6
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐ พบว่า ประชาชนร้อยละ 60.7 มีความพร้อม ร้อยละ 39.3 ไม่พร้อม ให้เหตุผลว่าไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 66.3
ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
- ควรเพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เช่น ควรเพิ่มวงเงินมากกว่าประชาชนกลุ่มอื่น
- ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิในการเยียวยา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบกับประชาชนทุกคนและทุกระดับ ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือไม่ควรยุ่งยากและซับซ้อน เช่น การให้เป็นเงินสดโดยไม่ต้องลงทะเบียน
- ควรส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมทุกพื้นที่ในราคาย่อมเยา รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น ลดราคาสินค้าสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์