×

สภาดิจิทัลฯ ผนึก 36 องค์กรพันธมิตร ร่วมมือแพทย์สภาปั้น ‘รพ.สนามต้นแบบ’ นำร่อง 3 แห่ง หวังบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ให้กับบุคลากรการแพทย์และผู้ป่วย

30.04.2021
  • LOADING...
สภาดิจิทัลฯ-ผนึก-36-องค์กรพันธมิตร

สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยประกาศความร่วมมือกับพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล และแพทยสภา ผนึกกำลังเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล สนับสนุนทีมแพทย์โรงพยาบาลสนามฝ่าวิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ นำร่อง 3 โรงพยาบาลต้นแบบ จุฬาฯ-กรมแพทย์ทหารอากาศ-ธรรมศาสตร์ สู่การเป็น ‘Smart Field Hospitals’ และมั่นใจรัฐ-เอกชน-ประชาชน ร่วมมือกันช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ประกาศความร่วมมือกับสมาคมและพันธมิตร 36 องค์กรดิจิทัล รวมถึงแพทยสภา ระดมพลังจากทุกภาคส่วนทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล มาช่วยลดผลกระทบจากการเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 โดยเน้นย้ำ 3 วัตถุประสงค์สำคัญ ได้แก่

 

1. การเพิ่มความปลอดภัย และลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนาม 

2. การเชื่อมโยงเทคโนโลยีระหว่างโรงพยาบาลสนาม รวมถึงการดูแลตัวเองต่อที่บ้าน 

3. การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของพันธมิตรในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อบรรเทาผลกระทบในสถานการณ์วิกฤต 

 

โดยเริ่มต้นกับ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โดยการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในครั้งนี้จะสนับสนุนภาครัฐในการเป็นส่วนเสริมภารกิจในการฉีดวัคซีนในลำดับต่อไปร่วมกับแพทยสภาอีกด้วย 

 

ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ จะประสานและให้การสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดการเข้าถึงและตอบสนองความต้องการเพิ่มเติมของโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับแพทยสภาอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง และสภาดิจิทัลฯ จะรายงานความคืบหน้าเป็นระยะต่อไป 

 

ขณะเดียวกัน ภาคีเครือข่ายประกาศความร่วมมือเพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วยแพทยสภา และ 3 โรงพยาบาลสนาม ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ ดอนเมือง และ 3. โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ 

 

ในส่วนของพันธมิตรที่ร่วมขับเคลื่อนความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วยสมาคมต่างๆ 19 แห่ง องค์กรขนาดใหญ่ 12 แห่ง และบริษัทสตาร์ทอัพ 5 แห่ง ได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในวาระเร่งด่วน เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือและให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลสนามในสถานที่ต่างๆ ที่กำลังรับมือการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ในระลอกที่ 3 อยู่ในขณะนี้  

 

ทั้งนี้ ประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้ ที่ประชุมได้ทราบถึงความต้องการเร่งด่วนของทางโรงพยาบาลสนาม ที่ต้องการให้สนับสนุนในเรื่องของความไม่คล่องตัวในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างทีมแพทย์ คนไข้ และโรงพยาบาล รวมทั้งความสามารถในการประสานงานและการจัดเตรียมเครื่องมือ ยารักษาโรค และอุปกรณ์การแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพและได้รับทันท่วงทีในสถานการณ์ที่ต้องการอย่างเร่งด่วน

 

ศุภชัยกล่าวว่า สถานการณ์ครั้งนี้เป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน ผมและสมาชิกสภาดิจิทัลฯ เชื่อว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่จะเป็นโซลูชันสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการรับมือภาวะวิกฤตขณะนี้ ซึ่งประเทศไทยมีหลายองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี และมีความสามารถในการพัฒนาโซลูชันที่ล้ำสมัย ดังนั้น สภาดิจิทัลฯ ในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีสรรพกำลังและองค์ความรู้ในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล จึงพร้อมเชื่อมโยงพันธมิตรที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ มารวมพลังเพื่อนำดิจิทัลเทคโนโลยีที่ทุกองค์กรมีอยู่มาร่วมสร้างประโยชน์สูงสุด ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยฝ่าวิกฤตในช่วงนี้ไปให้ได้

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า การสนับสนุนในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย รวมถึงเสริมการบริหารจัดการดูแลรักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลสนาม อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ก็จะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญมีโอกาสช่วยเหลือประชาชนได้มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ข้อสรุปความช่วยเหลือของสภาดิจิทัลฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลสนามในขณะนี้คือ การพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน ‘Smart Field Hospitals’ ซึ่งจะเน้นการออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแพทย์กับคนไข้ รวมถึงโรงพยาบาลหลักกับโรงพยาบาลสนาม ให้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันด้วยความมั่นใจ ปลอดภัย ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดโรค และสามารถขยายการให้บริการหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งประกอบด้วย

 

1. อุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย เหมาะสมกับประชาชนทั่วไป สำหรับผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใช้    

2. ระบบเฝ้าติดตามอาการและการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัย (Secure Patient Monitoring & Records) ระบบเฝ้าติดตามอาการผู้ป่วยแต่ละรายโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต้องสัมผัสใกล้ชิด และระบบบันทึกข้อมูลของผู้ป่วย (ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสัญญาณชีพ อุณหภูมิร่างกาย ระดับออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ และข้อมูลการรักษา) ที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน   

3. ระบบนัดหมายและสื่อสาร (Scheduling & Communication) ระบบรองรับการนัดหมายและการจัดคิวในการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยในหลายรูปแบบ ได้แก่ การประชุมด้วยวิดีทัศน์ (Video Conferencing) การประชุมด้วยเสียง (Voice Call) การแชต (Chat) และการขอความช่วยเหลือฉุกเฉินโดยผู้ป่วย  

4. การลดความเครียดและให้ความรู้ (Stress Relief & Education) ข้อมูล ข่าวสาร และความบันเทิง เพื่อลดความเครียด และให้ความรู้ผู้ป่วยระหว่างอยู่ในโรงพยาบาลสนาม

5. ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อมและโรงพยาบาลสนาม (Environment & Facility Monitoring) ระบบเฝ้าติดตามสภาพแวดล้อม เช่น ระดับแสง อุณหภูมิ ระดับความชื้นของพื้นที่ และโรงพยาบาลสนาม เพื่อรายงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อประเมินสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

6. โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure: Network and Data Centers) โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการประมวลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ การสื่อสารที่รวดเร็วและปลอดภัย

 

การพัฒนาดิจิทัลโซลูชัน ‘Smart Field Hospitals’ มีแผนดำเนินการพัฒนาด้านการใช้งานแอปพลิเคชัน รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานให้เสร็จสมบูรณ์ภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ด้วยความร่วมมือของ 3 โรงพยาบาลสนาม ทั้งจุฬาฯ, กองทัพอากาศ ดอนเมือง และธรรมศาสตร์ ที่เป็นต้นแบบโรงพยาบาลสนาม หากประสบผลสำเร็จจะดำเนินการขยายผลให้ครอบคลุมโรงพยาบาลสนามอื่นต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X