สหภาพยุโรป (EU) เตรียมลงนามสัญญาสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 1.8 พันล้านโดส จาก Pfizer/BioNTech ภายในอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังประสบความสำเร็จในการเจรจา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งใหญ่ที่สุดของโลก นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดกว่า 1 ปี
ที่มาที่ไปของข้อตกลงฉบับนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรและใช้เวลานานแค่ไหน ไปย้อนดูกัน
การบรรลุข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer/BioNTech เกิดขึ้นภายหลัง EU ยื่นฟ้องบริษัท AstraZeneca เมื่อวันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามสัญญาและจัดส่งวัคซีนล่าช้ากว่ากำหนด
แต่ที่มาก่อนบรรลุข้อตกลงฉบับนี้ อูร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ต้องใช้เวลานานกว่า 1 เดือนในการเจรจา ทั้งโทรศัพท์และส่งข้อความคุยกับ อัลเบิร์ต เบอร์ลา ซีอีโอของ Pfizer จนได้ความชัดเจนว่า Pfizer สามารถจัดหาวัคซีนให้กับ EU ได้ถึง 1.8 พันล้านโดส ซึ่งมากกว่าที่คิด โดยแบ่งเป็นคำสั่งซื้อ 900 ล้านโดส จนถึงปี 2023 และทางเลือกในการสั่งซื้อเพิ่มอีก 900 ล้านโดส
ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ หลายประเทศในกลุ่ม EU ต่างเผชิญกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ที่มีความรุนแรงจนทำให้ต้องกลับไปล็อกดาวน์อีกครั้ง
ขณะที่แผนฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ EU กำลังประสบปัญหาหนัก จากการที่ AstraZeneca ผู้ผลิตและจัดหาวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของกลุ่ม เกิดปัญหาในการผลิต ซึ่งผลจากความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนให้ชาติสมาชิกทำให้ฟอน แดร์ เลเยน ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามถึงภาวะผู้นำ ตลอดจนถูกกล่าวหาว่าผิดพลาดในการรับมือกับวิกฤตแพร่ระบาดรอบนี้
นอกเหนือจาก AstraZeneca ในปี 2020 ที่ผ่านมา EU ยังพยายามจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่น รวมถึง Pfizer/BioNTech ที่มีการทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนครั้งแรกกับ EU ด้วยจำนวน 200 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน โดยมีตัวเลือกให้เพิ่มการสั่งซื้อได้อีก 100 ล้านโดส
ในเดือนธันวาคม คณะกรรมาธิการยุโรปตัดสินใจอนุมัติใช้งานวัคซีนจาก Pfizer/BioNTech เป็นรายแรก กระทั่งเดือนมกราคม ฟอน แดร์ เลเยน ได้พูดคุยกับซีอีโอของ Pfizer ซึ่งเขาชี้แจงถึงสาเหตุที่บริษัทตัดสินใจระงับการจัดส่งวัคซีนให้ EU เป็นการชั่วคราว เนื่องจากจำเป็นต้องปรับปรุงโรงงานผลิตวัคซีนในเบลเยียม
ซึ่งในระหว่างการปรับปรุงโรงงานของ Pfizer ทั้งฟอน แดร์ เลเยน และเบอร์ลา ยังมีการพูดคุยกันต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดระลอก 3 ที่เริ่มรุนแรงขึ้น ขณะที่ Pfizer และ BioNTech หุ้นส่วนบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพจากเยอรมนี ต่างพยายามอย่างหนักเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และมีการขอใบอนุญาตให้โรงงานผลิตวัคซีนแห่งใหม่ในเยอรมนี
การต่อสายตรงพูดคุยกันระหว่างผู้นำ EU กับ Pfizer นำมาซึ่งข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนอีกหลายฉบับ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ EU ประกาศคำสั่งซื้อวัคซีน Pfizer เพิ่มอีก 200 ล้านโดส ตามด้วยวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีการใช้ตัวเลือกเพิ่มการสั่งซื้ออีก 100 ล้านโดส ก่อนจะมาถึงการพูดคุยสัญญาสั่งซื้อครั้งใหญ่ 1.8 พันล้านโดส ซึ่งนอกจากฟอน แดร์ เลเยน และเบอร์ลา ยังมี ฌอน มาร์เรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่การพาณิชย์ของ BioNTech และเจ้าหน้าที่อีก 9 คนที่มีบทบาทในการผลักดันข้อตกลงดังกล่าวท่ามกลางแรงกดดันทางการเมือง
ในการให้สัมภาษณ์ต่อ The New York Times ฟอน แดร์ เลเยน แสดงให้เห็นว่า เธอไม่ได้ให้ความสำคัญนักต่อแรงกดดันทางการเมืองและเสียงวิจารณ์ที่เกิดขึ้น โดยมั่นใจว่าทุกอย่างกำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
“ฉันรู้ว่าการเพิ่มจำนวนการส่งมอบจะเริ่มต้นอย่างช้าๆ ตามธรรมชาติในช่วงแรก ดังนั้นฉันจึงรู้ด้วยว่าไตรมาสแรกจะเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ฉันไม่ได้คาดหวังว่ามันจะยากขนาดนี้ เพราะเราไม่ได้รวมเอาความเป็นไปได้ที่ AstraZeneca จะลดการส่งมอบลงถึง 75% นั่นเป็นความล้มเหลวอย่างรุนแรง” เธอกล่าว
