หลังจากที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ทั่วโลกฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในปีนี้ สะท้อนจากดัชนี MSCI ACWI ซึ่งปรับตัวขึ้นราว 8% นับจากต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยหนุนสำคัญอย่างหนึ่งคือสภาพคล่องในระบบที่ค่อนข้างสูงมาก จากการที่ธนาคารแต่ละประเทศอัดฉีดเงินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนและนักวิเคราะห์ในตลาดเริ่มมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับประเด็นที่ธนาคารแต่ละแห่งจะเริ่มลดวงเงินการอัดฉีดลง โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แม้ว่าจะยังไม่ได้มีสัญญาณของการลดวงเงินออกมาชัดเจน แต่ก็เริ่มมีสัญญาณออกมาจากแคนาดาเป็นประเทศแรก
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า นโยบายอัดฉีดเงิน (QE) คือสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม หากจะมีการลดวงเงินการอัดฉีดลง (QE Tapering) ก็ไม่น่าเป็นห่วงว่าจะกระทบต่อภาพรวมตลาดหุ้นเท่าใดนัก เพราะสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูงจะยังคงอยู่ต่อไป
“ส่วนตัวไม่ห่วงเรื่องของ QE Tapering เพราะเป็นเพียงการลดวงเงินอัดฉีดลง ขณะที่สภาพคล่องเดิมก็ยังอยู่ในระบบต่อไปในระดับสูง โดยอาจเห็นการตกใจบ้างในช่วงที่เริ่มส่งสัญญาณ แต่จะเป็นการกระทบชั่วคราวเท่านั้น”
ทั้งนี้จะเห็นว่าปริมาณเงิน M2 ในปัจจุบัน \เพิ่มขึ้นมาถึง 27-28% จากระดับค่าเฉลี่ย เป็นการขยายตัวในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และยังไม่มีการดูดซับเงินออกจากระบบเลย ส่วนทิศทางของเงินทุนที่ผ่านมา จะเห็นว่าไหลเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากที่สุด ขณะที่ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) มีเงินทุนไหลเข้าบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน้อย จึงมีโอกาสจะเห็นเงินทุนไหลเข้ามากขึ้นได้
“ตั้งแต่ต้นปี 2563 ในกลุ่มอาเซียนยังไม่มีประเทศไหนที่เงินทุนไหลกลับเข้าไปในระดับก่อนโควิด-19 แม้แต่เวียดนามที่ผลประกอบการเติบโตดีก็ยังเห็นเงินทุนไหลออก”
สำหรับตลาดหุ้นเอเชียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่เงินทุนยังไม่ไหลกลับเข้ามา โดยผลตอบแทนของ MSCI AC ASIA ปีนี้เพิ่มขึ้นเพียง 2.23% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เอเชียยังกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้น้อยสุดในโลก
จากการเก็บสถิติพบว่า การตอบสนองของตลาดหุ้นแต่ละประเทศมีความสัมพันธ์กับการกระจายวัคซีนประมาณ 70% ทั้งนี้วัคซีนจะเป็นจุดเปลี่ยนทั้งต่อการไหลเข้าของเงินลงทุน และผลประกอบการของตลาดหุ้นในระยะถัดไป
สำหรับตลาดหุ้นไทย (ดัชนี SET) ปัจจุบันเป็นตลาดที่มีค่า P/E ล่วงหน้า ค่อนข้างสูงเทียบกับตลาดหุ้นอื่นในเอเชียที่ระดับ 16.7 เท่า เป็นรองเพียงตลาดหุ้นอินเดียที่ 18.3 เท่า ขณะที่ P/BV อยู่ในระดับกลางที่ 1.7 เท่า ส่วนการเติบโตของกำไรในปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 17%
“ส่วนตัวมองว่าหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจ แม้ Valuation จะดูแพง แต่ไม่ได้แพงเกินไปในภาวะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้ และอนาคตหุ้นไทยยังมีเรื่องราวของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรือหากตลาดเกิดปรับฐานเชื่อว่าจะไม่ปรับลงรุนแรง เพราะการขายหุ้นออกในช่วงเวลานี้ก็ไม่รู้ว่าจะไปลงตรงไหน และน่าจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นต่ออีกครั้ง”
ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง หนุนจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า, การควบคุมโควิด-19 ได้ดียิ่งขึ้น และการกระจายวัคซีนได้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ประธานกรรมการ FETCO ได้เปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 124.37 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ เป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน แต่ก็เป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือนเช่นกัน
นักลงทุนส่วนใหญ่ยังมองตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นในช่วง 3 เดือนหน้า ยกเว้นเพียงสถาบันในประเทศที่มองเป็นแค่ทรงตัว โดยปัจจัยหนุนที่สำคัญคือการกระจายวัคซีนที่มากขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบคือการระบาดระลอกใหม่ โดยหุ้นกลุ่มปิโตรเคมีเป็นกลุ่มที่นักลงทุนมองบวกมากที่สุด
“เรื่องของการกระจายวัคซีนเป็นเหมือนดาบสองคม หากทำไม่ได้ตามแผนที่วางไว้จะกระทบต่อตลาดค่อนข้างมาก”
สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยช่วง 12 เดือนข้างหน้า เชื่อว่าจะยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น หนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 1.5-2.5% ขณะที่ปีถัดไปน่าจะเติบโตต่อเนื่อง 4% ขณะที่กำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 32% และ 17% ตามลำดับ
ขณะที่การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไม่ตอบรับในเชิงลบเท่าใดนัก เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามาตรการคุมเข้มจะสามารถควบคุมได้ ประกอบกับการตื่นตัวของประชาชนที่มากขึ้น ควบคู่ไปกับการกระจายวัคซีน ซึ่งจะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลกับประเด็นนี้มากนัก
“หากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันไม่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ เชื่อว่าการระบาดระลอกนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก ส่วนการจะเห็นเงินลงทุนไหลเข้าคงต้องรอให้มั่นใจมากขึ้นในเรื่องของวัคซีนและการควบคุมหลังจากนี้”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า