×

ตลท. แจงเบรก ‘เกณฑ์ Free Float’ เพราะแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ เตรียมคุมเข้มหุ้นวิ่งแรงแบบไร้เหตุผล พร้อมออกดัชนีใหม่ที่คำนวณจาก Free Float เพิ่มเติม

06.05.2021
  • LOADING...
ตลท. แจงเบรก ‘เกณฑ์ Free Float’ เพราะแก้ปัญหาแค่ปลายเหตุ เตรียมคุมเข้มหุ้นวิ่งแรงแบบไร้เหตุผล พร้อมออกดัชนีใหม่ที่คำนวณจาก Free Float เพิ่มเติม

จากกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแผนปรับปรุงเกณฑ์คำนวณดัชนีใหม่ โดยนำส่วนของอัตราส่วนหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Free Float เข้ามาร่วมคำนวณในดัชนีด้วย ซึ่งก่อนที่ตลาดหลักทรัพย์จะนำเกณฑ์ใหม่มาใช้ ได้สำรวจความเห็น (Public Hearing) จากผู้ร่วมตลาด แต่ปรากฏว่า ผู้ให้ความเห็นส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเกณฑ์ใหม่ที่ ตลท. เตรียมนำมาใช้ ทำให้ ตลท. ต้องเลื่อนการใช้เกณฑ์ Free Float ออกไปแบบไม่มีกำหนด

 

สำหรับความเห็นของผู้ร่วมตลาดที่ได้จากการทำ Public Hearing ส่วนใหญ่มองว่า เกณฑ์เดิมมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งการปรับเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์ใหม่จะกระทบต่อมูลค่าหุ้นและมีผลต่อผู้ลงทุน

 

นอกจากนี้ผู้ร่วมตลาดมีความเห็นว่า ตลาดหลักทรัพย์ควรใช้ Free Float เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกหรือเกณฑ์ดำรง แต่ไม่ควรนำมาถ่วงน้ำหนักในการคำนวณดัชนี ซึ่งปัญหาหนึ่งของข้อมูล Free Float คือไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ เช่น การถือหุ้นผ่านนอมินีต่างชาติ และการใช้ Free Float อาจไม่เหมาะกับหุ้นไทย เนื่องจากบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทยส่วนใหญ่ยังคงเป็นธุรกิจที่เป็น Family Owned 

 

ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า การแก้ปัญหาด้วยการปรับเกณฑ์ Free Float เป็นการแก้ปัญหาที่อาจจะเรียกว่าเป็นปลายเหตุ ทั้งนี้ ตลท. มองว่า ควรจะเป็นการเข้ามาให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนให้มากขึ้น รวมถึงการควบคุมดูแลอย่างรวดเร็ว ในส่วนของหุ้นที่ราคาปรับขึ้นร้อนแรงอย่างไม่มีเหตุผลรองรับ

 

นอกจากนี้ ตลท. ได้ศึกษาเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเป็นดัชนีใหม่ที่คำนวณแบบ Free Float Adjusted 

 

“ในอดีต เมื่อมีหุ้นบางตัวที่ปรับขึ้นแรงกว่าปกติ เราอาจจะมองว่ายังไม่ถึงจุด Tricker แต่ปัจจุบันจะมีการออกมาตรการกำกับดูแลต่างๆ เพื่อควบคุมให้เร็วยิ่งขึ้น สำหรับหุ้นที่ปรับตัวรุนแรงโดยไม่มีเหตุผลรองรับ” 

 

ด้าน ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ก่อนหน้าคาดการณ์ว่าเกณฑ์ Free Float จะถูกนำมาใช้ และหากมีการปรับเกณฑ์จริง หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มี Free Float สูง จะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุด 

 

แต่เมื่อมีความชัดเจนออกมาเช่นนี้ หุ้นกลุ่ม BANK จึงปรับตัวลดลงแรงกว่าตลาดตั้งแต่วันก่อนหน้า (5 พฤษภาคม) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงความผิดหวังระยะสั้น เมื่อทุกอย่างชัดเจนแล้วภาพจะกลับมาเป็นบวก และนักลงทุนสามารถวางกลยุทธ์ได้ชัดเจนตามไปด้วย 

 

เชื่อว่าตลาดในวันนี้จะเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ตามหากในอนาคตเกิดปัญหาที่หุ้นบางตัวมีอิทธิพลต่อตลาดมากเกินไปอีกครั้ง อาจจะเห็น ตลท. หยิบเกณฑ์ดังกล่าวกลับมาปรับปรุงอีกครั้ง 

 

สำหรับผลกระทบจากหุ้น DELTA ต่อตลาด อาจทำให้ตลาดผันผวนอีกสักระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่าผลกระทบจะน้อยลงจากที่ผ่านมา หลังจากที่นักลงทุนได้ปรับพอร์ตไปค่อนข้างมากแล้ว

 

“ส่วนตัวเชื่อว่าการปรับเกณฑ์ Free Float จะช่วยให้ดัชนีเป็นสากลมากขึ้น อย่างที่ดัชนี MSCI หรือ FTSE นำส่วนของ Free Float มาร่วมคำนวณด้วย ทำให้ตลาดมีเสถียรภาพมากกว่า และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล” 

 

ขณะที่ ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การที่มีผู้ให้ความเห็นส่วนมากไม่เห็นด้วยกับการปรับเกณฑ์ Free Float ทำให้ ตลท. พิจารณาชะลอการปรับการคํานวณดัชนีดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของผู้เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้ มองประเด็นดังกล่าวทําให้ความเสี่ยงที่เราเคยกังวลก่อนหน้านี้ว่าการปรับพอร์ตของนักลงทุนสถาบันในช่วงแรกอาจทําให้ดัชนีย่อตัวลงมาก่อนนั้นหมดลง และอาจทําให้หุ้นที่เคยเป็นที่กังวลว่าจะถูกลดน้ำหนักลงมีความผ่อนคลายขึ้นมาได้บ้าง เช่น AOT, DELTA, OR, GULF, ADVANC, PTTEP, GPSC, SCGP, AWC, BJC และ IVL 

 

โดยหุ้นในกลุ่มข้างต้นที่มีความน่าสนใจมากที่สุด ได้แก่ IVL เนื่องจากอยู่ในธีมการลงทุนประจำเดือนของเรา นอกจากนี้มองปัจจัยการชะลอการใช้เกณฑ์ Free Float ดังกล่าวจะเป็นผลดีต่อหุ้น STGT ด้วย เนื่องจากตอนแรกเราคํานวณว่าตัวหุ้นนี้จะถูกนําเข้าสู่ดัชนี SET50 และ SET100 ด้วยนํ้าหนักที่ไม่มากนัก จากการที่มีระดับ Free Float เพียงแค่ 38%

 

สามารถอ่านสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับเกณฑ์การคำนวณดัชนี เพิ่มเติมได้ที่ ส่วนที่ 1: บทนำ (set.or.th)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X