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้การผลักดันข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีน 1.8 พันล้านโดสบรรลุผล คือความเชื่อมั่นและสัมพันธไมตรีอันดีที่มีต่อกัน ซึ่งเบอร์ลากล่าวว่า เขาและฟอน แดร์ เลเยน พัฒนาความเชื่อมั่นระหว่างกันอย่างลึกซึ้งจากการพูดคุยกันในรายละเอียดของวัคซีน และชื่นชมประธานคณะกรรมาธิการยุโรปที่เข้าใจรายละเอียดต่างๆ ของโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้การพูดคุยของทั้งสองฝ่ายเป็นไปด้วยความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจำนวนมากกับ Pfizer/BioNTech แต่ EU ก็ยังคงเดินหน้าการฉีดวัคซีนให้ประชากรของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับจนถึงสัปดาห์นี้มีประชากรในชาติสมาชิก EU ราว 22% ที่ได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างน้อย 1 โดส
ขณะที่คำสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer ทำให้ EU สามารถชดเชยวัคซีนที่ขาดไป จากปัญหาการผลิตของ AstraZeneca และ EU กำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ประชากรผู้ใหญ่ให้ได้ 70% ภายในเดือนกรกฎาคม เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ในเดือนกันยายน
ปัจจุบัน EU ยังเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกวัคซีนโควิด-19 รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการส่งวัคซีนมากกว่า 159 ล้านโดส ไปยัง 87 ประเทศทั่วโลก นับตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกือบเทียบเท่าจำนวนวัคซีนที่เก็บไว้ฉีดให้ประชากรใน EU
ภายใต้ข้อตกลงระหว่าง EU กับ Pfizer นั้นยังกำหนดเงื่อนไขการสั่งซื้อวัคซีนที่ผลิตในยุโรปว่าไม่ใช่แค่สั่งซื้อวัคซีนที่ผลิตสำเร็จแล้ว แต่ยังรวมถึงส่วนประกอบในการผลิตวัคซีนส่วนใหญ่จากทั้งหมดกว่า 280 อย่าง ขณะที่สัญญายังอนุญาตให้สามารถผลิตวัคซีนได้หลายตัว
แต่การทำข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนครั้งนี้ใช่ว่าจะไร้ความเสี่ยงหรือเสียงวิจารณ์ โดยรัฐบาลของหลายประเทศและผู้เชี่ยวชาญหลายรายแสดงความกังวลว่า สหภาพยุโรปอาจกำลังพึ่งพิง Pfizer มากจนเกินไป และอาจล้มเหลวในการป้องกันความเสี่ยงเมื่อเกิดกรณีปัญหากับการผลิตวัคซีน
“ผมขอเตือนการเดินหน้าใช้งานแต่ Pfizer/BioNTech เพียงอย่างเดียว นั่นเป็นความเสี่ยงที่สูงมากสำหรับผมในทางวิทยาศาสตร์” ศาสตราจารย์ปีเตอร์ พิโอต์ นักจุลชีววิทยาที่ให้คำปรึกษาแก่ฟอน แดร์ เลเยน กล่าว แม้จะยอมรับว่าวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA อย่าง Pfizer นั้นมีประสิทธิภาพใช้งานได้ดีก็ตาม
ทั้งนี้ ฟอน แดร์ เลเยน กล่าวว่า EU จะยังคงเดินหน้าจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 จากบริษัทอื่นๆ โดยมีการติดตามข้อมูลการพัฒนาวัคซีนของ Novavax และ Sanofi ตลอดจนวัคซีนของ Moderna ซึ่งมีใช้แล้วในบางชาติสมาชิก EU รวมทั้งวัคซีนของ Johnson & Johnson ที่จะเริ่มใช้ในเดือนนี้ และวัคซีนจาก CureVac ที่กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาโดยหน่วยงานกำกับดูแลวัคซีนของ EU
สำหรับสัญญาสั่งซื้อวัคซีนฉบับใหม่จาก Pfizer นั้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดราคา โดยในสัญญาฉบับก่อนหน้านี้คิดราคาวัคซีนอยู่ที่โดสละประมาณ 19 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 592 บาท ซึ่งถือเป็นวัคซีนที่มีราคาแพงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค รองจาก Moderna
โดย 27 ชาติสมาชิก EU นั้นจะตัดสินใจเองว่าต้องการได้รับการจัดสรรวัคซีนตามส่วนแบ่งเต็มจำนวนหรือไม่ หรืออาจแบ่งขายหรือบริจาคให้แก่ประเทศอื่น ซึ่งชาติสมาชิกยังมีอิสระในการทำข้อตกลงทวิภาคีกับบริษัทผลิตวัคซีนอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย
ขณะที่ สิทธัตถะ ดัตตา เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นยุโรป แสดงความกังวลว่า การทำข้อตกลงซื้อวัคซีน Pfizer จำนวน 1.8 พันล้านโดสดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการจัดหาวัคซีนทั่วโลก
“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าถึงวัคซีนนั้น ไม่ควรเป็นสิทธิพิเศษจากอำนาจในการซื้อของประเทศใด ในขณะที่ประเทศต่างๆ พยายามกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ฐานประชากรของตนได้รับประโยชน์ เราต้องเดินหน้าผลักดันตัวเราเอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น”
ภาพ: Chukrut Budrul / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
อ้างอิง: