×

NFT คืออะไร ทำไม ‘Sotheby’s’ บริษัทประมูลผลงานศิลปะเก่าแก่ถึงกล้าเปิดประมูล NFT แถมกวาดรายได้ 525 ล้านบาท

16.04.2021
  • LOADING...
FT คืออะไร ทำไม ‘Sotheby’s’ บริษัทประมูลผลงานศิลปะเก่าแก่ถึงกล้าเปิดประมูล NFT แถมกวาดรายได้ 525 ล้านบาท

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • NFT ก็คือเหรียญดิจิทัลอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นใดได้ และวางตัวเองอยู่บนบล็อกเชนอีเทอเรียม 
  • NFT ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลงานสร้างสรรค์ใน ‘เวอร์ชันดิจิทัล’ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด งานศิลปะ วิดีโอ ไฟล์ GIF เพลง ดนตรี (ส่วน The Verge ให้คำจำกัดความที่ง่ายกว่านั้น กล่าวคือ NFT เป็นดิจิทัลอาร์ต)
  • เคส NFT ล่าสุดที่ถูกจับตาจากผู้คนทั่วโลกคือกรณีของ ‘Sotheby’s’ บริษัทประมูลผลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งปิดการประมูลผลงานศิลปะแบบดิจิทัลไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา

 

ในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับความนิยมไม่ได้มีแค่ บิตคอยน์ (BTC), อีเทอเรียม (ETH), ไบแนนซ์ (BNB) หรือที่กำลังเป็นกระแสสุดๆ อย่าง ดอดจ์คอยน์ (DODGE) เท่านั้น 

 

เพราะในช่วงที่ความนิยมของสินทรัพย์รูปแบบดิจิทัลพุ่งพรวด ‘NFT’ หรือโทเคนดิจิทัลในรูปแบบเหรียญ Non-Fungible Token ก็เริ่มเข้ามาได้รับกระแสความสนใจบนหน้าสื่อ โดยเฉพาะการส่งกลิ่นเย้ายวนใจบรรดานักสะสมผลงานศิลปะ และนักลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่างๆ

 

ก่อนจะร่ายยาวปรากฏการณ์ความ Hype บ้าคลั่ง และกระแสความสนใจที่มีต่อ NFT เรามาทำความรู้จักกับเจ้าเหรียญดิจิทัลรูปแบบนี้กันแบบรวบรัด กระชับก่อนว่า มันคืออะไร

 

NFT คืออะไร

NFT ก็คือเหรียญดิจิทัลอีกรูปแบบหนึ่งที่มีความเฉพาะตัว ไม่สามารถทดแทนหรือแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่นใดได้ และวางตัวเองอยู่บนบล็อกเชนอีเทอเรียม 

 

เทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพมากขึ้นตัวอย่างก็เช่น บิตคอยน์ เป็น Fungible สามารถทดแทนด้วยการแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นๆ หรือเงินดิจิทัลสกุลอื่นได้ ซึ่งคุณก็จะได้เงินดิจิทัลหรือเงินจริงๆ ในมูลค่าเทียบเท่ากันออกมาแทนเมื่อทำการแลกเปลี่ยนออกมา แต่นั่นไม่ใช่กับ NFT เพราะมันมีเพียงชิ้นเดียวในโลก สิทธิ์ของการถือครองผลงานชิ้นนั้นๆ เป็นของเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขข้อตกลงการซื้อขายด้วย (จะอธิบายขยายความเพิ่มในพารากราฟถัดๆ ไป)

 

โดยที่ NFT ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลงานสร้างสรรค์ใน ‘เวอร์ชันดิจิทัล’ ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย ภาพวาด งานศิลปะ วิดีโอ ไฟล์ GIF เพลง ดนตรี (ส่วนใหญ่มักจะเป็นผลงานศิลปะ) ส่วน The Verge ให้คำจำกัดความที่ง่ายกว่านั้น กล่าวคือ NFT เป็นดิจิทัลอาร์ต หรืองานศิลปะแบบดิจิทัลรูปแบบหนึ่งนั่นเอง (Digital Art)

 

ดังนั้น มูลค่าของมันจึงถูกประเมินและตีตราด้วย ‘ความพึงพอใจ’ ระหว่างเจ้าของผลงาน และผู้ซื้อหรือผู้ประมูล ซึ่งเมื่อผลงานชิ้นนั้นๆ ถูกจำหน่ายออกไปแล้ว เจ้าของใหม่ที่เป็นคนซื้อไปก็จะได้ ‘สิทธิ์’ การครอบครองผลงานดิจิทัลชิ้นดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียว และสามารถจำหน่ายต่อหรือเก็งกำไรเพิ่มเติมในอนาคตได้

 

แต่ในความหมายนี้คือ การเป็นเจ้าของผลงานดิจิทัลไม่ได้ครอบคลุมถึงสิทธิ์การเป็นเจ้าของผลงานทั้งหมดเลยซะทีเดียว เพราะตัวศิลปินที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นๆ ขึ้นมาก็ยังสามารถต่อยอดสร้างรายได้จากมันในรูปแบบสินค้า Physical ที่สามารถจำหน่ายและจับต้องได้ในโลกจริงๆ ได้ด้วยตัวเอง (การเป็นสิทธิ์เจ้าของแต่เพียงผู้เดียวของ NFT จะครอบคลุมเฉพาะบนดิจิทัลเท่านั้น)

 

เอ้า แล้วแบบนี้ ถ้าเราซื้อผลงานศิลปะแบบ NFT สักชิ้น เป็นเจ้าของสิทธิ์ผลงานดังกล่าวบนโลกดิจิทัลด้วยตัวเอง แล้วภาพหรือผลงานชิ้นนั้นๆ ยังถูกดาวน์โหลดโดยคนอื่นได้อีกหรือเปล่าล่ะ

 

คำตอบคือ ‘ยังทำได้’ คนอื่นก็ยังคงสามารถกดคลิก Save as ดาวน์โหลดผลงาน

ศิลปะ ภาพ วิดีโอ ฯลฯ ที่เราเป็นเจ้าของได้ตามปกติ หากมีการนำมาเผยแพร่ แต่พวกเขาก็ไม่ได้ ‘สิทธิ์’ การเป็นเจ้าของผลงานชิ้นนั้น และการเป็นเจ้าของเหรียญโทเคนผลงานชิ้นดังกล่าวบนบล็อกเชนอย่างเต็มภาคถูมิ

 

เพราะฉะนั้นแล้ว NFT จึงเป็นหนึ่งในของสะสมที่เรียกได้ว่า คนซื้อต้องรัก ต้องชอบ ต้องชื่นชม และเข้าใจรูปแบบเทคโนโลยีของมันจริงๆ ถึงจะเข้าถึงและเข้าใจมัน ซึ่งนอกเหนือจากคุณค่าทางใจ และนิยาม ‘ของมันต้องมี’ ที่เจ้าของจะได้รับแล้ว หากผลงานหรือชิ้นงานนั้นๆ ได้รับความสนใจมากขึ้นในอนาคต ตัวผู้ถือครองก็สามารถจำหน่ายมันเพื่อเก็งกำไรในอนาคตได้อีกต่างหาก 

 

ส่วนตัวศิลปินเอง ต้องบอกว่านี่คือช่องทางและวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างมหาศาล แถมยังมีฟีเจอร์ที่ช่วยให้ศิลปินได้รับส่วนแบ่งรายได้ ในทุกๆ ครั้งที่ผลงานของพวกเขาถูกเปลี่ยนมือเจ้าของ ขายต่อ (เคสของ Beeple จะได้รับส่วนต่าง 10% จากทุกๆ ครั้งที่ผลงานศิลปะของเขาถูกขายออกไป)

 

ผลงานศิลปะ The First 5000 Days ที่ถูกขายแบบ NFT ไปที่ราคา 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภาพ: Beeple / Christies

 

ปรากฏการณ์ NFT ที่เกิดขึ้นทั่วโลก

วกกลับมาที่กระแสความสนใจที่โลกมีต่อผลงาน NFT กันบ้าง ความน่าสนใจของ NFT ทวีคูณความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาตั้งแต่เปิดศักราชที่ผ่านมา และเข้าสู่จุดหักศอกนับตั้งแต่กรณีของ ไมค์ วินเคลมันน์ หรือ Beeple ศิลปินนักวาดภาพประกอบแนว Satire จิกกัดสังคม การเมือง ประเด็นระดับประเทศ ผ่านป๊อปคัลเจอร์ ตัวการ์ตูนคาแรกเตอร์ต่างๆ ซึ่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาสามารถขายผลงานดิจิทัลของตัวเอง ‘The First 5000 Days’ ที่ใช้เวลารังสรรค์นานถึง 13 ปีบนช่องทาง Christie’s ได้สำเร็จ และไม่ใช่แค่สำเร็จธรรมดาๆ ทั่วๆ ไป เพราะสามารถกวาดรายได้เข้ากระเป๋าไปทั้งสิ้น 69.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.17 พันล้านบาท 

 

ตัวเลขรายได้ดังกล่าวยังนับเป็นสถิติการประมูลขายผลงานบน NFT ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับจนถึงขณะนี้ (16 เมษายน 2021) และได้รับการขนานนามว่าเป็นผลงานศิลปะ (นับรวมออนไลน์และออฟไลน์) ของศิลปินที่ยังคงมีชีวิตอยู่ซึ่งถูกประมูลขายด้วยราคาที่สูงเป็นลำดับสามของโลก ต่อจากผลงานปะติมากรรมกระต่ายสเตนเลสสีวับวาว ‘Rabbit’ โดย เจฟฟ์ คูนส์ ที่ถูกขายไปในราคา 91.1 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019

 

และผลงาน Portrait of an Artist (Pool with Two Figures) โดย เดวิด ฮอกนีย์ ที่ถูกจำหน่ายที่ราคา 90.3 ล้านดอลลาร์ ในปี 2018

 

จริงอยู่หากมองในแง่มูลค่า The First 5000 Days ยังคงห่างไกลจาก Rabbit และ Portrait of an Artist อยู่พอสมควร แต่หากเปรียบเทียบในมุมมองที่ว่า ชิ้นงานของ Beeple เป็นผลงานดิจิทัลที่ ‘ไม่สามารถจับต้องได้จริงๆ’ ต่างจากประติมากรรมและงานอะคริลิกสีสันฉูดฉาดบนแคนวาส ก็ต้องยอมรับว่า งานศิลปะแบบ NFT กำลังได้รับความนิยมากขึ้นเรื่อยๆ จริง

 

ฟาก แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ก็เพิ่งขายทวีตข้อความแรกของเขา ‘just setting up my twttr’ ซึ่งมีอายุกว่า 15 ปี ในรูปแบบ NFT ให้กับนักธุรกิจชาวมาเลเซีย ด้วยเงินมูลค่า 2.9 ล้านดอลลาร์

 

 

ส่วนศิลปินชื่อดัง The Weeknd ก็ไม่ยอมตกขบวนกับเขาด้วย เพราะได้ประกาศว่าจะเปิดให้มีการประมูลผลงานเพลงและอาร์ตเวิร์กของเขา ‘Acephalous’ แบบ NFT เอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะบน Nifty Gateway ซึ่งจะเป็นการเปิดขายแบบพิเศษในระยะเวลาที่จำกัด โดยที่ผลงานเพลงดังกล่าวจะเป็นของผู้ชนะการประมูลรายเดียวเท่านั้น ซึ่งฝั่ง The Weeknd ก็ให้สัญญาไว้ด้วยว่า เขาจะไม่ปล่อยผลงานเพลงดังกล่าวออกมาผ่านช่องทางใดๆ ก็ตามในอนาคต 

 

เคสที่ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยก็คือรายของ บริษัท วิธิตากรุ๊ป จำกัด ที่ได้เปิดขายปกนิตยสารการ์ตูน ‘ขายหัวเราะ’ เล่มแรกที่ตีพิมพ์เมื่อปี 1973 พร้อมลงนาม วิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการของขายหัวเราะ ณ เวลานั้น แบบ NFT ซึ่งถูกขายไปในราคาประมาณ 17.3 ETH (34,492.74 ดอลลาร์) หรือราว 1.06 ล้านบาท

 

หนึ่งในผลงานศิลปะผลงานของศิลปินดิจิทัล Pak ที่เปิดประมูลขายแบบ NFT ผ่าน Sotheby’s 

ภาพ: Sotheby’s 

 

แม้แต่บริษัทประมูลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ยังเอากับเขาด้วย!

เคส NFT ล่าสุดที่ถูกจับตาจากผู้คนทั่วโลกคือกรณีของ ‘Sotheby’s’ บริษัทประมูลผลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งปิดการประมูลผลงานศิลปะแบบดิจิทัลไปสดร้อนๆ เมื่อวันพุธที่ 14 เมษายนที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น (งานประมูลจัดขึ้นแบบดิจิทัลเป็นระยะเวลารวม 3 วัน) โดยกวาดรายได้รวมทั้งหมดจากการเปิดประมูลแบบ NFT ไปเบ็ดเสร็จที่ประมาณ 16.8 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 525 ล้านบาท

 

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่แค่มูลค่าการประมูลที่สูงเพียงอย่างเดียว เพราะ Sotheby’s ถือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการด้านการประมูลผงานศิลปะที่ได้รับการเชื่อถือและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 267 ปี (เริ่มก่อตั้งในปี 1744) 

 

ดังนั้น การที่พวกเขาพาตัวเองเข้ามาสู่โลกของ NFT เช่นนี้ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากการที่องค์กรเก่าแก่ ดูโบราณ อยู่มานาน กล้าที่จะลุกขึ้นมาทรานส์ฟอร์มตัวเองจากปู่ทวดยายทวดให้กลายเป็น ‘หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่’ ที่เป็น Tech Savvy หรือ Technology Adopter ตามเกม ตามความเปลี่ยนแปลงทันอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

 

เมื่อวานนี้ (15 เมษายน) ชาร์ลส์ สจวร์ต (Charles Stewart) ซีอีโอของ Sotheby’s ได้ให้สัมภาษณ์กับ CNN ถึงมุมมองที่ตัวเขาในฐานะผู้นำบริษัทจัดการประมูลผลงานศิลปะมีต่อ NFT โดยบอกว่า สาเหตุที่เขาขยับพา Sotheby’s มาลองสูดอากาศในโลก NFT เป็นเพราะเขามองเห็นถึงโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของเขาในระยะยาว

 

ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่เขาได้มากกว่านั้นคือการพาตัวเองไปทำความรู้จักกับบรรดาศิลปิน นักลงทุน นักสะสมผลงานศิลปะหน้าใหม่ที่อาจจะไม่เคยรู้จัก Sotheby’s มาก่อน เพื่อขยายฐานลูกค้าให้สดใหม่และกว้างขึ้นกว่าเดิม

 

ในแง่ของผู้ซื้อที่เขามาประมูลผลงานศิลปะ NFT ของ Sotheby’s นั้น ส่วนใหญ่สจวร์ตบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่เป็นนักลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบคริปโตเคอร์เรนซีอยู่แล้ว โดยตลอดระยะเวลา 3 วันของการเปิดประมูล มีผู้ให้ความสนใจเข้ามาร่วมประมูลมากกว่า 3,000 ราย

 

“ธุรกิจที่เราทำอยู่นั้นแทบจะเป็นชุมชนงานศิลปะแบบที่จับต้องได้เกือบจะทั้งหมด และแน่นอนว่าในอนาคตมันก็จะยังคงดำเนินต่อไปเช่นนั้น แต่สิ่งที่ผมจะบอกได้ก็คือ เราเชื่อว่า NFT จะเป็นที่รวมตัวของ ‘ชุมชนผู้ซื้อผลงานศิลปะรายใหม่ๆ’ ซึ่งมีขนาดใหญ่ เป็นที่ที่รวมตัวของคนที่มีแพสชันข้นคลั่ก ผูกติดกับมัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจที่เราต้องติดตาม

 

“มันมีการเปรียบเทียบในแง่ที่ว่า ยุค 70 และ 80 คือยุคที่งานสตรีทอาร์ตได้รับความนิยมอย่างพุ่งพล่าน ซึ่งในขณะเดียวกัน ‘งานดิจิทัลอาร์ต’ ก็ดูจะได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในช่วงปีนี้

 

“สำหรับผม ตลาดตอนนี้ยังเป็นช่วงเริ่มต้นเท่านั้น และก็ค่อนข้างชัดเจนว่ามันยังผันผวนอยู่ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซี ซึ่งถ้าคุณบอกผมได้ว่ามูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะไปอยู่ที่ตรงไหน ผมก็คงบอกคุณได้เช่นกันถึงมุมมองที่มีต่อ NFT เนื่องจากมันผูกติดกันอยู่นั่นเอง

 

“แต่สิ่งที่มีต่อมันก็คือ NFT เป็นตลาดที่น่าสนใจ เป็นการแพร่กระจาย (คล้ายๆ การตีความแบบ DeFi) และยังทรงพลังสุดๆ ซึ่งไอเดียการเป็นเจ้าของของบล็อกเชน และการรองรับความถูกต้องก็มีโอกาสที่จะเข้ามาจับกับผลงานศิลปะทั้ง Physical และดิจิทัล ซึ่งผมเชื่อว่า NFT ก็จะเติบโตและพัฒนาไปอีกหลายปีต่อจากนี้”

 

แม้คำตอบของซีอีโอ Sotheby’s อาจจะไม่ได้ครอบคลุมหรือคลายความสงสัยที่ผู้คนมีต่อ NFT ทั้งหมดเลยซะทีเดียว แต่ก็พอจะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่บริษัททำงานด้านศิลปะแบบ Physical และการประมูลมีต่อมันได้เป็นอย่างดี

 

แม้แต่งานสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะในวันนี้ที่ครั้งหนึ่งผู้คนเคยมองว่าอย่างไร AI ก็ยังไม่สามารถทำงานด้านสร้างสรรค์ได้เทียบเท่ากับมนุษย์ แต่มาวันนี้ก็ยังถูกดิสรัปต์โดยช่องทาง เทคโนโลยีอย่างบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซีได้เลย

 

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่า มองเห็นอะไรในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ระหว่าง ‘โอกาส’ และ ‘ความกลัว’ รวมถึงจะยอมอยู่เฉยๆ ปล่อยให้กระแสพัดมาแล้วผ่านไป หรือจะจับมันไว้ให้อยู่หมัด ลองเข้าไปศึกษาเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการต่อยอดสร้างประโยชน์จากมันในอนาคต

 

รู้อะไรไม่สู้ ‘รู้งี้’ อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งใครหลายคนก็เคยนั่งเสียดาย นั่งไล่ดู New High และมูลค่าย้อนหลังของบิตคอยน์กันมาแล้ว!

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X