วานนี้ (1 พฤษภาคม) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงว่า ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการติดเชื้อของผู้เสียชีวิตถึงร้อยละ 76 มาจากการสัมผัสคนในครอบครัว เพื่อน เพื่อนร่วมงาน สัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และผู้ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ส่วนประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการรักษา คือจำนวนวันที่ทราบผลการติดเชื้อ หากทราบว่าติดเชื้อเร็ว นำเข้าสู่ระบบการรักษาเร็ว จะส่งผลให้อาการรุนแรงลดลง ลดการเสียชีวิต
ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน กทม. 4 สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า การกระจายตัวของผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ทุกเขต บางเขตพบสูง สำหรับต่างจังหวัดยังพบจังหวัดที่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนอีก 21 จังหวัด ต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง มีภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ภาคเหนือ 2 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด และภาคใต้ 6 จังหวัด
สาเหตุของการติดเชื้อในระบบ การรายงานประเภทผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อในระลอกเดือนเมษายน ในรายสัปดาห์ที่ 14-17 ปี 2564 ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม พบว่า ผู้ป่วยจากระบบบริการ/เฝ้าระวัง สะสม 31,850 ราย สำหรับรายงานการค้นหาเชิงรุกสะสม 6,133 ราย คิดเป็นร้อยละ 16.10 ซึ่งน้อยลง
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้มารับบริการในสถานพยาบาลพบการติดเชื้อที่มีปัจจัยเสี่ยง เป็นผู้ติดเชื้อมาจากสัมผัสในครอบครัวและเพื่อน หรือเพื่อนร่วมงานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่ทราบว่าเขาติดเชื้อถึงร้อยละ 54 ทำให้มีผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพิ่มจำนวนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวทางในปัจจุบันเมื่อเราเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต้องกักตัว 14 วัน ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ไม่เดินทางไปไหน กักตัวอยู่ที่บ้าน และสังเกตอาการตนเอง หากมีไข้ เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น ให้รีบประสานศูนย์แรกรับเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสนาม/Hospitel หรือโรงพยาบาล สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และต้องมีการป้องกันตัวเอง ดังนั้น การอยู่ใกล้ชิดกับคนในครอบครัว ต้องมีระยะห่างและป้องกันตัวเอง เพราะไม่ทราบว่ามีคนในครอบครัวติดเชื้อหรือไม่
สำหรับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ขณะนี้ฉีดสะสมแล้ว 1,477,078 โดส แบ่งเป็นรับวัคซีนเข็มแรก 1,095,230 ราย และครบ 2 เข็ม 381,848 ราย โดยในวันที่ 30 เมษายน 2564 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 65,464 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 19,474 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 45,990 ราย ซึ่งในขณะนี้เร่งฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้าที่มีการสัมผัสกับผู้ป่วยทุกสังกัด และสำหรับวัคซีนที่จะฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรคนั้น จะเริ่มฉีดให้เดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์