ตั้งแต่ต้นปี 2564 หุ้นไทย (SET) ปรับตัวขึ้นราว 8% มาอยู่ที่ระดับ 1,570 จุด แต่เมื่อลองดูตัวเลขการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละประเภท ดูเหมือนว่าการปรับตัวขึ้นในช่วงนี้มาจากแรงหนุนของนักลงทุนรายย่อยเป็นหลัก ด้วยสถานะซื้อสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่นักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนสถาบันกลับเป็นฝ่ายขายสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท และ 3.9 หมื่นล้านบาทตามลำดับ
จากตัวเลขที่ออกมา นักลงทุนสถาบันในประเทศหรือบรรดากองทุนต่างๆ เป็นฝ่ายที่ขายสุทธิหุ้นไทยออกมา โดยเฉพาะช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีแรงขายจากสถาบันราว 1.7 หมื่นล้านบาท (ณ 27 เมษายน 2564)
อาทิตย์ จันทร์สว่าง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า แรงขายจากกองทุนเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ความกังวลในเรื่องของการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้จากเดิมที่คาดการณ์กันว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2 นี้ จะทำได้ค่อนข้างดีเทียบกับฐานต่ำเมื่อปีก่อน สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ดีมากนัก และมีโอกาสที่ประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนจะถูกปรับลงได้ 2. เรื่องของมูลค่าที่ตึงตัวของตลาด ทำให้อัปไซด์ค่อนข้างจำกัด
สำหรับแนวโน้มหลังจากนี้ เชื่อว่ากองทุนจะมีการปรับพอร์ตอีกรอบหลังจากที่บริษัทจดทะเบียนแต่ละแห่งรายงานผลประกอบการไตรมาสแรกออกมาใกล้ครบทั้งหมด ในช่วงก่อนกลางเดือนพฤษภาคมนี้
“โดยส่วนตัวมองว่าที่ระดับดัชนี 1,600 จุด ยังผ่านขึ้นไปได้ยาก เว้นแต่ว่าจะสามารถควบคุมโควิด-19 ได้อยู่หมัด และกระจายวัคซีนได้เร็วมากขึ้น จนดึงให้ต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทยอีกครั้ง”
และด้วยทางเลือกการลงทุนที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้เงินลงทุนในตลาดจะถูกกระจายออกไปมากขึ้น เพราะฉะนั้นกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ หากดัชนี SET วิ่งขึ้นไปใกล้ระดับ 1,600 จุด แนะนำขายเพื่อล็อกกำไร โดยเฉพาะในหุ้นที่วิ่งขึ้นมาแรงก่อนหน้านี้
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า แรงขายจากกองทุนสะท้อนความกังวลต่อโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะความเสี่ยง แต่หุ้นขนาดใหญ่ซึ่งมีโอกาสถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์กำไรและโอกาสปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงได้อีก
นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การไถ่ถอนเงินลงทุนจากกองทุน หรือการโยกย้ายเงินลงทุนไปลงทุนต่างประเทศ หรือไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจลดลง
“แนวโน้มของหุ้นไทยต่อจากนี้จะขึ้นอยู่กับโควิด-19 เป็นสำคัญ หากยังแพร่ระบาดต่อเนื่องในระดับนี้ ก็อาจจะยากที่จะเห็นกองทุนกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมากองทุนถือครองเงินสดเพิ่มขึ้นมาก ทำให้แรงขายอาจจะไม่ได้สูงไปมากกว่านี้เท่าไรนัก”
ส่วนการวิ่งขึ้นของดัชนี SET ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลักๆ แล้วหนุนจากแรงซื้อของนักลงทุนรายย่อย ซึ่งล่าสุดมีสัดส่วนถึง 54% ของมูลค่าตลาด สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์
“การระบาดของโควิด-19 ทำให้คนไม่กล้าใช้จ่ายบนเศรษฐกิจจริง คนหันมาออมเงินและแบ่งมาลงทุนในช่วงสั้นๆ ทำให้ตลาดหุ้นไทยเวลานี้เป็นลักษณะของการเทรดดิ้งโดยสมบูรณ์แบบ”
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้คงต้องล้อไปกับภาพของตลาด สำหรับนักลงทุนระยะยาวแนะนำเข้าซื้อในจังหวะที่ตลาดปรับฐานแรง โดยอาจจะรอซื้อบริเวณ 1,550 จุด หรือต่ำกว่านั้น ส่วนนักลงทุนระยะสั้นเน้น ‘ขึ้นขาย ลงซื้อ’ ในกรอบ 1,550-1,600 จุด ซึ่งภาพตลาดเช่นนี้จะเปลี่ยนไปต่อเมื่อโควิด-19 จบลง และเงินทุนหมุนไปยังเศรษฐกิจจริงมากขึ้น
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า แรงขายของกองทุนในประเทศช่วงเดือนเมษายน ส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมเงินสดเพื่อเข้าซื้อหุ้นไอพีโอของ ‘เงินติดล้อ (TIDLOR)’ ขณะเดียวกันอีกส่วนหนึ่งเป็นแรงขายเพื่อล็อกผลตอบแทนที่ทำได้ในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การที่กองทุนของออกมาในระยะหลังไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าตลาดหุ้นไทยไม่มีอัพปไซด์แล้ว และถึงแม้ว่า Valuation ของตลาดโดยรวมจะตึงตัว แต่ปัจจัยที่จะส่งผลต่อทิศทางตลาดมากกว่าในเวลานี้คือ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน
“สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเห็นว่าเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาก แม้กระทรวงพาณิชย์จะรายงานตัวเลข Core CPI ออกมาเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% แต่จะเห็นว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นแรงมาก ทำให้การถือครองเงินสดในภาวะเช่นนี้จะแย่ที่สุด นักลงทุนจึงต้องพยายามนำเงินเข้าซื้อสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ซึ่งหุ้นก็เป็นหนึ่งในนั้น”
ส่วนประเด็นที่ว่า Valuation ของตลาดตึงตัว จริงๆ แล้วไม่ได้ตึงตัวทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่มหุ้นใหญ่อย่างธนาคารและพลังงาน ซึ่งมูลค่าหุ้นยังไม่แพง
“ปัจจุบันการซื้อขายของกองทุนมีน้ำหนักราว 10% ซึ่งอาจจะกดดันตลาดบ้างในจังหวะที่ขายออกมา แต่ไม่สามารถจะกำหนดทิศทางตลาดได้ และหลังจากนี้มีโอกาสที่กองทุนจะกลับมาซื้ออีกครั้ง เพราะตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นมากจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้กองทุนมีเงินลงทุนเพิ่มเข้ามาอีก”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล