×

‘THE STANDARD NOW ฟังทุกฝ่าย เปิดใจทุกมุม’ รายการข่าวและทอล์กกับผู้ประกาศข่าวคนใหม่ อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

โดย THE STANDARD TEAM
19.04.2021
  • LOADING...
อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

HIGHLIGHTS

  • “คนเรายังไงก็ต้องเสพข่าว ต้องรู้เหตุการณ์บ้านเมือง ต่อให้จะเบื่อ ไม่อยากสนใจ แต่มันก็เกี่ยวพันกับเราในทุกมิติ สุดท้ายก็ต้องรู้อยู่ดี”
  • “เราอยากให้สังคมมันดีขึ้น เรารู้ว่าด้วยตัวเราคนเดียวมันไม่สามารถทำให้สังคมไทยมันดีขึ้นได้หรอก แต่เราสามารถเป็นปากเป็นเสียงของคนในสังคมไปยังคนที่มีอำนาจได้”
  • “ความขัดแย้งไม่ว่าจะทุกยุคทุกสมัย สุดท้ายมันจบด้วยการคุย ต่อให้คุณจะประท้วงฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปดู เท่าที่ผมเห็นมาสุดท้ายต่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่รุนแรง มันจะจบที่การคุย”

‘THE STANDARD NOW ฟังทุกฝ่าย เปิดใจทุกมุม’ รายการใหม่จาก THE STANDARD ที่จะอัปเดตสถานการณ์ทั้งการเมือง สังคม พร้อมฟังความคิดทุกฝ่ายที่มาพูดคุยกัน ทุกวันพุธ เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ทาง Facebook Live และ YouTube Live ช่อง THE STANDARD

 

ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ผู้ประกาศข่าวคนใหม่ที่ผันตัวจากศิลปินสู่วงการข่าวอย่างจริงจัง โดยมีความมุ่งมั่นอยากทำรายการข่าวเพื่อฟังความคิดเห็นหลายมุมมอง เชื่อว่าการรับฟังและแก้ไขปัญหาจะนำไปสู่การยุติความขัดแย้งในสังคม

 

ก่อนจะมีบทบาทเป็นผู้ประกาศในปัจจุบัน ผ่านอะไรมาบ้าง

 

ย้อนกลับไปก่อนเข้าวงการทีวีเพื่อทำรายการข่าว ตอนนั้นปี 2561 อายุ 19 ปี ได้ประกวดร้องเพลงชื่อรายการ Star Talent แล้วบังเอิญว่าชนะจึงมีโอกาสได้เล่นละคร ร้องเพลง เป็นพิธีกร จนถึงอายุประมาณ 26 ปี ตอนนั้นผลงานที่คนจะจำได้และมาทักบ่อยๆ น่าจะเป็นละครเรื่อง ‘น้องใหม่ร้ายบริสุทธิ์’ หรือเพลง ‘หลับตาก็รู้’

 

หลังจากนั้นพอมีทีวีดิจิทัลขึ้น เราก็มีโอกาสได้ไปแคสต์พิธีกรหลายที่ สุดท้ายเราเลือกที่ช่อง one31 เป็นที่แรก ตอนนั้นเข้าไปก็เป็นผู้ประกาศข่าวในเชิงพิธีกร หรือง่ายๆ คือพิธีกรข่าวบันเทิง ประมาณ 4-5 ปี เลยเป็นที่มาของการเข้ามาอยู่ในวงการข่าว

 

จุดเปลี่ยนจาก ‘ศิลปิน’ สู่ ‘ผู้ประกาศข่าว’

 

สมัยนั้นต้องยอมรับว่าการร้องเพลงแล้วได้เงินเป็นเรื่องยาก การที่เราไม่ได้มีฐานแฟนคลับเยอะเท่ากับคนที่มาจาก The Star หรือ AF การที่ผลงานเป็นเหมือนการต่อยอดไปทำอีเวนต์ ไปทำงานอื่นๆ ก็ต้องยอมรับว่า เราไม่ได้ดังขนาดที่จะมีงานอีเวนต์หรืองานจ้าง เพราะฉะนั้นมันไม่ค่อยได้เงิน จากนั้นเราก็มีโอกาสอันดีที่ได้ไปแทนก่อน เริ่มจากแทนพิธีกรรายการเพลงของ Bang Channel ที่ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว ตอนนั้นเป็นการทดลองทำรายการสด จัดกับหลายๆ คนที่เป็นพิธีกรมืออาชีพ อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นจากนักร้องมาเป็นพิธีกร

 

ตอนนั้นเราทำหลายการเหมือนกัน มีรายการท่องเที่ยว มีรายการที่ให้ความรู้ด้วย ประกอบกับสัญญาหมด และทีวีดิจิทัลกำลังจะขึ้น เราจึงไปแคสต์ที่ต่างๆ ตอนนั้นเอาใจจริงที่ไปแคสต์คือแคสต์เป็นผู้ประกาศข่าว ก็คือพอแล้ว สายบันเทิง สายนักร้อง ทำได้ไหม ทำได้ แต่จริงๆ เราอยากอ่านข่าว เราชอบมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ว่าไม่มีโอกาสได้ทำ มันจับพลัดจับผลูไปเป็นนักแสดงนักร้องก่อน

 

ทีนี้พอหมดสัญญา ทุกอย่างมันประจวบเหมาะก็เลยตัดสินใจว่าเราจะเป็นผู้ประกาศข่าวแล้ว แต่จังหวะนั้นมันลังเลอยู่ว่าจะเป็นผู้ประกาศข่าวทั่วไปหรือจะเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬาดี เพราะว่าเราชอบกีฬา เราชอบฟุตบอล เราชอบติดตามข่าววงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกีฬา เราก็ไปแคสต์หมดเลยทั้งทั่วไป กีฬาตามช่องต่างๆ ที่กำลังจะขึ้น ประมาณ 3-4 ที่ แล้วก็มีโอกาสได้ไปคุย อบรม เทรนอยู่ประมาณหนึ่ง สุดท้ายเลือกช่อง one31 ก็เลยกลายมาเป็นพิธีข่าวบันเทิง

หลังจากนั้น ผู้ใหญ่อาจจะเห็นว่าเราสามารทำได้หลายอย่าง ก็เลยให้เราอ่านข่าวทั่วไปด้วย เพราะว่าตอนนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบรายการเป็นเอาบันเทิงมานั่งอยู่กับข่าวทั่วไป เป็นโต๊ะใหญ่ห้าคนเป็นข่าวเที่ยง ซึ่งทุกคนในนี้ต้องอ่านได้หมดทั้งทั่วไป บันเทิง ต่างประเทศ เศรษฐกิจ กีฬา จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราค่อยๆ ผสมผสานการอ่านข่าวทั่วไป

 

หลังจากนั้นก็ได้อ่านข่าวทั่วไปอยู่บ้างที่ช่อง one31 ประปรายสลับกับบันเทิง จนกระทั่งย้ายมาช่อง GMM25 คือ ข่าวหลัก ข่าวทั่วไปเต็มๆ อย่างเดียว

 

สนใจข่าวตั้งแต่เด็ก เพราะข่าวเกี่ยวพันกับเราในทุกมิติ

 

ย้อนกลับไป สมัยเด็กๆ ผมชอบข่าวอยู่แล้ว เราจำได้เลยว่าสมัยนั้น ไทยรัฐ, คมชัดลึก, กรุงเทพธุรกิจ, เดลินิวส์ มาส่งที่บ้าน เราจะเปิดดูพาดหัวก่อนหน้าหนึ่ง แล้วก็จะข้ามไปอ่านกีฬาก่อน แล้วค่อยกลับมาอ่านเนื้อในส่วนการเมือง เศรษฐกิจ

 

สิ่งที่ทำตอนเด็กๆ คือ พออ่านเสร็จในแต่ละวัน เราจะเปิดคอม เปิด Microsoft Word แล้วคิดพาดหัวเอง ทำไมเขาต้องบิ๊กนั้น บิ๊กนี้ ทำไมต้องมีฉายาทั้งกีฬาและการเมือง มันจะมีตัวย่อหรืออะไรแปลกๆ ที่น่าสนใจ เรารู้สึกว่ามันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่า งั้นเราลองมาคิดเองดู ถ้าเป็นเรา เราจะพาดหัวข่าวว่าอะไร

 

ต่อมามันเป็นช่วงที่เราเบื่อข่าวมากๆ คือตอนมัธยมมันจะมีทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง จังหวะนั้นเราไม่ค่อยสนใจ ประกอบกับช่วงมัธยมเป็นช่วงที่เรียนหนัก มันก็เลยห่างหายจากข่าวไป ไปสนใจเรื่องเรียน ร้องเพลง ทำกิจกรรมในโรงเรียนอยู่พักหนึ่ง ก็เลยหายจากข่าวไปเลย แต่กลับมาสนใจอีกครั้งคือตอนที่จบมหาวิทยาลัย เพราะรู้สึกว่าอย่างไรมันก็หนีไม่พ้น คนเราอย่างไรก็ต้องเสพข่าว ต้องรู้เหตุการณ์บ้านเมือง ต่อให้จะเบื่อ ไม่อยากสนใจ แต่มันก็เกี่ยวพันกับเราในทุกมิติ สุดท้ายก็ต้องรู้อยู่ดี

 

อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

หลังได้เป็นผู้ประกาศข่าว รู้สึกอย่างไร

 

รู้สึกดีกับมัน ตรงที่ว่ามันท้าทายกับตัวเอง ผมต่างจากคนอื่น บางคนเขาจะไต่เต้าเป็นสเตป มาจากการเป็นผู้สื่อข่าว คนเขียนข่าวก่อน แล้วค่อยๆ ถูกส่งไปทำอย่างอื่น กว่าจะมานั่งหน้าจอมันใช้เวลานาน เราเห็นบางคนใช้เวลาเยอะมาก ใช้ความพยายามสูงมาก ซึ่งเรานับถือคนเราเหล่านั้นมากๆ 

 

ผมเหมือนเป็นทางลัดที่มาจากคนมีพื้นที่หน้าจออยู่แล้วในวงการอื่น วงการบันเทิงในสายร้องเพลง สายพิธีกร ก็ลัดมาที่สายข่าวเลย พอลัดมาเลยเราแฮปปี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องปรับเปลี่ยนและเรียนรู้คือ ผมไม่รู้เบื้องหลังอะไรมาก่อนเลย ตอนแรกนะ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการเขียนข่าวทำอย่างไร วิธีการหรือกระบวนการ บรรณาธิการเขาทำอะไร โปรดิวเซอร์ทำอะไร คือไม่รู้เลย เป็นศูนย์ ทีนี้ก็ต้องมาเรียนรู้ใหม่เยอะ ถือว่าต้องเรียนรู้มากกว่าคนอื่น คนอื่นอาจจะมีพื้นที่ มีประสบการณ์มาอยู่แล้ว

 

ส่วนเรื่องการเขียนข่าวหรือการจับประเด็นก็เป็นสิ่งที่ต้องฝึกเหมือนกัน พอได้ทำจริงๆ ประมาณ 1 ปีกว่า เราก็ได้เรียนรู้หลายอย่างว่า มันไม่สามารถพูดทุกอย่าง หมายถึงข่าวในหนึ่งวันมีเยอะมาก คุณจะมานั่งเล่าหนึ่งพันข่าวในหนึ่งชั่วโมง มันเป็นไปไม่ได้ เราจะเล่าอย่างไร เล่าข่าวประเภทไหน เลือกแบบไหน ประเด็นไหนที่จะหยิบมาเล่าในมุมอะไร สิ่งนี้มากกว่าที่มันเป็นความสนุกและเป็นความท้าทาย ทำอย่างไรให้คนเข้าใจในสิ่งที่เราเล่า แล้วมันเป็นประเด็นที่เขาต้องรู้หรือควรจะรู้จริงๆ

 

มีวิธีการเลือกข่าวอย่างไร

 

บนออนไลน์ในแฟนเพจ Facebook และ Twitter ของตัวเอง วิธีการเลือกโดยส่วนตัวจะมีสองแบบ หนึ่งคือ คนควรจะต้องรู้และเป็นประโยชน์ และสองคือ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกระแส คนอยากรู้ บางทีรู้ไม่ได้ประโยชน์ ก็อาจจะเล่น สองอย่างนี้จะอยู่บนเพจแบบกลมๆ ผสมปนเปกันไป แต่บางข่าวที่มันเล่นบนหน้าจอทีวีได้แต่มันเล่นในออนไลน์ไม่ได้ เป็นสิ่งที่ผมคิดในทุกๆ วัน เพราะผมไม่เล่นภาพ ผมทำคนเดียว ไม่สามารถไปหาภาพ ถ่ายภาพด้วยตัวคนเดียวได้ แล้วกลับมาเขียนเองอีก มันหนักหนาเกินไป

 

วิธีการแก้ไขปัญหาทางออนไลน์ของผมคือการใช้ตัวอักษรแก้ปัญหาอย่างเดียว เอาสิ่งที่ตอนเด็กชอบเล่นมาพาดหัว ทำอย่างไรให้คนสนใจ แต่วิธีการคือ การไปสืบเสาะจากสำนักข่าวใหญ่ๆ เราก็คงช้ากว่าเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราจะทำอย่างไร เราต้องสรุปออกมาให้เขาเข้าใจง่ายที่สุดในโลกออนไลน์

 

ทำกับ THE STANDARD เพราะอยากรู้ว่าการทำข่าวออนไลน์เป็นอย่างไร

 

จริงๆ แล้วผมเคยคิดว่า ถ้าวันหนึ่งจะต้องมีสำนักข่าวออนไลน์เป็นของตัวเอง หรือการที่จะมีใครสักคนทำสำนักข่าวออนไลน์ขึ้นมาใหม่ๆ ผมเชื่อว่า THE STANDARD จะเป็นหนึ่งในต้นแบบที่จะทำให้ผมหรือคนเหล่านั้นที่จะสร้างสำนักข่าวออนไลน์ใหม่ๆ ขึ้นมา ต้องดู THE STANDARD เป็นตัวอย่าง ไม่ว่าจะการทำงานหรือการเติบโต

 

ทีนี้พอรู้ว่าจะได้ทำงานกับ THE STANDARD สิ่งแรกที่รู้สึกคือ มันก็เป็นเกียรติกับเราเหมือนกันกับคนที่เพิ่งจะได้มาสายข่าวได้ไม่นาน ผมยอมรับตามตรงว่า เทียบคนอื่น ผมค่อนข้างที่จะมีขวบปีที่น้อยมากๆ ในประสบการณ์ด้านสายข่าว ยิ่งเทียบกับบรรดาผู้ประกาศที่มีชื่อเสียง บางคนอาจจะทำมาเป็นสิบปี บางคนย้ายมาไม่รู้กี่ช่อง เทียบกับเราที่ประสบการณ์น้อยนิดมาก

 

พอรู้ว่า THE STANDARD สนใจ คำถามแรกคือเราจะทำได้หรือเปล่า กับสองคือตื่นเต้น มันก็ท้าทายเหมือนกันนะ เพราะว่ามันเหมือนเป็นอีกโลกที่เราจะได้ไปเผชิญ เป็นอีกมุมที่มาลุยงานออนไลน์เต็มตัว จะพูดอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาผมทำทีวีมาโดยตลอด

 

ก็อยากรู้เหมือนกันว่าออนไลน์มันเป็นอย่างไร ถ้าเราได้มาทำจริงๆ

 

อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

หลังจากทำมาสักพัก รู้สึกอย่างไร

 

รู้สึกว่าต่างจากทีวีอยู่ประมาณหนึ่ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกยุคนี้มันคือออนไลน์ คนดูข่าวจากโทรศัพท์บน Facebook, Twitter, YouTube หรือฟังเอา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องยอมรับว่าคนไทยจำนวนมากก็ยังดูทีวีอยู่ประมาณหนึ่ง เพราะฉะนั้นความรู้สึกผมคือ มันควบคู่กันไปทั้งทีวีและออนไลน์ เราคงยังไม่สามารถละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ จนกว่าที่ประชากรประเทศไทยทุกคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เข้าถึงสมาร์ทโฟน ณ วันนั้น เราก็คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ามันแทบจะเป็นออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์

 

