เป็นข่าวที่คนให้ความสนใจไม่น้อยกับกรณี นายแพทย์ยอร์น จิระนคร สาธารณสุขนิเทศก์เขต 12 ขับรถพุ่งชนนายสมชาย ยามดี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในกระทรวงสาธารณสุข จนถึงขณะนี้อาการของ รปภ. คนดังกล่าวยังน่าเป็นห่วง
รปภ. หรือ ยาม อาชีพที่ถูกสังคมนิยามให้เป็นอาชีพต้อยต่ำ เห็นได้ชัดผ่านบทเพลงลูกทุ่งและละครไทย ซึ่งในชีวิตจริงชีวิต รปภ. ไม่ได้ดีไปกว่าในละคร เพราะอาชีพนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ และที่สำคัญมีสวัสดิการต่ำมากเมื่อเทียบกับความเสี่ยงในอาชีพ
ทำงานวันละ 10 ชั่วโมง 1 เดือนหยุดได้ 2 วัน เครื่องแบบต้องซื้อเอง
THE STANDARD คุยกับ ‘วินัย สายกระสุน’ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บริเวณหน้าอาคารอโศกทาวเวอร์ ทำหน้าที่งานจราจรคอยกั้นรถบนถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถที่จะเข้า-ออกอาคาร
เสียงก่นด่าด้วยคำหยาบคาย อาการหงุดหงิดไม่พอใจ เป็นสิ่งที่วินัยต้องเจอทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นซึ่งเป็นชั่วโมงเร่งด่วน รถเข้า-ออกตึกมากมายขณะที่รถบนถนนก็หนาแน่น
ท่อแป๊บผูกธงแดง เป็นเครื่องมือเดียวที่เขามีในการหยุดรถบนถนนอโศก วินัย บอกว่าต้องดูจังหวะรถให้ดี ถ้ามาเร็วเราก็ต้องเซฟตัวเอง แต่ถ้าเขาเริ่มชะลอแสดงว่าเขายอมเรา
วินัย ยอมรับว่า อาชีพ รปภ. มีความเสี่ยงสูงมาก โดยเฉพาะ รปภ. จราจรกั้นรถบนถนน ความเสี่ยงแทบไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ ซึ่งต้องทำงานวันละ 10 ชั่วโมง 1 เดือนมีวันหยุดแค่ 2 วัน แลกกับเงินเดือน 16,000 บาท แถมยังไม่มีประกันอุบัติเหตุ หรือค่าเสี่ยงภัยให้ มีแต่สิทธิประกันสังคม และประกันชีวิตกรณีเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่
เครื่องแบบ รปภ. ซึ่งไม่ช่วยทำให้ใครเกรงขามนี้ก็มีต้นทุนที่เจ้าหน้าที่ รปภ. ต้องแบกรับ ชุดของวินัยทั้งตัวตั้งแต่หัวจรดเท้าราคารวมกัน 2,000 บาท มีหมวกแก๊ปใบละ 100 บาท กับรองเท้าหนังคู่ละ 500 บาทเท่านั้นที่ใส่ซ้ำได้ ส่วนเสื้อและกางเกง รวมกันราคา 500 บาท จำเป็นต้องซื้อหลายชุดเพราะทำงานทั้งเดือนแทบไม่ได้หยุด โดยค่าเครื่องแบบจะใช้วิธีผ่อนจ่ายหักไปกับเงินเดือน
ธงแดง และ ท่าตะเบ๊ะ อาวุธประจำกายของยามกั้นรถ
อดุลย์ กุนันตา อายุ 45 ปี เป็นอีกคนที่ทำอาชีพ รปภ. มาเกือบ 20 ปี บอกกับเราว่า ตัวเขาทำงานวันละ 12 ชั่วโมง มีหน้าที่งานจราจรโดยเฉพาะ เพราะคนที่จะทำงานนี้ได้ต้องผ่านการอบรม และจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า รปภ. จุดอื่น เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่า ค่าแรงวันละ 470 บาท ทำให้อดุลย์ยอมเสี่ยงกับหน้าที่นี้
นอกจากธงแดงแล้ว ความนอบน้อม พร้อมท่าตะเบ๊ะบวกกับสติ คือเครื่องมือกั้นรถที่อดุลย์ใช้ทุกครั้ง เขายืนกั้นรถวันละประมาณ 10 ชั่วโมง มีช่วงพักทานข้าวประมาณชั่วโมงเดียว สิ่งที่เจอทุกวันก็เหมือนยามกั้นรถคนอื่นๆ คือเสียงบ่นก่นด่า
อดุลย์ บอกว่าต้องปล่อยวาง อย่าไปโต้ตอบ และอย่าเก็บมาคิดไม่เช่นนั้นจะเครียด อาชีพนี้หากไม่ใจรักงานบริการจะทำไม่ได้นาน
“อยากฝากคนใช้รถใช้ถนนขับรถอย่างมีสติ ส่วนจะเห็นเราเป็นยามแล้วไม่เคารพเราก็ไม่เป็นไร เราก็ทำหน้าที่ของเราไป คอยกั้นรถเข้า-ออก มันก็ช่วยระบายรถได้ดีขึ้น ถ้าไม่มีเรากั้น ต่างคนต่างออกจากตึกรถทางตรงส่วนใหญ่ก็ไม่ยอม ความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุก็มากกว่า แต่นี่เราเอาความเสี่ยงมาไว้ที่เราแทน” อดุลย์ กล่าว
ประกัน-ค่าเสี่ยงภัย คือต้นทุนของผู้ประกอบการ
ธนพล พลเยี่ยม นายกสหพันธ์ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบันจำนวน รปภ. ที่ขึ้นทะเบียนมีแค่ 2.5 แสนคน แต่ตัวเลขจริงมีประมาณ 4 แสนคน อัตราเงินเดือนของ รปภ. ถ้าจ่ายตามกฎหมายจริงๆ รวมเบ็ดเสร็จคือ 19,300 บาท แต่ในทางปฏิบัตินั้นอัตราเงินเดือนมีหลากหลาย องค์กรเล็กๆ ที่ไม่มีกำลังทรัพย์สูง ก็ต้องจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยเล็กๆ ซึ่งมีค่าจ้างถูกกว่า โดย รปภ. ในบริษัทเล็กๆ จะได้เงินประมาณ 1.5 หมื่น-1.6 หมื่นบาทต่อเดือน
ส่วนเรื่องสวัสดิการ รปภ. จะมีประกันสังคม มีเงินเกษียณตามกฎหมายแรงงาน บางบริษัทอาจมีเงินให้กู้ และเงินค่าฌาปนกิจสงเคราะห์
ธนพล กล่าวด้วยว่า จริงๆ ในสมาคมอยากให้มีสวัสดิการที่ดีกับ รปภ. แต่ข้อจำกัดคือไม่สามารถผลักภาระนี้ไปให้กับลูกค้าได้ เพราะหากต้นทุนสูงลูกค้าก็เลิกจ้าง ทำให้บริษัทเล็กๆ ไม่มีสวัสดิการมากมายให้ รปภ.
“กฎหมายไม่ได้บังคับให้ รปภ. ต้องมีค่าเสี่ยงภัย หรือประกันอุบัติเหตุ ขึ้นอยู่กับลูกค้า ถ้าลูกค้าบังคับ เราก็จำเป็นต้องมีให้ ส่วนมากบริษัทใหญ่ๆ เขาจะบังคับให้ รปภ. ทุกคนที่ทำงานให้บริการเขาต้องทำประกัน ซึ่งผู้ประกอบการก็จะบวกราคาขึ้นไป แต่เรื่องนี้กฎหมายไม่ได้บังคับ แล้วแต่ผู้จ้าง” ธนพล กล่าว
- อาชีพรักษาความปลอดภัยในไทยเริ่มเป็นรูปธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2508 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ส่งทหารเข้ามาร่วมรบในสงครามเวียดนาม ซึ่งได้มีการว่าจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยในฐานทัพต่างๆ โดยมีการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะทำหน้าที่ว่าต้องมีความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย มีระเบียบวินัย ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีบริษัทรักษาความปลอดภัยเอกชนเปิดให้บริการ จึงได้มีกลุ่มบุคคลหนึ่งรวบรวมทหารปลดประจำการมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยฐานทัพ เป็นที่รู้จักในชื่อของ Thai Guard ซึ่งถือเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่ทำงานด้านการรักษาความปลอดภัยของเอกชนในไทย