×

กกร. ตั้ง 4 ทีมเอกชนยื่นเรื่องรัฐ กรณีไทยมีวัคซีนล่าช้า ปรับลดเป้า GDP ปี 64 เหลือ 1.5-3%

21.04.2021
  • LOADING...
วัคซีนล่าช้า

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า ผลการประชุม กกร. คาดว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อไทยอย่างน้อย 3 เดือน เพราะกระทบต่อกำลังซื้อที่แรงงานภาคบริการยังหยุดลง รวมถึงมีผลกระทบต่อแผนการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทย 

 

ทั้งนี้ทาง กกร. ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัว 1.5-3.0% จากเดิมที่อยู่ 1.5-3.5% ด้านเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.0-1.2% จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ราว 0.8-1% แต่จากสถานการณ์โลกที่ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าภาคการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีการเติบโตราว 4-6% จากก่อนหน้าที่คาดไว้ราว 3-5% 

 

ขณะที่ กกร. มองว่าผลกระทบโควิด-19 ที่เกิดขึ้น รัฐต้องใช้เม็ดเงินที่มีกว่า 2 แสนล้านบาทเข้ามาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยส่วนสำคัญเร่งด่วนคือ การจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อประชาชน เพื่อสร้างการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ กกร. กังวลเรื่องการกระจายวัคซีนไทยที่ยังล่าช้าและแผนงานยังไม่ชัดเจน ล่าสุดจึงตั้งคณะทำงานใน 4 ด้านทั้ง 1. การกระจายและฉีดวัคซีน 2. การสร้างความเชื่อมั่น 3. การอำนวยความสะดวก และ 4. จัดหาวัคซีนเพิ่มเติม โดยจะประชุมในสัปดาห์หน้า (26-30 เมษายน) เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในระยะต่อไป 

 

ในกรณีการจัดหาวัคซีนนั้น เมื่อดูจากจำนวนที่ภาครัฐจัดหา (ราว 35 ล้านโดส) พบว่ายังขาดอีกราว 30 ล้านโดสเพื่อให้เพียงพอต่อประชาชน ดังนั้นทางเอกชนจึงพยายามจัดหาวัคซีนราว 10-15 ล้านโดส (มีผู้แสดงความจำนงซื้อแล้ว 5 ล้านโดส) ในการจัดการให้พนักงานลูกจ้างเอกชน โดยจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายวัคซีนส่วนนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐ แต่วัคซีนจำนวนดังกล่าวยังต้องร่วมกับหน่วยงานรัฐเพื่อนำเข้าตามกฎของไทย

 

โดย กกร. เสนอว่าควรมีการเพิ่มวาระการประชุม ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ภาคเอกชนเพิ่มอีก 1 วาระ เพื่อรับพิจารณาเรื่องจำเป็นต่างๆ จากทางภาคเอกชน

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ขยายเวลา พ.ร.ก. กำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่ได้ขยายระยะเวลามา 1 ปี และจะครบกำหนดเดือนพฤษภาคมนี้ออกไป เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องรายละเอียดการบังคับใช้ ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปฏิบัติตามได้

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X