วันนี้ (28 เมษายน) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ชี้แจงกรณียังมีผู้ป่วยโควิด-19 ที่รอเตียงรักษา หรือโทรสายด่วนไม่ติด โดยจากข้อมูลของกรมการแพทย์ รายงานตัวเลขการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 5-28 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน มีผู้ป่วยที่อาการหนักและต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้น แม้จะมีโรงพยาบาลสนามเปิดรับผู้ป่วย แต่ก็ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งหมด เพราะผู้ป่วยอาการหนักมีจำนวนมาก
อย่างเช่น กรุงเทพมหานคร ข้อมูล ณ วันที่ 27 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ป่วยอาการหนักถึง 255 คน ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 104 คน และมีแนวโน้มผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับยอดผู้หายป่วยออกจากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถไปรักษาในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ได้ ดังนั้นจึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือไม่มีอาการหรืออาการน้อย ให้ย้ายออกไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel เพื่อจัดสรรเตียงในโรงพยาบาลให้กับผู้ป่วยหนัก
พญ.อภิสมัย ยังอธิบายถึงการจัดลำดับผู้ป่วยที่จะได้รับเตียงในโรงพยาบาลว่า มีความละเอียดอ่อนสลับซับซ้อน และไม่ใช่ว่าใครมาก่อนจะได้เตียงก่อน แต่แพทย์จะพิจารณาที่อาการของผู้ป่วย เช่น หากมีเตียงว่าง 100 เตียง มีผู้ติดเชื้อที่รอเตียง 100 คน แต่หากในวันนั้นมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ ที่เป็นผู้ป่วยสีแดงอาการหนัก 5 คน แพทย์ก็อาจจะพิจารณานำผู้ป่วยหนักเข้าเตียงก่อน
“ส่วนสายด่วนที่ประสานเกี่ยวกับการจัดหาเตียง ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง บุคลากรที่ทำหน้าที่ต่างก็พยายามกันอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยทุกคน มีการประชุมเพื่อปรับปรุงการทำงานทุกวัน และรับฟังคำตำหนิข้อแนะนำต่างๆ เพื่อปรับปรุงการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้นทุกวัน” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ขณะนี้ยังสามารถไปรับการตรวจหาเชื้อจากแล็บเอกชน หรือคลินิกที่ให้บริการตรวจหาเชื้อได้ โดยในกรุงเทพมหานครมีคลินิกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึง 279 แห่ง เมื่อทราบผลตรวจว่าติดเชื้อ โรงพยาบาลที่ประสานงานกับคลินิกเหล่านี้จะโทรแจ้งผลและคัดแยกผู้ป่วยเพื่อจัดหาเตียง พร้อมกับให้คำแนะนำข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยขณะรอเตียง เช่น การสังเกตความเปลี่ยนแปลงอาการของตัวเอง เพราะบางคนไม่มีอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่สักพักอาการเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือทรุดลง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่ประสานเรื่องเตียงจะให้คำแนะนำวิธีสังเกตอาการ และช่องทางติดต่อกรณีอาการทรุดลง
โดยข้อปฏิบัติเมื่อทราบผลว่าติดเชื้อ
- เตรียมเอกสารหลักฐาน โทรแจ้งโรงพยาบาลที่ตรวจก่อน
- ถ้าโรงพยาบาลที่ตรวจยังหาเตียงไม่ได้ภายใน 1-2 วัน ให้โทรสายด่วน 1668 และ 1330
- ถ้าต้องการปรึกษาการปฏิบัติตัวระหว่างรอเตียง โทร. 1668
- ถ้ามีไข้สูง หายใจเหนื่อย ถ่ายเหลวหลายครั้ง โทร. 1669
- เพิ่มเพื่อนใน LINE Official Account @sabaideebot
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์