สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานผลการศึกษาแนวโน้มทิศทางตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ในปีนี้ซึ่งพบว่า ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ สามารถขยายตัวเติบโตได้ดี นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวม ETF มากขึ้น โดยเฉพาะกองทุน ETF ที่เกี่ยวข้องกับดัชนีชั้นนำในตลาด
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ บรรดานักลงทุนยังคงมีความสุขกับการลงทุนในตลาดบริษัทเทคโนโลยีระดับท็อบในดัชนี S&P 500 ควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้น Meme อย่าง GameStop (GME) และ AMC (AMC) รวมถึงบิตคอยน์และอีเทอเรียม สกุลเงินดิจิทัลชั้นนำ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากการวิเคราะห์ตลาดของบริษัท Finbold และศูนย์วิจัย ETF Database แสดงให้เห็นว่า ปริมาณสินทรัพย์ในกองทุน ETF ที่ใหญ่ที่สุด 10 กองทุนแรกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 47.6% จากประมาณ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่เกือบ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาตั้งแต่ที่ความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ฉุดตลาดแตะระดับต่ำสุดเมื่อกลางเดือนมีนาคมปี 2020 จนถึงสิ้นเดือนเมษายนปี 2021
ข้อมูลดังกล่าวสื่อความหมายได้ว่า นักลงทุนจำนวนมากต่างแห่เข้ามาซื้อขายใน FAANGs (ประกอบด้วย Facebook (FB), Apple (AAPL), Amazon (AMZN), Netflix (NFLX) และ Alphabet เจ้าของ Google (GOOGL)) รวมถึง Microsoft (MSFT) และเทสลา (TSLA) คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 25% ของมูลค่าของ S&P 500 ทั้งหมด
ขณะเดียวกัน นักลงทุนไม่เพียงซื้อ ETF ในตลาดกว้างเท่านั้น หลายคนกำลังระดมทุนจากตลาดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นในกลุ่มที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากทั่วโลกได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ 5 พฤษภาคม ปิดตลาดผสม โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ดัชนีแนสแด็กกลับขยับปรับลดลง
โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 97.31 จุด หรือ 0.29 % ปิดที่ 34,230.34 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.07% ปิดที่ 4,167.59 จุด และดัชนีแนสแด็ก ลดลง 0.37% ปิดที่ 13,582.43 จุด
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นในอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ขยับปรับขึ้นรับรายงานผลประกอบการของหลายบริษัทที่ขยับปรับขึ้น บวกกับข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง และตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมบริการ
รายงานจาก ADP และ Moody’s Analytics เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 742,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งแม้จะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 800,000 ตำแหน่ง แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ท่ามกลางการพื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ระบาด
ในส่วนของกิจกรรมภาคบริหาร สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีกิจกรรมภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวลงสู่ระดับ 62.7 ในเดือนเมษายน จากระดับ 63.7 ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยแม้ตัวเลขในเดือนเมษายนจะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่ก็ยังถือเป็นหลักฐานบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: