×

รพ.เอกชน พร้อมสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จี้ อย. เร่งขึ้นทะเบียนยี่ห้ออื่น เพิ่มทางเลือกประชาชน

12.04.2021
  • LOADING...
รพ.เอกชน พร้อมสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จี้ อย. เร่งขึ้นทะเบียนยี่ห้ออื่น เพิ่มทางเลือกประชาชน

นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG กล่าวว่า เครือธนบุรีได้ดำเนินการยื่นเอกสารแก่ทางการ เพื่อขอนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว หลังจากที่ภาครัฐเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้เมื่อไม่นานมานี้ ขณะเดียวกัน เตรียมจะสั่งนำเข้าวัคซีนของ Sinovac และ Sinopharm จำนวน 3 ล้านโดส

 

โดยเครือธนบุรีได้รับการติดต่อขอฉีดวัคซีนจากลูกค้าที่เป็นบริษัทเอกชนและบริษัทประกันภัยจำนวนมาก ทั้งนี้ หากหน่วยงานรัฐออกใบอนุญาตนำเข้าได้ภายใน 1 เดือน หรือเร็วกว่านี้ ก็จะดำเนินการนำเข้าและเริ่มจำหน่ายกับผู้ที่ส่งยอดจองเข้ามาได้ทันที

 

นอกจากนี้ เครือธนบุรียังมองหาโอกาสในการนำเข้าวัคซีนจากผู้ผลิตรายอื่นด้วยเช่นกัน เช่น Pfizer, Moderna และ AstraZeneca อย่างไรก็ตาม หน่วยงานรัฐต้องเร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนรับรองวัคซีนอย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อน จึงจะสามารถนำเข้ามาฉีดแก่ประชาชนได้ 

 

อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการต่างๆ มีความล่าช้า ก็จะเสนอให้รัฐบาลนำวัคซีน AstraZeneca ที่ผลิตในไทยมาฉีดให้กับคนในประเทศก่อน อย่างน้อย 40 ล้านโดสแรก

 

ในส่วนของการจัดสรรวัคซีนนั้น เครือธนบุรีแนะนำมาตลอดว่าควรจะฉีดให้กับบุคคลที่ต้องเผชิญความเสี่ยงและบุคคลทั่วไปควบคู่กันไป จึงจะเป็นแนวทางป้องกันที่ดีที่สุด อย่างน้อยก็ป้องกันการแพร่ระบาดและตัวเลขผู้ติดเชื้อเอาไว้ได้ และจะเกิดประสิทธิภาพดีที่สุดหากประเทศไทยฉีดวัคซีนให้ประชาชนไทย และแรงงานต่างด้าวในไทยรวมเป็น 45 ล้านคน

 

ในส่วนของราคาจะขึ้นนั้น จะเป็นราคาเดียวกับที่รัฐบาลนำเข้ามา โดยโรงพยาบาลเอกเชนไทยอาจจะเพิ่มค่าบริการฉีดไปอีก 100-200 บาทต่อเข็ม แต่ก็จะเป็นราคาที่เข้าถึงได้ 

 

นพ.กำพล พลัสสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.โรงพยาบาลจุฬารัตน์ หรือ CHG กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเปิดให้ทางให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ ทาง CHG ก็จะยื่นขอนำเข้าหลายแสนโดส หลังจากที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการโรงพยาบาลแสดงความต้องการกันเป็นจำนวนมาก

 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน กระบวนการที่ติดขัดอยู่คือนำเข้าวัคซีนโดยหน่วยงานกลางของภาครัฐ ซึ่งค่อนข้างล่าช้า และยี่ห้อวัคซีนยังมีน้อย ทำให้ผู้รับวัคซีนในประเทศไม่มีทางเลือก ซึ่งอาจส่งผลไปถึงราคาในการเข้ารับบริการได้ 

 

ทั้งนี้ อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำเข้าวัคซีนอย่างรวดเร็ว ในปริมาณที่เพียงพอต่อการกระจายสู่ประชาชน เพราะเชื่อว่าคนไทยหลายกลุ่มมีความพร้อมที่จะเข้าใช้บริการด้วยตัวเอง ไม่รอการจัดสรรจากรัฐ นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ควรเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนต้านโควิด-19 จากผู้ผลิตอื่นๆ เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนไทยอย่างแท้จริง

 

“แม้รัฐจะบอกว่าเปิดทางให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้า แต่ในความเป็นจริง โรงพยาบาลเอกชนไม่ได้นำเข้าโดยตรง เพราะผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ทั่วโลก ขายให้เฉพาะ G to G เท่านั้น เนื่องด้วยผู้ผลิตวัคซีนไม่มีนโยบายรับประกันประสิทธิภาพวัคซีนหลังจากฉีด รัฐบาลของแต่ละประเทศผู้ซื้อต้องเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงนี้เอง ฉะนั้น การนำเข้าโดยโรงพยาบาลเอกชนครั้งนี้ ในทางปฏิบัติคือรัฐไทยต้องเป็นตัวแทนนำเข้า และโรงพยาบาลเอกชนก็ซื้อต่อภาครัฐอีกที” 

 

ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี หรือ VIBHA กล่าวว่า ทางเครือโรงพยาบาลมีความพร้อมนำเข้าวัคซีนมาให้บริการแก่ประชาชน แต่เบื้องต้นต้องพิจารณาในเรื่องเวลาที่วัคซีนจะมาถึงประเทศไทยและราคา เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะนำเข้ามาเท่าไร แต่เบื้องต้นได้รับการติดต่อสอบถามจากผู้ใช้บริการของเครือโรงพยาบาลจำนวนมาก 

 

ขณะที่แหล่งข่าววงการแพทย์กล่าวว่า เท่าที่ทราบข้อมูล วัคซีนที่จะให้โรงพยาบาลเอกชนซื้อต่อจากภาครัฐที่เป็นตัวแทนนำเข้า น่าจะมาถึงไทยราวปลายปีนี้ จากนั้นจะจัดสรรให้กับโรงพยาบาลเอกชนตามสัดส่วนที่ขอซื้อไว้ โดยปัจจุบันมีวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียน อย. คือ Sinovac และได้ทราบข้อมูลว่าเร็วๆ นี้ อย. น่าจะขึ้นทะเบียนวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ แบบฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลไทยสามารถนำเข้าวัคซีนได้หลายยี่ห้อมากขึ้น เพิ่มทางเลือกให้กับภาคประชนชน  

 

ธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.พริ้นซิเพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอองค์การเภสัชกรรมติดต่อและพยายามขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น เพื่อนำเข้ามาและขายให้เอกชนอีกต่อหนึ่ง ซึ่งขณะนี้วัคซีนที่นำเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ 2 บริษัท คือ AstraZeneca จำนวน 61 ล้านโดส และ Sinovac 2 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส สามารถฉีดให้คนไทยได้ 31.5 ล้านคน แต่เราต้องฉีดประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้นเราจึงขาดวัคซีนอยู่อีกราว 10 ล้านโดส 

  

ส่วนกรณีการนำเข้า ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะไม่ใช้วัคซีนของ 2 บริษัทดังกล่าว (Sinovac และ AstraZeneca) แต่เป็นบริษัทอื่น เช่น Johnson & Johnson ซึ่ง อย. เพิ่งขึ้นทะเบียน และเร็วๆ นี้ ส่วนวัคซีนของ Moderna จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทต่อไป ขณะที่จากการหารือภายในกับทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เห็นตรงกันในการนำเข้าวัคซีน Sinopharm จำนวน 5 ล้านโดส แบบฉีด 2 โดสต่อคน ซึ่งราคาขึ้นกับต้นทุนที่ได้มา คาดราคาจำหน่ายอยู่ระหว่าง 1,000-1,500 บาทต่อโดส

 

ด้าน ดร.สิทธิวัตน์ กำกัดวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โรงพยาบาลอินเตอร์เมดิคัล แคร์ แอนด์ แล็บ หรือ IMH กล่าวว่า ขณะนี้ IMH อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรในการรับช่วงต่อการฉีดวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหากดีลดังกล่าวสำเร็จ ก็จะส่งผลให้ IMH เป็นหนึ่งในผู้นำการให้บริการแบบครบทุกมิติ ทั้งด้านการตรวจเชื้อและฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมถึงยังมีโรงพยาบาลประชาพัฒน์ที่คอยให้บริการผู้ป่วยอีกด้วย   

 

ส่วนการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลพบว่า ส่วนใหญ่เริ่มถูกแรงเทขายทำกำไรในช่วงการซื้อขายภาคบ่าย มีเพียง 3 บริษัท ที่สามารถปิดตลาดในแดนบวก คือ บมจ.เชียงใหม่รามธุรกิจการแพทย์ (CMR) +4.24%, บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) +8.65% และ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) +3.11%

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X