วันนี้ (18 พฤษภาคม) ผลการศึกษาร่วมโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) พบว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 745,000 รายในปี 2016 และกลายเป็นอันตรายจากการทำงานอันดับสาม เนื่องจากผู้ที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคหัวใจเพิ่มขึ้น
การศึกษาพบว่าปี 2016 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดจากการทำงานเป็นเวลานาน 39,800 ราย และโรคหลอดเลือดหัวใจที่เกิดจากสาเหตุเดียวกัน 347,000 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 นับตั้งแต่ปี 2000
ผู้ที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นร้อยละ 35 และมีความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับผู้ที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ผู้ชายจะได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเหล่านี้มากเป็นพิเศษ เนื่องจากร้อยละ 72 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย ขณะผู้อาศัยในภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนคนงานวัยกลางคนหรือสูงอายุต่างได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
ปัจจุบันที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ยังคงแพร่ระบาด ทำให้ผู้คนต้องทำงานเป็นเวลานานเพิ่มขึ้น โดยบริษัทและรัฐบาลกำหนดให้ลูกจ้างทำงานจากบ้าน ซึ่ง ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ชี้ว่า “การทำงานจากบ้านทำให้ขอบเขตระยะเวลาของการทำงานไม่ชัดเจน”
ปัจจุบันร้อยละ 9 ของประชากรทั้งหมดมีกะทำงานเป็นเวลานาน โดยการทำงานจากบ้านทำให้สถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้
“ไม่มีงานใดที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองหรือโรคหัวใจ” ทีโดรสกล่าว “รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง จำเป็นตกลงเรื่องขีดจำกัดเวลาทำงาน เพื่อปกป้องสุขภาพ”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว