ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) เปิดเผยว่า พวกเขาเตรียมจะกลับมาดำเนินการใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ Johnson & Johnson อีกครั้ง เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น หลังระงับการใช้งานไปชั่วคราวเป็นระยะเวลานานกว่า 11 วันจากปัญหาการพบผลข้างเคียง ‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ ในผู้ที่ได้รับวัคซีนบางราย
โดยให้เหตุผลว่าการกลับมาใช้งานวัคซีนของ Johnson & Johnson ในครั้งนี้มี ‘ประสิทธิภาพ’ ในการใช้งานป้องกันโรคระบาดมากกว่าประเด็นผลข้างเคียงซึ่งพบได้ยาก นอกจากนี้ยังระบุอีกด้วยว่า ตัววัคซีนให้ประโยชน์มากกว่าโทษและความเสี่ยง
โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกาเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า “วัคซีน (Johnson & Johnson) ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพกับผู้คนส่วนใหญ่”
การตัดสินใจกลับมาใช้งานวัคซีน Johnson & Johnson ในครั้งนี้มีขึ้นหลังจากที่ คณะกรรมการที่ปรึกษาวัคซีนของรัฐบาลกลางและ CDC ได้ร่วมกันโหวตว่าจะกลับมาใช้งานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตัวดังกล่าวหรือไม่ ก่อนที่ผลโหวตจะออกมาเป็น 10-4 หรือให้กลับมาใช้วัคซีน Johnson & Johnson ได้อีกครั้ง โดยคาดว่าการใช้งานวัคซีน Johnson & Johnson กับพลเมืองสหรัฐฯ จะเริ่มตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป
นั่นหมายความว่าวัคซีนอย่างน้อยกว่า 10 ล้านโดสที่ถูกส่งตรงจากโรงงานของ Johnson & Johnson ในเนเธอร์แลนด์มายังสหรัฐฯ จะเริ่มถูกกระจายและจัดส่งไปในแต่ละรัฐของประเทศเพื่อดำเนินการฉีดให้กับประชาชนทันที
แต่อย่างไรก็ดี ทาง Johnson & Johnson และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องออกฉลากบนขวดวัคซีนและคำเตือนในเอกสารกำกับยาถึงผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตันที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เพื่อเตือนให้แพทย์และผู้เข้ารับวัคซีนทราบถึงกรณีความเสี่ยงที่พวกเขาอาจจะต้องเผชิญ
ทั้งนี้นับตั้งแต่ดำเนินการฉีดวัคซีนของ Johnson & Johnson ไปกว่า 8 ล้านโดสกับพลเมืองในสหรัฐฯ พบกรณีการได้รับผลข้างเคียงลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ฉีดวัคซีนรวม 15 ราย ทั้งหมดเป็นผู้หญิง ส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี (เกือบ 12 รายเป็นหญิงที่อยู่ในช่วงอายุ 30-39 ปี, 7 รายมีน้ำหนักเยอะ) โดย 3 จาก 15 รายเสียชีวิตแล้ว อีก 7 รายอยู่ระหว่างการรักษาตัวในโรงพยาบาล ดังนั้นในกรณีนี้ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมากหากมองถึงในแง่ประสิทธิภาพของตัววัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคระบาดได้อย่างชะงัก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: