วันนี้ (31 มีนาคม) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงกระแสข่าวบนโลกออนไลน์ที่ตั้งคำถามต่อการดำเนินงานของประธานศาลฎีกา ในกรณีที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎรที่ปัจจุบันถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ในวันพรุ่งนี้ตนจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาและร่วมกันลงมติว่าจะเชิญให้ประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวหรือไม่
ซึ่งเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับ กมธ. การกฎหมายฯ หลายราย โดยส่วนใหญ่ กมธ. มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเห็นด้วยที่จะเชิญประธานศาลฎีกาเข้าร่วมการประชุมและชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ศาลฎีกาได้ชี้แจงการทำงานให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจ ว่าเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำคณะราษฎร
ทั้งนี้รังสิมันต์กล่าวว่า จากการตั้งคำถามต่อการดำเนินงานของศาลฎีกาบนโลกออนไลน์นั้น เนื่องจากแกนนำคณะราษฎรในเรือนจำกรุงเทพมหานครต่างไม่มีพฤติกรรมในการหลบหนี และไม่มีพฤติกรรมในการสร้างพยานหลักฐาน จึงเป็นข้อสงสัยว่าเหตุใดศาลฎีกาจึงไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำดังกล่าว หรือศาลฎีกาจะถูกบุคคลภายนอกสั่งการมาอีกทีหนึ่งหรือไม่
ซึ่งภายหลังจากการตั้งคำถามบนโลกออนไลน์ ทางโฆษกศาลฎีกาได้ออกมาแถลงข่าวแล้ว โดยจากการแถลงข่าวในครั้งนั้นถือเป็นการชี้แจงที่สั้นและไม่มีการอธิบายในรายละเอียดอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีประเด็นบางอย่างที่มีการถกเถียงและทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่สบายใจ
“ดังนั้น กมธ. การกฎหมายฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของศาล ควรที่จะเชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงข้อสงสัยต่อสังคมว่าศาลฎีกามีความอิสระในการทำหน้าที่อย่างไร” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม หวังว่า กมธ. การกฎหมายฯ จะทำหน้าที่นี้เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหญ่ที่พี่น้องประชาชนตั้งคำถามต่อความเป็นอิสระของศาลฎีกา และหากประชาชนไม่เชื่อถือในความเป็นอิสระของศาล ความยุติธรรมไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้
พร้อมยืนยันว่าการเชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจ้งในที่ประชุม กมธ. จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม กมธ. และตามรัฐธรรมนูญกำหนด ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการแทรกแซงการทำงานของศาล
รังสิมันต์ยังกล่าวยอมรับภายหลังการเดินทางเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของเรือนจำกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ว่าได้พบกับ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนี้เพนกวินร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปกักขังเขาเลย สามารถที่จะให้ประกันตัวเขาได้ ซึ่งเมื่อประกันตัวแล้วข้อกล่าวหาและกระบวนการพิจารณาก็ยังสามารถทำได้ และที่ผ่านมากลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมีไม่กี่คนที่จะหลบหนี โดยเฉพาะแกนนำ เราแทบจะไม่เห็นเลยว่าเขาจะหลบหนีหรือขอลี้ภัย
“ดังนั้นจึงไม่ควรจะขังเขาแบบนี้ ซึ่งสุดท้ายเมื่อเขาไม่ได้รับการประกันตัว เขาก็ต้องรับสารภาพในสิ่งที่เขาไม่ได้ทำผิด แต่เป็นเพราะกระบวนการบังคับให้เขาสารภาพด้วยความจำนน” รังสิมันต์กล่าวในที่สุด
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