เมื่อสินทรัพย์ของคนทั้งประเทศไทยมากกว่า 77% ไปกระจุกตัวอยู่กับคนรวยที่สุดของไทยที่มีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งหมด ก็ทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก
แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจจนเกิดปัญหา ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ มีที่มาอย่างไร และควรเริ่มแก้ไขที่จุดไหน
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นสูงเรื่อยๆ สะท้อนจากสัดส่วนสินทรัพย์ที่ถือครองโดยคน 1% ที่รวยที่สุดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระหว่างปี 2551-2561 และในมิติการเติบโตของรายได้ ข้อมูลสะท้อนชัดเจนว่ากลุ่มคนรายได้สูงมีรายได้ที่เติบโตสูงขึ้นเร็วกว่าคนรายได้น้อย ทำให้เศรษฐกิจไทยช่วงที่ผ่านมาโตแบบไม่ทั่วถึง เกิดภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’
ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยในความเป็นจริงอาจสูงกว่าตัวเลขทางการ ซึ่งปัจจุบันมักอ้างอิงจากข้อมูลแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยกลุ่มตัวอย่างที่อยู่ในแบบสำรวจมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนรายได้น้อยและไม่รวมคนรายได้สูง ทำให้ตัวเลขความเหลื่อมล้ำต่ำกว่าความเป็นจริง
ที่สำคัญแม้ว่าช่วงที่ผ่านมาความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของไทยปรับตัวดีขึ้น แต่เกิดจากเหตุผลที่ไม่ยั่งยืนในมุมมองระยะยาว เพราะส่วนหนึ่งมาจากเงินชั่วคราว ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือจากภาครัฐและเงินโอนเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ซึ่งไม่สะท้อนผลิตภาพของแรงงานที่เพิ่มขึ้นโดยตรง
ดังนั้นหากจะแบ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง สามารถแบ่งได้ 4 ปัจจัย ได้แก่
- คนไทยกว่า 31% ทำงานในภาคเกษตร แต่กลับเจอราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำให้การเติบโตของรายได้อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความเหลื่อมล้ำกว้างขึ้น
- ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งมิติโอกาสทางการศึกษา กลุ่มคนรายได้น้อยจะเข้าถึงการศึกษาที่ดีได้น้อย สิทธิแรงงานอยู่ในระดับต่ำ ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ นอกจากนี้นโยบายของรัฐยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ เช่น แรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง กำไรที่กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่ทำให้รายเล็กแข่งขันยาก และภาครัฐยังขาดมาตรการสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างเป็นระบบ
- สถานการณ์โควิด-19 กระทบรายได้กลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยมากกว่ากลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า ขณะที่แรงงานนอกระบบมีจำนวนมาก (54% ของแรงงานทั้งหมด) แต่ขาดรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็ง
- ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุจะยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำแย่ลง
นอกจากนี้จุดสำคัญคือ ประเทศไทยขาดกลไกที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เพราะระบบการเมืองที่ขาดประสิทธิภาพ โดยสถาบันการเมืองไม่เชื่อมโยงกับความรับผิดต่อส่วนรวม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง เช่น เสรีภาพของสื่อไทยอยู่อันดับ 113 จาก 141 ประเทศ และความปลอดภัยของประชาชนและการคอร์รัปชันได้คะแนนที่ค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังต้องเร่งให้เร็วที่สุด โดยแบ่งเป็น 5 ส่วน ได้แก่
- กลไกทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนแข่งขันบนความเท่าเทียม
- กลไกทางภาษีในการกระจายรายได้และความมั่งคั่ง โดยใช้ระบบภาษีรายได้ในอัตราก้าวหน้า
- กลไกสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้คนเข้าถึงการศึกษา บริการทางสาธารณสุข สินเชื่อ ที่มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น และมีโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม (Social Safety Net) ที่เข้มแข็ง
- กลไกบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทั้งทางตรงและคอร์รัปชันเชิงนโยบาย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านการเข้าถึงอำนาจทางการเมือง
- กลไกกระจายอำนาจทางการเมืองและการคลัง โดยมีการจัดสรรทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจทางการคลังไปสู่รัฐบาลท้องถิ่นอย่างเหมาะสม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า