แต่ว่าพอมาทำได้สัก 2-3 เทป สิ่งที่มันต่างคือวิธีการทำงานที่บางทีมันก็เกิดคำถามกับตัวเองว่า มันง่ายขนาดนี้เลยหรอ เพราะเราทำทีวีมาตลอด ผมเชื่อว่าหลายคนจะเข้าใจว่าทีวีมันมีความยุ่งยาก มีกฎเกณฑ์ มีคนหลายแผนก หลายฝ่าย ในการที่จะสร้างรายการหนึ่งขึ้นมา เราผ่านการทำรายการมาหลายรายการหลายช่องเหมือนกัน แล้วเราก็เห็นว่ากว่าที่มันจะเกิดเป็นรายการหนึ่งมันยากมาก กว่าที่จะคิดแล้วเสนอผู้ใหญ่ เคาะกลับมา เรื่องงบ ทีมงาน โฆษณา พิธีกร มันยากมากในการจะขึ้นรายการหนึ่ง

 

แต่พอมาทำ THE STANDARD ออนไลน์มันดูง่ายไปหมด หนึ่งอาจจะด้วยความพร้อมของ THE STANDARD กับสองคือ พอเป็นออนไลน์ กฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่ได้กำหนดเท่าทีวี มันเลยมีสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกคือ มันสามารถใส่ลูกเล่น เช่น ความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ การหลุดออกจากกรอบเดิมๆ ที่ไม่มีกฎเกณฑ์มาครอบ อันนี้เป็นความสนุกที่ผมรู้สึกว่าพอทำมาได้สัก 2-3 เทป บางอย่างเราไม่สามารถทำได้ในทีวีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่ามันก็อาจจะไม่สุดโต่งที่สามารถพูดคำหยาบที่ยังขัดแย้งกับความเป็นข่าวได้ ถ้าเป็นรายการอื่นๆ อาจจะมี แต่พอเป็นข่าวคือต้องเชื่อถือได้ ถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสม

 

จากคนกลัวการสัมภาษณ์ สู่ผู้ประกาศ THE STANDARD NOW รายการข่าวและทอล์ก

 

ผมอยากทำรายการทอล์ก รายการสัมภาษณ์ จริงๆ แล้วหนึ่งความลับที่ผมไม่เคยบอกที่ไหนคือ แต่ก่อนผมเป็นคนกลัวการทอล์ก การสัมภาษณ์ เวลาสมัยที่ทำพิธีกรด้านบันเทิง สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าเกร็งประหม่าและไม่อยากทำเลย คือถ้าต้องไปสัมภาษณ์ใครสักคน ไม่ได้แน่ๆ ตื่นเต้น คิดไม่ออก ต้องถามอะไร แล้วเขาตอบมาเราต้องถามอะไรต่อ ตอนนั้นรู้สึกว่ามันยาก แล้วพอเห็นพิธีกรมืออาชีพทำรายการทอล์ก รายการสัมภาษณ์ เรารู้สึกว่าเขาเก่งจังเลย ทำไมเขาทำได้ ถ้าเป็นเราเราทำไม่ได้ อย่างตอนอยู่บันเทิง สัมภาษณ์พี่เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ เราเกร็งมาก จนถึงขนาดที่ว่าปล่อยให้พิธีกรคู่สัมภาษณ์ไปเลย เดี๋ยวเราคอยเสริม เพราะเราไม่กล้า เราไม่รู้จะถามตรงไหน

 

พอเราสั่งสมประสบการณ์ไปได้สักพักหนึ่ง เรามีโอกาสทำพิธีกรสัมภาษณ์ค่อนข้างเยอะในสายของงานบันเทิง งานออนไลน์บางส่วน พอสัมภาษณ์มาได้สักระยะ เราก็รู้สึกว่าเราพอทำได้ ทีนี้ในสายข่าว สำหรับผม มันจะมีความยากขึ้นไปอีกสเตปหนึ่ง เพราะคนในวงการบันเทิงกับคนในสายข่าวหลัก วิธีการสัมภาษณ์มันก็ไม่เหมือนกัน

 

บันเทิงจะเป็นอะไรที่สนุกสนาน แต่พอมาสายข่าว แค่เรื่องมันก็ไม่สนุก มันเครียด บางทีเป็นคดีอาชญากรรม คดีทุจริต แล้วต้องมานั่งสัมภาษณ์ มันต้องระแวดระวังเยอะ มันต้องใช้สติ สมอง ประสบการณ์ ความรู้ที่เรามี

 

บางทีแขกตอบกลับมาย้อนกลับปี 2550 ถ้าเราไม่รู้ว่ามาก่อนว่าปี 2550 เกิดอะไรขึ้น เราก็ตายเหมือนกันนะ เราก็ไม่สามารถต่อจากสิ่งที่แขกพูดมาได้

 

เพราะฉะนั้น พอมาเป็นรายการทอล์กสัมภาษณ์ มันก็จะมีความยาก แต่ที่เราอยากทำคือมันท้าทายตัวเองว่าเราอยู่ในจุดที่เราจะทำได้หรือยัง เราอยากลองดูสักตั้ง แล้วอีกอย่าง พอเป็นออนไลน์ มันมีความท้าทายขึ้นไปอีกว่า เห็นฟีดแบ็กทันทีเลย พลาดไป ถ้าไม่ดี จะเห็นคอนเมนต์แบบเรียลไทม์ มันเลยเป็นสิ่งที่ท้าทายตัวเองว่า ถ้าเราทำรายการทอล์กมันจะเป็นอย่างไรนะ เลยอยากลองทำ

 

ประเด็นรายการ THE STANDARD NOW เป็นอะไรบ้าง

 

ผมคิดว่าต้องเป็นประเด็นที่เป็นกระแส เพราะว่าสุดท้ายแล้วการที่รายการจะอยู่ได้ไม่ได้มันก็ต้องมีคนดู ถ้าทำไปแล้วมันไม่มีคนดู ต่อให้จะเป็นออนไลน์ก็แล้วแต่ ถ้ามีคนดูห้าคน สิบคน แล้วมันไม่ไปไหนเลย มันก็คงไม่เวิร์ก ก็ต้องมานั่งคิดทบทวนกันใหม่

 

เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำ หรือแขกอาจจะต้องเชิญ ก็ต้องเป็นข่าวในขณะนั้น ข่าวที่เป็นกระแส เป็นเรื่องที่คนพูดถึง เช่น เทรนด์ Twitter เพราะอยู่บนออนไลน์ จึงเหมาะกับของเราเพราะเป็นออนไลน์ ก็ต้องอย่าลืมว่ามีสิ่งที่คนพูดถึงนอกเหนือออนไลน์อยู่ เช่น คนในสังคม เวลาคุณไปกินข้าวข้างนอก กลุ่มเพื่อนคุยอะไรกัน ผมว่าก็เป็นเรื่องที่เอามาเล่นได้เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งประเด็นเล็กๆ อาจจะไม่ได้อยู่ในกระแส แต่เป็นความเดือดร้อนของคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่มีคนสนใจ เราสามารถหยิบเรื่องนี้มาเป็นกระแสด้วยตัวของเราเอง ผมว่าอันนี้น่าสนใจ

 

อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์

 

คนที่ดูรายการ THE STANDARD NOW จะได้อะไร

 

สิ่งหนึ่งที่ผมตั้งใจเอาไว้คืออยากให้ได้มุมมองที่หลากหลาย ผมเชื่อว่าคนจำนวนมากที่มาดูไลฟ์ที่เป็นรายการข่าว หลายๆ คนจะมีธงในใจอยู่แล้วว่าเราเชื่อแบบนี้ เรามีความคิดแบบนี้ เราได้รับข้อมูลข่าวสารมาแบบนี้ สิ่งที่ผมอยากให้คนดูรายการ THE STANDARD NOW ได้จากรายการคือ มุมมองอื่นๆ ที่มันหลากหลาย

 

ผมเข้าใจนะว่าหลายๆ คนอยากจะเสพในมุมมองที่เราเชื่อ ที่เราคิดว่ามันใช่ แต่ลองเปิดใจมองอีกมุมหนึ่งดูว่าอีกมุมมันเป็นอย่างไร แล้วคุณค่อยไปตัดสินเอาเองนะ คือเราไม่มาชี้ถูกชี้ผิดว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี อันนี้ถูก อันนี้ผิด ไม่ เราคุยหลายๆ แบบ หลายๆ มุมมอง แล้วคนที่เข้ามาดู คุณไปเลือกเอาเอง คุณจะยังเชื่อในแบบที่คุณเชื่อมาตลอดไหม หรือพอมาฟังดูแล้วคิดอีกมุมก็ได้เหมือนกันนะ คุณอาจจะเปลี่ยนความคิดไปอีกก็ได้เหมือนกัน

 

เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ผมอยากนำเสนอ คือการแลกเปลี่ยนหลายๆ มุมมอง หลายๆ ความคิด แล้วคนที่มาดู คุณจะได้ความรู้หรือความคิดที่มันหลากหลายมากขึ้น แล้วคุณก็ไปวิเคราะห์พิจารณาเอาเองว่าคุณเชื่อแบบไหน

 

มีคติในการทำงานอย่างไร

 

ยากจังอันนี้ เมื่อก่อนผมมีแนวคิดแบบนี้ เวลาคนถามว่าไอดอลในการทำงานของผมคือใคร มันเป็นอะไรที่ตอบยากพอๆ กับคำถามนี้เลยนะ เพราะว่าสิ่งที่ผมทำงานอยู่ทุกวันนี้ เหมือนเราหยิบมาจากหลายๆ คน เราไม่ได้ดูคนๆ เดียว เราหยิบข้อดีจากหลายๆ คน แล้วมาปรับเป็นตัวเรา แล้วค่อยๆ พัฒนามันขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะเก่งกว่านี้หรือดีขึ้นไปเรื่อยๆ

 

เพราะฉะนั้นคติในการทำงาน เราอยากให้สังคมมันดีขึ้น เรารู้ว่าด้วยตัวเราคนเดียวมันไม่สามารถทำให้สังคมไทยมันดีขึ้นได้หรอก แต่เราสามารถเป็นปากเป็นเสียงที่ทำให้มันเป็นเกิดเสียงสะท้อนหรือฟีดแบ็กของคนในสังคมไปยังคนที่มีอำนาจว่า ตอนนี้เขาเจอแบบนี้ ดี ไม่ดีอย่างไร สิ่งที่ดีทำต่อไป สิ่งที่ไม่ดีก็แก้ไข บางทีแล้วคนธรรมดาที่ไม่ได้มีโอกาสมาพูด มันยากนะ สำหรับประชาชนคนหนึ่งที่อยากจะร้องเรียน เพราะฉะนั้นแล้ว เรามาอยูตรงนี้แล้ว เราอยากให้สังคมมันดีขึ้นในหลายๆ มิติ ในด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ การใช้ชีวิต หรือแม้กระทั่งง่ายๆ รอบๆ ตัว เราว่าเราทำได้ในระดับหนึ่งที่จะทำให้สังคมมันดีขึ้น

 

ความขัดแย้งยุติได้ด้วยการพูดคุยและรับฟังกัน

 

ความขัดแย้งไม่ว่าจะทุกยุคทุกสมัย สุดท้ายมันจบด้วยการคุย ต่อให้คุณจะประท้วงฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ต่อให้รัฐบาลจะสนใจไม่สนใจ ถ้าเราลองมองย้อนกลับไปดู เท่าที่ผมเห็นมาสุดท้ายต่อให้เกิดความรุนแรงหรือไม่รุนแรง มันจะจบที่การคุย คุณจะเอาอะไร แล้วเรามีอะไรจะตอบสนองกับคุณได้บ้าง สุดท้ายมันจบที่การคุยอยู่ดี ไม่ว่าคุณจะทำสงคราม ทุกฝ่ายก็ต้องกลับมาคุย

 

ผมเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองหรือความขัดแย้งเรื่องต่างๆ ของสังคม สุดท้ายมันต้องคุยกัน แต่มันอยู่ที่ว่าทุกๆ ฝ่ายพร้อมที่จะคุยหรือเปล่า แล้วมันไม่ใช่แค่คุย คุยแล้วคุณพร้อมที่จะรับฟัง แล้วนำไปคิดวิเคราะห์ ปรับปรุงแก้ไขกับมันหรือเปล่า บางทีคุยแล้วแต่ไม่ได้ฟัง หรือก็แค่ได้ยิน มันไม่เหมือนกันนะ ได้ยิน ผมก็ได้ยิน แต่คุณเอาไปคิด พิจารณาต่อหรือเปล่าว่ามีปัญหาจริงๆ มันมีปัญหาจริงๆ

 

สุดท้ายแล้วผมว่า ความขัดแย้งทางการเมือง มันจะยุติได้ด้วยการพูดคุยและรับฟังกัน

 

รับชมการสัมภาษณ์ได้ที่ 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising