นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEATH ว่าในวันนี้ (24 มีนาคม) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 2/2564 คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% และจะคงดอกเบี้ยไปถึงสิ้นปี 2564
ทั้งนี้ คาดว่าการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะสอดคล้องกับธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีการประกาศว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงปี 2566
ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปีจึงจะฟื้นตัว ดังนั้นคาดว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ
“ดอกเบี้ยขาลงจบแล้ว จึงต้องติดตามว่าจะปรับเป็นขาขึ้นเมื่อไร โดยสถานการณ์ปัจจุบันจะเห็นว่า Yield Curve ขยับตัวขึ้นสูงแล้ว โดยเฉพาะตัว Yield Curve ระยะยาวของไทยที่วิ่งขึ้นตาม Yield Curve ของสหรัฐฯ แต่ตัว Yield Curve ระยะสั้นยังถูกควบคุมด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย”
อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคธนาคารของไทยยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะยังไม่ใช่จังหวะดีที่จะปรับขึ้น จากเศรษฐกิจและผู้ประกอบการที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน
พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ภัทร กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% และจะคงตลอดทั้งปีนี้ หรืออาจจะลากยาวถึงปี 2565 เพราะเศรษฐกิจยังทยอยฟื้นตัวภายใต้ความเสี่ยงเรื่องการกระจายวัคซีนและการเปิดประเทศ ซึ่งหากไม่สามารถเปิดประเทศได้จะส่งผลกระทบซ้ำต่อเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กนง. จะมีคอมเมนต์เรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) ที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ Bond Yield ของไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย ภายใต้ปัจจัยหลักคือเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าสหรัฐฯ
นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจยังไม่ได้ออกมาตรการใหม่เพื่อช่วยเหลือในวิกฤตโควิด-19 แต่จะมีการกล่าวถึงมาตรการที่ตรงจุดมากขึ้น เช่น มาตรการ Asset Warehousing และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ที่เชื่อว่าจะเข้าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2564
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการประชุม กนง. ครั้งนี้จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% หลังภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อดูแลผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่อย่างต่อเนื่อง
โดยการประชุม กนง. รอบนี้จะมีการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยรอบใหม่ จากที่ล่าสุด กนง. คาดว่า GDP ไทยปี 2564 จะขยายตัว 3.2% ซึ่งยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลง
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่า กนง. จะคำนวณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยที่ออกมาแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 2, โครงการเราชนะ, โครงการเรารักกัน และมาตรการทางการเงินต่างๆ รวมถึงมาตรการที่จะออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้, โครงการพักทรัพย์พักหนี้ หรือโกดังพักหนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์