×

3 วิกฤตโควิด-19 ไทย เราพอช่วยอะไรได้บ้าง

30.04.2021
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • ตอนนี้สังคมไทยกำลังเผชิญอย่างน้อย 3 วิกฤตพร้อมๆ กัน (อีกครั้ง) คือ วิกฤตสาธารณสุข วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตความเครียด
  • ในวิกฤตโควิด-19 ที่กำลังถาโถมประเทศอยู่ อาจเป็นเวลาที่เราจะช่วยกันคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราแต่ละคนพอจะช่วยกันทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล แม้อาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของการตอบโจทย์ที่ใหญ่เหลือเกิน

ในช่วงที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสคุยกับทีมงานของ เทใจ – TaejaiDotcom แพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อสังคมแห่งแรกและใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เกี่ยวกับปัญหาโควิด-19 ที่กำลังถาโถมประเทศอยู่ และพยายามช่วยกันคิดว่ามีอะไรบ้างที่เราแต่ละคนพอจะช่วยกันทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาล แม้อาจเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของการตอบโจทย์ที่ใหญ่เหลือเกิน

 

เลยอยากแชร์แนวคิดและบางโครงการที่จะน่าจะมีประโยชน์ในบทความนี้ 

 

โดยสรุป ผมมองว่าตอนนี้สังคมไทยกำลังเผชิญอย่างน้อย 3 วิกฤตพร้อมๆ กัน (อีกครั้ง) คือ วิกฤตสาธารณสุข วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตความเครียด

 

1. วิกฤตสาธารณสุข

นอกจากโจทย์ใหญ่เรื่องการจัดหาและกระจายวัคซีนแล้ว วิกฤตสาธารณสุขในระยะสั้นที่สุดคงหนีไม่พ้นการที่คนป่วยกำลังจะล้นระบบสาธารณสุข ศักยภาพของภาคการแพทย์ที่ได้ขยายเพิ่ม (Surge Capacity) สำหรับเตรียมการรองรับทั้งในโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลสนาม อาจจะหมดลงในเวลาอันสั้น ในบางพื้นที่อาจเริ่มขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เครื่องช่วยหายใจ ยา และบุคลากรทางการแพทย์ต้องถูกโยกมาดูแลเรื่องโควิด-19 ทำให้ต้องลดกำลังการรักษาโรคอื่นๆ หรือแม้แต่การฉีดวัคซีนที่ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด 


โครงการที่น่าสนใจ:

 

1.1 หาอุปกรณ์การแพทย์ช่วยทีมคุณหมอ-พยาบาล

นอกจากพยายามดูแลตนเอง เว้นระยะห่าง (Social Distancing) อยู่บ้านหยุดเชื้อแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพอทำได้คือให้กำลังใจและส่งแรงช่วยให้กับ ‘ทัพหน้า’ ที่กำลังต่อสู้ ‘ข้าศึก’ ครั้งนี้ให้เราอย่างบุคลากรสาธารณสุข ทั้งคุณหมอ พยาบาล และอาสาสมัคร แม้อาจจะช่วยเพิ่มกำลังบุคลากรไม่ได้ แต่อย่างน้อยอาจช่วยเติมอุปกรณ์การแพทย์ที่บางแห่งอาจขาดแคลนในยามฉุกเฉิน เช่น ชุด PPE, หน้ากาก N95, ถุงมือยาง และแอลกอฮอล์

 

ยกตัวอย่าง ล่าสุดสำหรับการระบาดรอบ 3 เพิ่งมีโครงการ ‘DTX เพื่อหมอไทย ไฝว้โควิด’ เป็นโครงการ CSR พิเศษ จากหลักสูตร DTX (Digital Transformation Xponential) โดย RISE ร่วมกับนักเรียนรุ่นที่ 1 เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 ระบาด (https://taejai.com/th/d/dtx_covid19/

 

1.2 เพิ่มศักยภาพการตรวจโควิด-19 ด้วยนวัตกรรมของคนไทย

การช่วยเติมอุปกรณ์การแพทย์อาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น หากจะแก้ปัญหาให้ยั่งยืนต้องเริ่มทำตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ เช่น การเพิ่มความเข้มข้นในการทดสอบ (Test), การแกะรอย (Trace) และการแยกตัว (Isolate) โดยเฉพาะการตรวจโควิด-19 ให้รวดเร็วและแพร่หลายมากที่สุด เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรู้ตัวเร็วที่สุดเพื่อเข้ามารับการรักษา เพราะแม้แต่คนที่แข็งแรงอาการน้อยก็สามารถพลิกกลับมามีอาการที่แย่ลงได้อย่างรวดเร็ว การรับรู้เร็วยังทำให้ลดความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะอยู่ในชุมชนแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นอีกด้วย (โดยเฉพาะคนในบ้านที่ปัจจุบันมีการแพร่เชื้อกันมาก)

แต่ข้อจำกัดของการตรวจหาผู้ติดเชื้อในปัจจุบันคือยังทำได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการตรวจแต่ละตัวอย่างต้องใช้เวลานาน มีราคาแพง ในบางพื้นที่จำเป็นต้องส่งตัวอย่างของผู้ป่วยไปที่โรงพยาบาลใหญ่เพื่อทำการตรวจ กว่าจะรู้ผลต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-5 วัน

ในปีที่ผ่านมาทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากการสนับสนุนของผู้บริจาคผ่าน Carenation ซึ่งเป็นคณะแพทยศาสตร์จุฬาคิดค้นโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาคผ่านเทใจและ Carenation พัฒนาชุดตรวจ COVID-19 SCAN ขึ้น ซึ่งเป็นชุดตรวจสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีมาตรฐาน (Real-Time PCR) ซึ่งเป็นเทคนิคมาตรฐานที่ใช้ตรวจโควิด-19 อยู่ในปัจจุบัน จนในที่สุดชุดตรวจดังกล่าวได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

ข้อดีของชุดตรวจนี้คือมีราคาถูก อาศัยเครื่องมือที่ไม่ซับซ้อนและราคาไม่แพง และใช้ระยะเวลาในการตรวจน้อยกว่า 2 ชั่วโมง ขั้นต่อไปของโครงการนี้คือการใช้เทคโนโลยีที่ว่านี้ผลิตชุดตรวจ COVID-19 SCAN เพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ที่มีความต้องการนำไปใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงต่อไป เพื่อเพิ่มขีดจำกัดในการตรวจต่อวัน (อ่านเพิ่มเติม/ร่วมช่วยเหลือได้ที่ https://taejai.com/en/d/covid-19-scan/)

 

2. วิกฤตเศรษฐกิจ 

ไม่ว่าประเด็นสาธารณสุขจะหนักหน่วงแค่ไหนแต่ต้องไม่ลืมว่าปัญหาปากท้องก็กำลังเผชิญภาวะวิกฤตเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มคนเปราะบาง คนงานนอกระบบประกันสังคมที่ไม่มีตาข่ายทางสังคมรองรับ ครัวเรือนที่ต้องแบกรับภาระหนี้สูงอยู่แล้ว ธุรกิจเอสเอ็มอีที่สายป่านหมดจนอาจต้องปิดกิจการถาวร เด็กนักเรียนจำนวนมากที่ไม่อาจเรียนทางไกลได้หรือต้องออกจากระบบการศึกษา ฯลฯ 

 

การที่ประเทศไทยฉีดวัคซีนได้ค่อนข้างช้ากว่าที่คิด (<0.5%ของประชากรได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งเกือบต่ำที่สุดในอาเซียนและน้อยกว่าเพื่อนบ้าน เช่น ลาวและกัมพูชา) และยังไม่มีตัวเลือกทางวัคซีนทำให้โจทย์เศรษฐกิจปี 2021 ท้าทายขึ้นไปอีกเพราะนอกจากทำให้เสี่ยงต่อการระบาดและปิดเมืองบ่อยขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้แผนการเปิดประเทศฟื้นฟูการท่องเที่ยวต้องล่าช้าลง 

 

นี่ยังไม่นับเรื่องที่ไวรัสเริ่มมีการกลายพันธุ์ทำให้เชื้อแพร่ได้เร็วขึ้น มีความรุนแรงขึ้น และวัคซีนได้ผลน้อยลง

 

โครงการที่น่าสนใจ:

 

2.1 เยียวยาผู้เปราะบาง

 

แม้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เปราะบางควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีผู้ตกหล่นอยู่ไม่น้อย และบางครั้งการช่วยเหลือให้ได้ผลจริงต้องอยู่บนฐานของข้อมูลและความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) ผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งภาคประชาสังคมอาจมีองค์ความรู้ที่ดีกว่า

ยกตัวอย่าง สถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนในชุมชนคลองเตยตกงานหรือมีรายได้ลดลง ทั้งการที่โรงเรียนถูกปิดทำให้เด็กหลายคนที่ฝากท้องไว้กับอาหารกลางวันที่โรงเรียนต้องอดข้าว แต่ในอดีตพบว่าการให้ถุงยังชีพอาจไม่ตอบโจทย์เสมอไป เพราะหลายครัวเรือนอาจขาดเครื่องมือและสาธารณูประโภคเพื่อทำกับข้าว โครงการหนึ่งที่น่าสนใจของกลุ่มคลองเตยดีจังจึงได้เปลี่ยนแนวทางการให้เป็นคูปอง สามารถซื้ออาหารได้ตามร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ โดยร้านค้าจะอยู่บริเวณรอบๆ ชุมชน นอกจากจะลดรายจ่ายของครอบครัว เด็กได้กินอิ่มแล้ว ยังทำให้ร้านค้ามีรายได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดีในรอบที่แล้ว และเพิ่งเริ่มเฟสใหม่ (อ่านเพิ่มเติม/ร่วมช่วยเหลือได้ที่ https://taejai.com/en/d/klongtoeideejung_foodcoupon/)

 

2.2 เสริมทักษะ สร้างอาชีพ

 

นอกจากการเยียวยาแล้วอีกโจทย์ใหญ่คือการสร้างงานให้กับคนที่ตกงานช่วงโควิด-19 โดยบางกลุ่มอาจมีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อให้ประกอบอาชีพที่มีความต้องการได้ ตัวอย่างหนึ่งของโครงการประเภทนี้คือ โครงการฝึกฝนส่งเสริมอาชีพผู้ช่วยแพทย์แผนไทย เน้นการนวดไทย พร้อมการใช้ยาสมุนไพรให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยเศรษฐกิจในจังหวัดสงขลา โดยมูลนิธิสถาบันการแพทย์แผนไทย นอกจากจะเป็นการเสริมทักษะสร้างงานให้คนในยุคหลังโควิด-19 แล้วยังตอบโจทย์ด้านแรงงานเนื่องจากในพื้นที่จังหวัดสงขลามีความขาดแคลนผู้ช่วยแพทย์แผนไทยอย่างมากในขณะที่สังคมกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ (อ่านเพิ่มเติม/ร่วมช่วยเหลือได้ที่ https://taejai.com/th/d/songkla_thaihealthcare/)

 

3.วิกฤตความเครียด

สุดท้ายในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาสิ่งที่สัมผัสได้ชัดเจนที่สุดไม่ว่าจากการคุยกับคนหลากกลุ่ม อ่านข่าว หรือโซเชียลมีเดีย คือความเครียด ตื่นตระหนก และรู้สึกว่าอนาคตมืดมน เท่าที่อ่านและฟังส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบาดครั้งนี้ ‘ใกล้ตัว’ มาก หากไม่ป่วยเองก็มีคนใกล้ตัวติดเชื้อและต้องกักตัว 

 

ส่วนหนึ่งมาจากการไม่เห็นทางออกเรื่องวัคซีน และสับสนว่าเรามาถึงตรงนี้ได้อย่างไร จากที่เคยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อระดับโลกว่าคุมโควิด-19 ได้ดีมาก 

 

บางส่วนมาจากภาวะการเงิน-หนี้สินที่เลยขั้นวิกฤตในรอบนี้ และสำหรับบางกลุ่มมาจากสภาพความเป็นอยู่ในช่วงอยู่บ้านหยุดเชื้อ 

 

โครงการที่น่าสนใจ:

 

3.1 หนึ่งในโครงการที่โฟกัสการแก้ปัญหาด้านปัญหาสุขภาพจิตคือ Wall of Sharing ของอูก้า (Ooca) ที่เปิดให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการสามารถปรึกษาปัญหาทางจิตใจกับนักจิตวิทยา ผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ ได้สะดวกผ่านช่วงทางแอปพลิเคชัน Ooca ได้ฟรี (อ่านเพิ่มเติม/ร่วมช่วยเหลือได้ที่ https://taejai.com/th/d/wallofsharing/)

 

สุดท้ายขอย้ำว่าโครงการเหล่านี้เป็นเพียงแค่บางตัวอย่างที่ผมตั้งใจหยิบขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าทุกคนมี ‘พลัง’ ที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ในยามที่ประเทศกำลังโดน ‘พายุ’ ถาโถมหนัก และทุกคนกำลังต้องการกำลังใจและพลังบวก แม้โครงการเหล่านี้อาจดู ‘เล็ก’ ในสเกลระดับประเทศ แต่มันไม่ได้เล็กสำหรับคนที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ 

 

และบางครั้งนวัตกรรมทางสังคมที่ดูเหมือนเล็กๆ แต่อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจปัญหานี่แหละที่อาจสามารถเป็นฐานต่อยอดให้กลายเป็นนโยบายดีๆ ต่อไปได้ 

 

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนต่อสู้ให้พ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน


พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X