ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (4 มกราคม – 17 พฤษภาคม 2564) จะเห็นว่านักลงทุนรายย่อยเป็นฝ่ายซื้อสุทธิ 1 แสนล้านบาทในตลาดหุ้นไทย สวนทางกับนักลงทุนอีก 3 กลุ่มที่เป็นฝ่ายขายสุทธิทั้งหมด โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบัน ซึ่งขายสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท และ 4.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า แรงขายของต่างชาติจะยังคงมีให้เห็นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของเดือนนี้ จากปัจจัยสำคัญคือ MSCI ปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยลงมา และจะมีผลในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจากสถิติในอดีตชี้ให้เห็นว่า หากเป็นช่วงที่หุ้นไทยถูกปรับลดน้ำหนัก ช่วง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะถูกวันที่มีผล มักจะมีแรงขายจากต่างชาติออกมา แต่หลังจากนั้นจึงจะเริ่มเห็นแรงซื้อกลับ
“สัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่ารายย่อยยังเป็นฝ่ายพยุงตลาด ในสภาวะที่โควิด-19 ยังลากยาว ทำให้เงินไม่ได้ลงสู่เศรษฐกิจจริง และไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น จนกว่าที่สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคกลับมา เงินจะเริ่มกระจายกลับไปสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้น”
ขณะที่การซื้อขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศต้องบอกว่าอิงกับสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก ที่ผ่านมาจะเห็นว่ากองทุนถือครองเงินสดในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ระยะสั้นที่ผ่านมากองทุนมีส่วนร่วมกับมูลค่าการซื้อขายแต่ละวันเพียง 5-7% สะท้อนให้เห็นว่ากองทุนกำลังอยู่ในโหมด Wait and See และหากสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มดีขึ้น ก็น่าจะเห็นการเข้าซื้อที่มากขึ้น และการซื้อขายของกองทุนที่ลดลงไป ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนทั่วไปยังชะลอการเข้าซื้อกองทุนในช่วงนี้
ทั้งนี้ การปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงของตลาดโดยภาพรวมลดลง ส่วนตัวมองว่าดัชนี SET ในระดับที่ต่ำกว่า 1,550 จุด เป็นจุดที่สามารถทยอยซื้อสะสมได้
สำหรับปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นปรับฐานลงมา แบ่งเป็น 3 ปัจจัยหลัก คือ
- ความกังวลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
- MSCI ปรับลดน้ำหนักหุ้นไทย
- ประเด็นข่าวลือในตลาด
“ประเด็นข่าวลือที่เกิดขึ้น และทำให้ตลาดเกิด Flash Crash คือการวูบลงแรงเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในส่วนนี้ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้นว่าหลังจากนี้ดัชนีหุ้นไทยน่าจะแกว่งตัวขึ้นได้ เพราะจากสถิติที่ผ่านมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ Flash Crash หลังจากนั้น 1 เดือน ดัชนี SET จะให้ผลตอบแทน 4-5%”
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่ข่าวลือยังไม่มีการเฉลยข้อเท็จจริงออกมา ทำให้ตลาดมีความเสี่ยงที่จะดิ่งลงแรงๆ ได้อีก ซึ่งภาวะที่ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏเช่นนี้เป็นสิ่งที่ตลาดไม่ชอบนัก ทำให้การฟื้นตัวของดัชนีในช่วงนี้ไม่น่าจะแข็งแกร่ง
“สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ การรอซื้อหนักๆ ในวันที่ตลาดลงแรงอีกครั้งจากข่าวลือถือเป็นกลยุทธ์ที่ดี แต่ในระหว่างทางก็ยังสามารถทยอยซื้อสะสมทีละน้อยในช่วงที่ดัชนียังต่ำกว่า 1,550 จุด”
นอกจากนี้อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ สถานะการถือครอง Single Stock Futures (SSF) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ลดลงไป 1.3 แสนสัญญา สะท้อนการลดความร้อนแรงของภาวะเก็งกำไรลงมา ซึ่งโดยปกติแล้วนักลงทุนรายย่อยเป็นกลุ่มหลักที่ลงทุนผ่าน SSF เมื่อสถานะถูกปิดลงไปมาก ทำให้ความเสี่ยงจากการที่จะมีสถานะบังคับขาย (Force Sell) ลดลงไป หากตลาดปรับลงแรง
ด้าน วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิจัย บล.บัวหลวง มองว่า นักลงทุนรายย่อยยังน่าจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิหุ้นไทยต่อเนื่องในระหว่างที่ดอกเบี้ยยังคงต่ำเช่นนี้ ทำให้ต้องหาแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ซึ่งตลาดหุ้นเป็นหนึ่งในนั้น และถึงแม้ว่าต่างชาติและกองทุนยังคงเป็นฝ่ายขายสุทธิ แต่ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยไม่น่าจะสูงมากนัก
หลังจากที่บริษัทจดทะเบียนรายงานกำไรไตรมาสแรกออกมาแล้วประมาณ 80% ทำให้กำไรต่อหุ้นปีนี้ยังถูกคาดการณ์ไว้ที่ 83 บาท เมื่อดูจากระดับดัชนี 1,500 จุด คิดเป็น P/E 15 เท่า ซึ่งเป็นระดับค่าเฉลี่ยแล้ว และการที่ดัชนีจะลดลงไปต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แนวโน้มเศรษฐกิจน่าจะต้องกลับไปแย่เหมือนปีก่อน
“หากดูจากตลาดหุ้นไต้หวันและเกาหลีใต้ ซึ่งมีโครงสร้างตลาดคล้ายกับไทยคือ มีสัดส่วนของนักลงทุนรายย่อยมาก จึงเป็นไปได้ที่ดัชนีตลาดจะปรับขึ้นไปได้เช่นกัน ซึ่งหุ้นไทยจะได้แรงหนุนจากธุรกิจ Old Economy ซึ่งได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับสูง”
ในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า เชื่อว่าหุ้นกลุ่มวัฏจักรที่แข็งแกร่งกว่าตลาดยังคงน่าสนใจ แต่เมื่อเข้าสู่เดือนมิถุนายน นักลงทุนควรหันกลับมามองหุ้นกลุ่มที่อิงกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ ส่วนเป้าหมายของดัชนีหุ้นไทยปีนี้ยังคงมองที่ระดับ 1,605 จุด ส่วนปีหน้ามีระดับเหมาะสมที่ 1,784 จุด
“ราคาหุ้นที่วิ่งขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี การถูกขายล็อกกำไรเป็นเรื่องเข้าใจได้ โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายน ซึ่งหุ้นต่างๆ ขึ้นเครื่องหมาย XD ในเชิงกลยุทธ์ การขายหุ้นในเดือนเมษายนและซื้อกลับช่วงเดือนพฤษภาคมมักจะให้ผลตอบแทนที่ดี”