×

กูรูเศรษฐกิจมองปี ‘61 เอสเอ็มอีต้องปรับตัว ภาคเกษตรยังน่าห่วง

17.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561 ที่ 3.8% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 โดยปัจจัยสำคัญยังเป็นตัวเลขการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว
  • ภาคส่วนที่ยังน่าเป็นห่วงคือภาคการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบหลังการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตได้น้อยกว่าที่คาด
  • ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยหรือเอสเอ็มอี ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่าการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

     สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการ Thailand’s Economic Outlook 2018 หัวข้อ ‘เอส เอ็ม อีไทย ก้าวไปกับไทยแลนด์ 4.0’ ซึ่งมีผู้ว่าแบงก์ชาติ นักเศรษฐศาสตร์มองทิศทางเศรษฐกิจปีหน้าในทุกมิติ

     สำหรับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากงานดังกล่าว สามารถสรุปรวมเป็นประเด็นได้ดังนี้

 

มองจีดีพีปี 2561 โต 3.8%

     ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2561 ที่ 3.8% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 โดยปัจจัยสำคัญยังเป็นตัวเลขการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ปีหน้าจะมีความชัดเจนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐหลายโครงการจะเริ่มต้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณที่ดีสอดคล้องกับการส่งออก ซึ่งสะท้อนผ่านการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักรสำหรับใช้ในภาคการผลิต

     ตรงกับความเห็นของ ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทยที่ยังมองเศรษฐกิจไทย ‘แข็งนอก อ่อนใน’ ซึ่งเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยนอกประเทศทำให้ตัวเลขการส่งออกเติบโต คาดว่าจะขยายตัว 8-9% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าอาจจะไม่ได้เติบโตไปกว่าเดิมเท่าใดนัก เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่เริ่มทรงตัว

     ด้าน ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) มองว่าเศรษฐกิจไทยยังโตแบบกระจุกเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ยังได้ประโยชน์มากกว่าขนาดเล็กซึ่งเป็นฐานใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ

 

 

กำลังซื้อของคนในประเทศยังแผ่ว

     ผู้ว่าแบงก์ชาติมองภาคส่วนที่ยังน่าเป็นห่วงคือภาคการเกษตร เนื่องจากได้รับผลกระทบหลังการยกเลิกมาตรการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับภาวะภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตได้น้อยกว่าที่คาด กระทบรายได้และทำให้ภาระหนี้ของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาสำคัญ ทั้งนี้ประเทศไทยมีระดับของหนี้ครัวเรือนสูงติดอันดับโลก และยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจของไทยแม้มีแนวโน้มฟื้นตัวแต่ก็ยังถือว่าเปราะบาง

     ส่วน ดร.อมรเทพ มองว่าขณะนี้กำลังซื้อของคนในประเทศยังอ่อนแอ ประชาชนยังระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งถ้าประชาชนในระดับฐานรากกำลังซื้อไม่ดีก็จะส่งผลกระทบกับบรรดาผู้ประกอบการได้

 

เอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัว อุดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

     สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยหรือเอสเอ็มอี ผู้ว่าแบงก์ชาติมองว่าการแข่งขันในตลาดจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและลดต้นทุนการผลิต

     อีกปัจจัยเสี่ยงคือความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นได้ในตลาดเงินตลาดทุน ซึ่งจำเป็นต้องวางแผนบริหารความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนทางการเงินได้ ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยจัดการอย่างสัญญาสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX Option) ที่เหมาะสำหรับผู้ส่งออกหรือมีรายได้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ หรือผู้นำเข้าที่มีค่าใช้จ่ายเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน นอกจากนี้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment System) เช่น บริการพร้อมเพย์นั้นเป็นส่วนสำคัญที่ต้องการการสนับสนุน เนื่องจากช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมให้กับภาคธุรกิจได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X