หลังจากปล่อยให้คนทั้งโลกต้องรอคอยมาหลายปี พร้อมกับการฝ่ามรสุมคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘เมื่อไร Toyota จะมีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ออกมาจำหน่ายเสียที’ เนื่องจากแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นรายอื่นๆ ต่างประกาศทิศทางที่ชัดเจนและมีรถยนต์ไฟฟ้าทยอยออกสู่ตลาดเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Nissan, Mitsubishi และ Honda เป็นต้น
บัดนี้สิ้นสุดคำถามเป็นที่เรียบร้อย เมื่อ Toyota ประกาศเปิดตัวอย่างเป็นทางการ รถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบชื่อรุ่น bZ4X พร้อมประกาศว่า “นี่คือต้นแบบของ bZ Series ซึ่งจะใช้เรียกขานรถยนต์ไฟฟ้าที่จะทำตลาดทั้งหมดของ Toyota”
คำถามคือ แล้ว bZ Series นั้นมีความสำคัญอย่างไร? เหตุใดใครๆ ต่างก็ให้ความสนใจ เราจึงชวนไปหาคำตอบกัน
‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สนามรบใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดโลกต่างช่วงชิงยอดขายและมีความคาดหวังในการได้เป็นอันดับ 1 ของโลกในทุกปีและช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดชื่อของ Toyota นั้นคือแบรนด์ที่สามารถขึ้นครองอันดับหนึ่งได้อย่างสม่ำเสมอ โดยสลับกับคู่แข่งอย่าง Volkswagen Group และยังมีผู้ท้าชิงรายอื่นๆ พร้อมเสียบบัลลังก์หากมีใครเพลี่ยงพล้ำ
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ยอดขายรถยนต์ของโลกได้นั้นต้องมีผลิตภัณฑ์หรือรถยนต์ที่โดนใจและตอบโจทย์ความต้องการของคนหมู่มากได้เป็นอย่างดี ซึ่ง Toyota ปัจจุบันมีรุ่น Corolla เป็นหลักในการสร้างยอดขาย แข่งกับ Golf ของ Volkswagen นั่นเอง
ภาพ: Sergei Fadeichev / TASS via Getty Images
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากการใช้เครื่องยนต์ที่มีน้ำมันเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่การใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและพลังงานไฟฟ้าเข้ามาแทนที่ จากความสำเร็จของ Tesla ที่จุดประกายให้ผู้คนทั้งโลกได้ทราบว่า รถยนต์ไฟฟ้านั้นมีสมรรถนะที่ดี ก้าวล้ำนำหน้ารถใช้เครื่องยนต์ พร้อมกับแสดงให้เห็นถึงความต้องการซื้อของผู้บริโภคชนิดถล่มทลายทุบสถิติในการเปิดตัวขายรถยนต์บนโลกนี้
เหนือสิ่งอื่นใด ปัจจัยบังคับจากการออกกฎหมายที่เข้มงวดเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเทศยุโรปที่ห้ามจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปเพียงอย่างเดียว ทำให้ค่ายรถยนต์ต่างต้องเร่งการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าให้ออกมาทันก่อนกำหนดเส้นตายการห้ามขายที่เริ่มตั้งแต่ปี 2025-2030
โดย Volkswagen เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่นำร่องด้วยการประกาศยุติการพัฒนาเครื่องยนต์และหันมาทุ่มงบวิจัยให้กับรถยนต์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยผลผลิตเริ่มออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2019 ในรุ่น ID.3, e-Golf, e-up และ ID.4
ภาพ: Sean Gallup / Getty Images
ในปีที่ผ่านมาท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตัวเลขยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า จาก Volkswagen มีจำนวนกว่า 200,000 คัน หากเทียบกับยอดขายรวมทั้งแบรนด์คือ 9,300,000 คัน ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย
ขณะที่ Tesla รายงานว่ามียอดขายราว 500,000 คันในปี 2020 แต่สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงทิศทางและการเติบโตอย่างมีนัย ฉะนั้นแล้ว Toyota จึงรอช้ามิได้ หากยังอยากรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ bZ จึงต้องเปิดตัวอย่างเร็วที่สุด
มาพร้อมแบตเตอรี่ Solid State หรือไม่?
สำหรับการเปิดตัว bZ นั้น แม้จะเป็นเพียงการเปิดรถยนต์ไฟฟ้าเพียงรุ่นเดียว แต่เนื่องจากทีมผู้บริหารได้ประกาศว่า bZ จะเป็นพื้นฐานให้กับรถในตระกูลขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของ Toyota ทั้งหมด โดยจะมีการทำตลาดอย่างน้อย 7 รุ่น ภายใน 4 ปีข้างหน้านับจากนี้ จึงทำให้ความสำคัญของ bZ โดดเด่นขึ้นอย่างมาก
เหนือสิ่งอื่นใดคือ bZ จะมีการเปิดตัวพร้อมจำหน่ายในช่วงกลางปีหน้า แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ในเชิงวิศวกรรม และสิ่งที่ทุกคนอยากรู้มากที่สุดคือ ‘แบตเตอรี่’ จะเป็นแบบใด
ภาพ: Wu Kai / VCG via Getty Images
เนื่องจาก Toyota ได้เคยประกาศเอาไว้ว่าจะทำแบตเตอรี่ชนิด Solid State ให้สำเร็จภายในปี 2020 แต่ด้วยผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างต้องเลื่อนออกไป ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า bZ จะมากับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Solid State
ความพิเศษของแบตเตอรี่ Solid State อยู่ที่ขีดความสามารถในการชาร์จ โดยข้อมูลเบื้องต้นที่เปิดเผยและรับรู้กันในวงกว้างคือ ‘ใช้เวลาชาร์จเพียง 10 นาที วิ่งได้ระยะทาง 500 กิโลเมตร’ แก้ปัญหาในเรื่องระยะเวลาการรอชาร์จได้ในทันที
จุดนี้เองทำให้แบตเตอรี่ Solid State จะเป็น Game Changer หรือตัวแปรสำคัญที่พลิกให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากกว่ารถใช้เครื่องยนต์ได้ในทันที
หาก Toyota คิดค้นแบตเตอรี่ Solid State สำเร็จ และนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้จริงดังที่ประกาศไว้ นั่นหมายความว่าเราจะมีทางเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าจาก Toyota ที่สามารถตอบโจทย์ในแง่ของความสะดวกในการใช้งานในราคาที่จับต้องได้
ส่วนจะเป็นไปตามที่คาดไว้หรือไม่ กลางปีหน้า bZ คันแรกเผยโฉมจะได้ทราบกัน
ช้าไปหรือไม่?
ถึงจุดนี้บางคนอาจจะสงสัยว่า เหตุใด Toyota จึงขยับก้าวนี้ช้ากว่าใครเพื่อน เหตุผลเบื้องลึกเบื้องหลังที่แท้จริงไม่มีใครทราบ
แต่สิ่งที่อยากให้รู้เอาไว้อย่างหนึ่งคือ ทุกบริษัทของญี่ปุ่นจะมีเงาที่ยืนอยู่ทางด้านหลังคือ ‘รัฐบาลญี่ปุ่น’ เสมอ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกภาคส่วน
และ Toyota ไม่ต่างอะไรกับบริษัทอื่นๆ ทั่วไป หากภาครัฐขอความร่วมมือมา เป็นการยากที่จะตอบปฏิเสธ
โดยต้องไม่ลืมว่ายิ่งรถยนต์ไฟฟ้าเกิดเร็วขึ้นเท่าใด อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและพลังงานจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: