การฉีดวัคซีนเป็นความหวังของหลายประเทศในการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรง แต่หนึ่งในคำถามสำคัญที่เกิดขึ้น นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน คือเป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว?
คำตอบคือ ‘เป็นไปได้’ แต่ผลการศึกษาวิจัยชี้ว่าโอกาสนั้นค่อนข้างต่ำมาก อาจจะเพียงเศษเสี้ยวของ 1% ซึ่งกรณีการติดเชื้อนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพสูงก็ตาม
แอนโทนี เฟาชี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐฯ กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีน (Breakthrough Infection) ว่าไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ หากมีการฉีดวัคซีนประชาชนจำนวนหลายล้านคน
“คุณจะเห็นการติดเชื้อภายหลังฉีดวัคซีน ในการฉีดวัคซีนใดๆ เมื่อคุณฉีดวัคซีนให้กับผู้คนนับสิบและหลายสิบล้านคน ดังนั้นในบางกรณีจึงไม่น่าแปลกใจ” เขากล่าว
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาด (CDC) ของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานประเมินประสิทธิภาพวัคซีนชนิด mRNA เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา พบว่าการฉีดวัคซีนชนิด mRNA ครบ 2 โดส จะช่วยป้องกันการติดโควิด-19 ได้ถึง 90% เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ซึ่งการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 คือการได้รับวัคซีนครบเต็มโดส และเต็มประสิทธิภาพ
แต่จากการศึกษาวิจัยของ CDC พบว่าในจำนวนผู้ที่รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส จำนวน 2,479 คน มี 3 คนที่ยืนยันว่ากลับมาติดเชื้ออีกครั้ง แต่แพทย์ชี้ว่าสิ่งสำคัญคือ ถึงแม้จะมีผู้กลับมาติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนครบ 2 โดส แต่กรณีการติดเชื้อที่พบนั้นมีแนวโน้มที่จะไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง
อะไรคืออัตราประสิทธิภาพแท้จริงของวัคซีน
ที่ผ่านมาเราอาจจะได้ยินรายงานข่าวมากมายเกี่ยวกับอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งในกรณีของวัคซีนจาก Pfizer-BioNTech และ Moderna ที่เป็นวัคซีนแบบ 2 โดส พบว่าอัตราประสิทธิภาพที่ได้จากการทดลองทางคลินิก หรือการทดลองในคนนั้นสูงถึงราว 95% ส่วนวัคซีนของ Johnson & Johnson ที่เป็นแบบ 1 โดสนั้น มีอัตราประสิทธิภาพอยู่ที่ 72%
ซึ่งหากอัตราประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 95% เราอาจอนุมานได้ว่า ประชาชน 5 คน จาก 100 คน ที่ได้รับการฉีดวัคซีนจะติดเชื้อได้อีก
แต่นั่นไม่ใช่ตัวเลขที่แน่นอน โดย แอนนา วาลด์ แพทย์โรคติดเชื้อและนักระบาดวิทยาแห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ชี้ว่าข้อมูลจริงจากการทดสอบทางคลินิกโดย Pfizer และ Moderna แสดงให้เห็นว่าเปอร์เซ็นต์ที่ผู้ได้รับวัคซีนกลับมาติดเชื้อต่ำกว่านั้นมาก อยู่ที่ราว 0.4% เท่านั้น
ซึ่งประสิทธิภาพจริงของวัคซีน คำนวณโดยการเปรียบเทียบจากคนในการทดลองที่ได้รับวัคซีนกับผู้ที่ได้รับยาหลอก
“ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โอกาสติดเชื้อของคุณก่อนหน้านี้ ในตอนนี้ลดลงแล้ว 95%” วาลด์ กล่าว
ขณะที่ยังมีสองสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน อย่างแรกคือไม่มีผู้ร่วมการทดลองคนใดที่ได้รับวัคซีนที่อนุมัติใช้งานแล้วเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งหมายความว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเสียชีวิตได้ 100%
ส่วนอย่างที่สองคือ การทดลองวัคซีนนั้นถูกออกแบบเพื่อประเมินว่าวัคซีนสามารถป้องกันการป่วยเป็นโควิด-19 ได้หรือไม่ ดังนั้นนักวิจัยจึงทำการทดสอบเฉพาะผู้ที่มีอาการ หมายความว่าประสิทธิภาพวัคซีนที่ได้จากการทดลองนั้น ไม่สะท้อนว่าวัคซีนป้องกันกรณีการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้ดีแค่ไหน
กรณีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเกิดขึ้นได้ยากมาก
การที่หลายประเทศเริ่มอนุมัติใช้งานวัคซีน และมีการฉีดให้ประชาชนแล้วหลายล้านคน จะช่วยให้นักวิจัยสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพวัคซีนในการใช้งานจริงได้ อีกทั้งยังตรวจสอบได้ว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการได้หรือไม่
จากการศึกษาวิจัยขั้นต้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพวัคซีนในการใช้งานจริง จนถึงตอนนี้ พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อทั้งแบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการ
ขณะที่ผลการวิจัยสองรายการที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine ชี้ว่ากรณีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเต็มโดสนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก ซึ่งการวิจัยฉบับแรกพบว่าพนักงาน 4 คน จาก 8,121 คนของศูนย์การแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสเซาท์เวสเทิร์นในดัลลัส ตรวจพบว่าติดเชื้อหลังจากที่ฉีดวัคซีนครบโดส ส่วนอีกการวิจัยพบว่า เจ้าหน้าที่สาธารณสุขรัฐแคลิฟอร์เนีย 7 คน จาก 14,990 คน มีผลตรวจเชื้อเป็นบวก ในช่วง 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2
ซึ่งทั้งสองงานวิจัยนั้นพบว่า โอกาสที่จะติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนเต็มโดสมีเพียงประมาณ 0.05% เท่านั้น
ปัจจัยอะไรที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน?
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนในการใช้งานจริง และโอกาสที่จะเกิดกรณีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีน ได้แก่
- การบริหารจัดการฉีดวัคซีนไม่สมบูรณ์หรือเกิดความผิดพลาด เช่น ให้วัคซีนไม่ครบในแต่ละโดส
- บุคคลที่มีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
- การกลายพันธุ์ของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
หน้ากากอนามัย การรักษาระยะห่าง ช่วยอุดช่องโหว่
ถึงแม้ว่ากรณีการติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ถือเป็นช่องโหว่ที่ทำให้ CDC ของสหรัฐฯ ต้องสนับสนุนชาวอเมริกันให้ยังคงระวังตนเอง และป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด ล้างมือบ่อยๆ และรักษาระยะห่าง จนกว่าจะมีประชากรฉีดวัคซีนมากเพียงพอที่จะเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หรือ Herd Immunity เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นความหวังที่ต้องใช้ระยะเวลาอีกไม่น้อย
ภาพ: Joe Raedle / Getty Images
อ้างอิง: