วันนี้ (17 มีนาคม) ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทยและที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคและที่ปรึกษากฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์ และกลุ่มนักเรียนรวม 6 คน เข้ายื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน กรณีการออกประกาศขององค์กรด้านการศึกษาให้ยืนยันการสอบ TCAS ตามกำหนดการเดิมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็กและการระบาดของโควิด-19
ดร.อรุณี กล่าวว่าระบบการศึกษาของไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก ยิ่งมีการเรียนออนไลน์ยิ่งตอกย้ำภาพของความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้ชัดเจนมากขึ้นอีก หากดูจากตารางสอบของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปี 2564 พบว่ามีการจัดสอบติดต่อกันมากกว่า 30 วิชาในช่วงเวลา 22 วัน ทั้งการสอบ GAT PAT ONET TCAS และ 9 วิชาสามัญ ในระหว่างนั้นยังมีการสอบโควตาเข้าสาขาวิชาแพทย์ชนบท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับภูมิภาคอย่างภาคอีสานยังมีการสอบสมรรถนะของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้นเดือนเมษายนยังมีการสอบวิชาเฉพาะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น ในระหว่างนั้นโรงเรียนบางแห่งยังมีการจัดสอบปลายภาคด้วย
นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบทั้งหมดยังมีความบกพร่องในการบริหารจัดการ ไม่มีการประกาศมาตรการป้องกันโรคอย่างชัดเจน ไม่แสดงตัวอย่างการป้องกันโรคเพื่อประชาสัมพันธ์ให้เด็กนักเรียนได้เตรียมพร้อมก่อน ซึ่งการที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยออกมาแจงถึงการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าปฏิบัติตามมาตรการของ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ส่วนสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ประกาศมาตรการป้องกันไว้ในเว็บไซต์ของ สทศ. ไม่ตอบโจทย์และขาดความรู้ความเข้าใจในมุมของผู้เข้าสอบ ซึ่งตนเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องชี้แจงและทำความเข้าใจกับมาตรการป้องกันในแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด และต้องแจ้งกำหนดเวลาในแต่ละมาตรการ เพราะผู้เข้าสอบจะรู้เพียงตารางสอบวิชาแรกคือ GAT ซึ่งเริ่มสอบตั้งแต่เวลา 08.30 น. แต่ไม่รู้ในรายละเอียดว่าจะต้องเข้าไปถึงสนามสอบก่อนเวลามากน้อยเพียงใด และมาตรการป้องกันโรคดำเนินการในส่วนใดของสนามสอบ ทั้งหมดถือเป็นการผลักภาระให้ผู้เข้าสอบไปเผชิญสถานการณ์หน้างานด้วยตัวเองโดยขาดความรับผิดชอบของผู้ใหญ่
“ในฐานะที่เคยเป็นอาจารย์และคลุกคลีกับนักเรียนนักศึกษามาก่อน จริยธรรมทางวิชาชีพของครูผู้สอนสำคัญที่สุด นักเรียนนักศึกษาควรได้รับการปกป้อง ส่วนผู้ใหญ่ควรสนับสนุนให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งผลดีต่อการเรียนมากที่สุด อย่าลืมว่าอนาคตของประเทศอยู่ในมือเด็กที่กำลังจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต” ดร.อรุณีกล่าว
ส่วน พรปวีณ์ พรทิพพิสุทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีร่วมกับเพื่อนนักเรียนรวม 6 คน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่ต้องมาฟ้องคดีต่อศาลในครั้งนี้ว่า ตนเองเห็นว่าระบบการสอบคัดเลือกกลางเพื่อเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของนักเรียนชั้น ม.6 นั้น ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าผู้ที่จะเข้าสอบต้องเป็นผู้ที่อยู่ในชั้นเรียนจนจบการศึกษาชั้น ม.6 แต่เนื่องจากเมื่อปลายปี 2563 ถึงปัจจุบันได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องมีการปิดเรียนเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน ทำให้โรงเรียนต่างๆ ต้องเลื่อนการสอบปลายภาคประจำปีการศึกษา 2563 ออกไป
ดังนั้นผู้ที่รับผิดชอบในการจัดสอบ TCAS จึงควรเลื่อนการกำหนดการสอบที่กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 ออกไปก่อน เพื่อให้นักเรียนชั้น ม.6 ได้สอบเสร็จและจบการศึกษาก่อน หลังจากนั้นเข้าสอบ TCAS ซึ่งในปีการศึกษาที่ผ่านมาจะมีการกำหนดช่วงเวลาการสอบ TCAS ห่างจากการสอบปลายภาคของนักเรียนชั้น ม.6 ประมาณ 2 สัปดาห์ การที่ไม่มีการเลื่อนสอบทำให้การสอบปลายภาคของนักเรียนและการสอบ TCAS ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายวัน และบางโรงเรียนต้องมีการเริ่มสอบ TCAS ก่อนที่เด็กจะสอบปลายภาค กลุ่มตนเองจึงเห็นว่าการไม่เลื่อนสอบออกไป และให้มีการสอบตามกำหนดการเดิมเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักการที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ และยังส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่ต้องมีภาระในการสอบติดต่อกันหลายวัน ซึ่งตนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้ร่วมกันยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในครั้งนี้ และจะขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวโดยให้มีการชะลอการสอบ TCAS ออกไปก่อน 1-2 สัปดาห์ หลังจากที่มีการสอบปลายภาคของนักเรียน ม.6 เสร็จสิ้นแล้ว
พรปวีณ์กล่าวต่อไปว่ากลุ่มตนเองได้เรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2564 แล้ว โดยมีนักเรียนที่สนับสนุนให้มีการเลื่อนสอบเกือบ 1 หมื่นคน ซึ่งตนเองได้ส่งรายชื่อดังกล่าวเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลด้วยแล้ว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์