กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหารออกมาเดินขบวนตามเมืองต่างๆ ของเมียนมาในวันเสาร์ โดยมีรายงานเสียงระเบิดขนาดเล็กดังขึ้นหลายครั้ง แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ด้านทูต UN เตือนการบริหารงานของรัฐอาจหยุดชะงัก ขณะที่สถานการณ์การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมาย่างเข้าสู่เดือนที่ 4 นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นอกจากในย่างกุ้งแล้ว ชาวเมียนมาในเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง และเมืองทวายทางตอนใต้ ได้ออกมาชุมนุมประท้วงเช่นกัน
ขณะที่มีรายงานว่า เกิดเหตุระเบิดขนาดเล็กหลายครั้งตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงดึกของวันศุกร์และวันเสาร์ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจนถึงขณะนี้ และไม่มีการออกมาอ้างความรับผิดชอบจากฝ่ายใด
สื่อรายงานว่า กองทัพกล่าวหากลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยว่าเป็นผู้วางระเบิด อย่างไรก็ดี โฆษกของรัฐบาลทหารไม่รับสายเมื่อ Reuters โทรติดต่อไปเพื่อขอให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวดังกล่าว
ทั้งนี้ กองทัพพยายามยุติความเคลื่อนไหวของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการกลับคืนสู่อำนาจการปกครองของเหล่านายพล หลังจากการปฏิรูปประชาธิปไตยดำเนินมา 10 ปี ซึ่งรวมถึงการที่ประเทศมีรัฐบาลจากพลเรือนที่นำโดย ออง ซาน ซูจี
ซูจี วัย 75 ปี และสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) อีกหลายคนถูกควบคุมตัวตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร โดย AAPP ระบุว่ามีผู้ถูกควบคุมตัวมากกว่า 3,400 คน เนื่องจากต่อต้านกองทัพ
แม้กองทัพเดินหน้าปราบปรามอย่างไม่หยุดยั้งจนมีผู้ประท้วงอย่างน้อย 759 คนถูกสังหาร ตามข้อมูลจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) แต่ถึงกระนั้น กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยก็ยังคงออกมาชุมนุมตามท้องถนนทุกวันเพื่อแสดงการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร
คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ (UN) ในประเด็นเมียนมา กล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมส่วนตัวเมื่อวันศุกร์ว่า การที่ประชาคมโลกไม่ได้ร่วมกันตอบโต้เหตุการณ์รัฐประหาร ส่งผลให้ความรุนแรงในเมียนมากำลังเลวร้ายลง และมีความเสี่ยงที่การบริหารงานของรัฐอาจหยุดนิ่ง จากการเปิดเผยของนักการทูตที่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
ผู้แทนพิเศษ UN ด้านเมียนมาได้กล่าวบรรยายสรุปต่อคณะรัฐมนตรีความมั่นคง 15 ชาติจากประเทศไทย โดยเธอได้พบปะบรรดาผู้นำของภูมิภาค และหวังว่าจะได้เดินทางเยือนเมียนมา แต่ขณะนี้เธอยังไม่ได้รับอนุมัติจากกองทัพ
“การบริหารงานทั่วไปของรัฐอาจเสี่ยงที่จะหยุดนิ่ง ในขณะที่การเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจะมีการใช้กำลังอย่างรุนแรง การจับกุมโดยพลการ และการทรมาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามของกองทัพ” ทูต UN กล่าว
เธอกล่าวกับนักการทูตที่เข้าร่วมประชุมว่า การปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามในการยุติวิกฤตหลังจากการประชุมของ 10 ประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันที่ 25 เมษายน ซึ่งมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย
ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ แสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยอ้างถึงรายงานการโจมตีด้วยระเบิด และการที่พลเรือนซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากเขตเมืองได้รับการฝึกอาวุธจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เป็นชนกลุ่มน้อย
ด้าน ทอม แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมา กล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย ใช้การประชุมสุดยอดเป็น “อุบายโฆษณาชวนเชื่อ
“อันที่จริงเขาพยายามที่จะทำให้ดูเหมือนว่าเขาไม่ใช่ผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมาย” แอนดรูวส์กล่าวผ่านโพสต์บน Twitter “ข่าวดีคือ ผู้นำที่ถูกต้องตามกฎหมายพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government)”
ทั้งนี้ บรรดาสมาชิกรัฐสภาจากพรรคของซูจี นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของชนกลุ่มน้อย และนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลเอกภาพ แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ในเมียนมา รวมทั้งเน้นย้ำถึงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา โดยคณะมนตรีได้ออกแถลงการณ์หลายฉบับนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร แต่นักการทูตหลายคนเผยว่า ดูท่าว่ารัสเซียและจีนจะขัดขวางไม่ให้คณะมนตรีดำเนินการที่แข็งกร้าวต่อเมียนมามากกว่านี้
ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: