×

ฮิเดกิ มัตสึยามะ กับ ‘แจ็กเก็ตเขียว’ ความฝันและพันธนาการที่แสนยาวนานของชายชาวญี่ปุ่น

12.04.2021
  • LOADING...
ฮิเดกิ มัตสึยามะ

ภาพของ ฮิเดกิ มัตสึยามะ ที่สวมเสื้อ ‘แจ็กเก็ตเขียว (Green Jacket)’ อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้ชนะการแข่งขันกอล์ฟรายการ เดอะ มาสเตอร์ส 1 ใน 4 สุดยอดรายการของโลก เป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้แก่ผู้คนมากมายที่ได้ทราบข่าว

 

ไม่แปลกครับ เพราะนี่คือครั้งแรกที่ชาวญี่ปุ่นสามารถพิชิตแชมป์ระดับเมเจอร์ได้ แถมเป็นรายการเก่าแก่ที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลังมากที่สุดอย่าง เดอะ มาสเตอร์ส ที่สนามออกัสตา เนชันนัล กอล์ฟ คลับ

 

แต่แน่นอนว่าคนที่ดีใจมากที่สุดกับความสำเร็จครั้งนี้ของมัตสึยามะคือชาวญี่ปุ่นเอง เพราะการได้เห็นโปรเลือดซามูไรประกาศศักดาในรายการระดับเมเจอร์เป็นความฝันอันยาวนานของพวกเขาครับ

 

ที่แดนอาทิตย์อุทัยนั้น กีฬากอล์ฟถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของชาติ และมีความสำคัญอย่างมากในระดับ ‘วัฒนธรรม’

 

ถ้าใครเคยอ่านมังงะก็จะพบว่า ในหลายๆ เรื่อง ตัวละครที่เป็น ‘คุณพ่อ’  ทั้งหลายก็มักจะต้องหาเวลาไปตีกอล์ฟในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะการตีกอล์ฟนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่กีฬา แต่เป็นเรื่องของมารยาททางสังคม เป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย

 

กอล์ฟกับคนญี่ปุ่นนั้นโค้งคำนับ “คอนนิจิวะ” กันมาตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 แล้วครับ ภายหลังจากที่เริ่มมีชาติตะวันตกเดินทางเข้ามาถึงดินแดนที่ห่างไกลและแยกตัวเป็นอิสระจากโลกภายนอกมายาวนาน

 

ในยุคนั้นเด็กชาวญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งได้รับโอกาสในการเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างแดน เพื่อนำความรู้และสิ่งที่ได้พบเห็นจากชาติตะวันตกกลับมาพัฒนาประเทศชาติของพวกเขา

 

หนึ่งในของฝากที่เด็กรุ่นใหม่เหล่านั้นนำกลับมาด้วยคือการเล่นกอล์ฟ ซึ่งกลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังช่วงปี 1920 ที่มีสนามกอล์ฟเกิดใหม่อย่างมากมาย และมีการก่อตั้งสมาคมกอล์ฟในช่วงเวลานั้นเอง

 

และในทางกลับกัน ชาวญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญกับการก่อตั้งออกัสตา เนชันนัล และรายการกอล์ฟ เดอะ มาสเตอร์ส อันลือลั่นด้วย เพราะหนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกของชมรมคือ เรสุเกะ อิชิดะ ซึ่งเป็นเพื่อนกับ คลิฟฟอร์ด โรเบิร์ตส หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งออกัสตา เนชันแนล กับ บ็อบบี้ โจนส์

 

อิชิดะเป็นชาวญี่ปุ่นที่ทำงานอยู่ในนิวยอร์กให้กับบริษัท Mitsui & Co. และเข้ามาเป็นสมาชิกของชมรมในปี 1934 และในปีเดียวกันนั้นเองที่ บ็อบบี้ โจนส์ ได้เชิญนักกอล์ฟชาวญี่ปุ่น 3 คน มาร่วมแข่งรายการรับเชิญประจำปีของชมรม

 

ทั้งนี้ แม้จะไม่ได้มีนักกอล์ฟชาวญี่ปุ่นมาร่วมแข่งขันในปีดังกล่าว แต่ในอีก 2 ปีต่อมา ชิค ชิน และ ทอร์ชี โทดะ ได้เข้าร่วมการแข่งขันประจำปี ซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนามาเป็นการแข่งขัน เดอะ มาสเตอร์ส จนถึงปัจจุบัน

 

ในญี่ปุ่นเองกอล์ฟได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากที่โปรชาวอเมริกันอย่าง แซม สนีด, อาร์โนลด์ พาลเมอร์ และ แจ็ก นิคลอส ได้เดินทางไปแข่งขันที่ญี่ปุ่น

 

กอล์ฟยังเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาวญี่ปุ่น โดยในช่วงปี 1980 เป็นยุคทองของการเล่นกอล์ฟ ค่าสมาชิกสนามกอล์ฟนั้นเพิ่มสูงขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 1982 จนถึงปี 1989 (เฉพาะในปี 1989 ปีเดียว ค่าสมาชิกเพิ่มขึ้น 190 เปอร์เซ็นต์) 

 

ให้เห็นภาพง่ายขึ้นคือค่าสมาชิกต่อปีในช่วงนั้นสูงถึงปีละ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีคนยอมจ่ายค่าสมาชิกด้วย! ขณะที่ดัชนีหุ้น Nikkei ทะยานไปถึง 39,000 จุด

 

แต่เรื่องดีๆ ทุกเรื่องมีวันจบ เพราะหลังจากนั้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นถึงคราวฟองสบู่แตก ทุกอย่างพังทลาย และในเวลาแค่ 3 ปีต่อมา ดัชนีหุ้นตกลงมาเหลือแค่ 17,000 จุด 

 

และปีนั้น (1992) เอง ก็คือปีที่ ฮิเดกิ มัตสึยามะ เกิด ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกว่า ‘ทศวรรษที่สูญหาย (The Lost Decade)’

 

เมื่อความทรงจำในวันที่แสนดียังฝังแน่นในชีวิตชาวญี่ปุ่น ช่วงเวลาดีๆ ยังไม่ถูกลบเลือน ความคาดหวังจากคนรุ่นก่อนที่อยากสัมผัสกับวันเวลาเก่าๆ จึงถูกส่งต่อมาถึงมือของคนรุ่นใหม่ไปด้วย

 

สำหรับมัตสึยามะ จุดเริ่มต้นของเขามาจากการตีกอล์ฟเล่นกับคุณพ่อ มิคิโอะ มัตสึชิมะ ซึ่งเป็นนักกอล์ฟด้วยเช่นกัน ตั้งแต่ตอนอายุ 4 ขวบที่สนามไดรฟ์ Ocean Golf และได้รับการผลักดันจากครอบครัวให้เอาดีทางนี้อย่างเต็มตัว 

 

และเขาก็ไม่ทำให้ครอบครัวผิดหวัง เมื่อสามารถเติบใหญ่กลายเป็นโปรกอล์ฟที่น่าจับตามอง โดยในปี 2011 ได้เคยสิทธิ์เข้าแข่งขัน เดอะ มาสเตอร์ส ในฐานะมือสมัครเล่น และยิ่งทำให้กลายเป็นที่คาดหวังของผู้คนมากยิ่งขึ้น

 

พูดให้ถูกกว่านั้นคือ ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเขาคือคนที่จะสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยมีนักกอล์ฟเลือดซามูไรคนไหนทำได้สำเร็จ ด้วยการพิชิตแชมป์ในรายการระดับเมเจอร์ได้

 

แต่ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา เพราะน้ำหนักของความคาดหวังนั้นมากกว่าที่มัตสึยามะจะแบกรับได้ไหว

 

ในทุกรายการแข่งขัน มัตสึยามะจะถูกติดตามโดยเหล่ากองทัพนักข่าวสายกอล์ฟชาวญี่ปุ่น ที่จะคอยเกาะติดเขาในทุกฝีก้าว จับตาทุกความเคลื่อนไหว ทำอะไรตรงไหนรู้หมด และพร้อมจะยิงคำถามใส่ไม่หยุด เพื่อนำเรื่องราวกลับมาบอกแฟนๆ ในบ้านเกิดเสมอ

 

มองแง่ดีก็เป็นเรื่องของชื่อเสียงและความนิยม

 

มองในแง่ร้าย สำหรับคนขี้อายอย่างมัตสึยามะ การต้องตอบคำถามไม่รู้จบแบบนี้ทำให้หัวใจของเขาอ่อนแรงลงทุกที

 

และแรงนั้นเคยหมดในปี 2017 ที่เขาเคยเกือบคว้าแชมป์พีจีเอ แชมเปียนชิปได้ แต่สุดท้ายพลาดโอกาสทองไป ซึ่งหลังรู้ตัวว่าเขาทำไม่สำเร็จ เขาไม่สามารถสะกดนำ้ตาต่อหน้ากล้องโทรทัศน์เอาไว้ได้อีกต่อไป

 

อย่างไรก็ดี โควิด-19 ได้มีส่วนช่วยเขาในทางอ้อม เมื่อกองทัพนักข่าวที่เคยเกาะติดทุกฝีก้าวไม่สามารถเดินทางมาทำข่าวการแข่งขันของเขาในรายการที่แสนเคร่งครัดนี้ได้อีกต่อไป เหลือเพียงแค่จำนวนไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังสามารถติดตามได้

 

นั่นทำให้โปรหนุ่มวัย 29 ปี ได้มีช่วงเวลาที่สามารถจดจ่อกับตัวเอง ได้เป็นตัวของตัวเอง และมีสมาธิกับเฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

 

และในที่สุดเขาก็ทำในสิ่งที่ทุกคนคาดหวังได้สำเร็จ

 

ในการตีครั้งสุดท้ายของเขาในรายการนี้ มัตสึยามะทำหน้าที่ของเขาสำเร็จก่อนจะเดินออกจากกรีนโดยมีหยาดน้ำตาเปื้อนหน้า

 

ขณะที่กล้องเกือบทุกตัวกำลังจับทุกอิริยาบถของเจ้าของเสื้อแจ็กเก็ตเขียวคนใหม่ โชตะ ฮายาฟูจิ แคดดี้ประจำตัวของเขา เดินนำธงกลับไปปักที่หลุม

 

ก่อนจะถอดหมวก และโค้งคำนับเป็นการบอกลา

 

ความฝันที่เป็นดั่งพันธนาการที่ยาวนานของชาวญี่ปุ่น บัดนี้พวกเขาได้รับการปลดปล่อยแล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X