วันนี้ (27 เมษายน) สุเทพ อู่อ้น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร แสดงความเห็นหลังจากกระทรวงแรงงานได้เปิดหน่วยบริการตรวจโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตน มาตรา 33, มาตรา 39, มาตรา 40 ‘ที่เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง’
โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งนี้ขยายไปทั่วทุกพื้นที่จนถึงขั้นวิกฤต จึงต้องการให้โรงพยาบาลและสำนักงานประกันสังคมในระบบของผู้ประกันตนเปิดให้บริการตรวจโควิด-19 ตามสิทธิของผู้ประกันตน และขอแนะนำให้รัฐตั้งหน่วยงานเพื่อตรวจเชื้อไวรัสในกลุ่มสถานประกอบการเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกระจายเป็นวงกว้าง เพราะการตั้งหน่วยในการตรวจเชื้อไวรัสไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง หรือการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่างๆ ตามปริมณฑล อาทิ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี ในเวลานี้ล้วนมีความสำคัญ เทียบเท่ากับกรณีที่เคยมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจในคลัสเตอร์ที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่ตรวจโควิด-19 ในพื้นที่อุตสาหกรรม และลงพื้นที่สำรวจผู้ติดเชื้อในกลุ่มสถานประกอบการ ซึ่งต่อมาทำให้หลายสถานประกอบการพบว่ามีผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการของตน จึงไม่เคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อ เป็นการใช้มาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหา และถือเป็นนโยบายของปีกแรงงานพรรคก้าวไกลด้วย
นอกจากนี้ สุเทพยังเรียกร้องว่ารัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชดเชยเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ประกันตนหรือพี่น้องประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน เพราะครั้งนี้เดือดร้อนหนักกว่าเดิม เนื่องจากเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาตั้งแต่การระบาดครั้งแรกที่ตกหล่นคนจำนวนมาก ส่วนครั้งที่สองรัฐมีการออกมาตรการชดเชย แต่ไม่ได้ให้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และชดเชยในรูปแบบต่างกัน แต่สำหรับครั้งนี้การระบาดกระจายวงกว้างมากจึงไม่ควรมีการแบ่งแยก พี่น้องประชาชนทุกคนควรได้รับการเยียวยาอย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียมในส่วนของเงินดำรงชีพ 3,000 บาทต่อเดือน อย่างน้อย 3 เดือน
“นี่เป็นข้อเสนอของปีกแรงงานพรรคก้าวไกล ที่เคยเสนอไว้ในการระบาดระลอกแรก โดยมาจากการคำนวณค่าเฉลี่ยความยากจนต่อเดือนที่อยู่ที่ 2,800 บาท หรือต่อวัน วันละ 100 บาท ผู้ที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือผู้ใช้แรงงานในระบบควรได้รับสิทธินี้อย่างถ้วนหน้าและเท่าเทียม และรัฐจะต้องชดเชยอย่างเร่งด่วน เพราะการที่สถานประกอบการเอกชนต้องปฏิบัติงานที่บ้าน (Work form Home) ตามมาตรการของรัฐบาล ทำให้มีการปรับและลดระดับเงินเดือนจึงส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อยากให้รัฐปฏิบัติเช่นเดียวกับข้าราชการที่ให้ปฏิบัติงานที่บ้านตามมาตรการของรัฐบาล โดยยังได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน กรณีนี้ส่งผลให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม เพราะคนทำงานในภาคเอกชน 10 กว่าล้านคนได้รับผลกระทบแน่นอน” สุเทพกล่าว
ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอฝากให้ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาตรการเชิงรุกในช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก มีการตั้งคณะทำงานในการตรวจโควิด-19 ในพื้นที่สถานประกอบการอย่างเร่งด่วนดังที่เสนอไปแล้ว และขอให้ช่วยผลักดันเรื่องของงบประมาณเยียวยาประชาชนอย่างถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท โดยไม่ควรจะมีเงื่อนไขอะไรทั้งสิ้น เพราะโรคระบาดไม่มีเงื่อนไขในการแพร่กระจายเชื้อ จึงต้องเร่งดำเนินการและผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอย่างเร่งด่วน
“โรคระบาดไม่ได้เลือกว่าคนจน คนรวย มันติดถ้วนหน้า ขณะที่การรักษาพยาบาลของคนมีเงินสามาถรักษาโรงพยาบาลเอกชน ได้รับการรักษาอย่างดี และเข้าถึงเตียงได้ แต่คนยากจนแทบไม่ได้ในส่วนนี้ ลำบากทั้งทางเศรษฐกิจ และสาธารณสุขทุกวันนี้ยังต้องเฝ้ารอคอยเตียงกันอยู่เลย” สุเทพกล่าว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์