จากสถานการณ์การประท้วงทางการเมืองในเมียนมาซึ่งยังคงยืดเยื้อและรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการทำธุรกิจในเมียนมาเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ ‘บริษัทมหาชน’ ของไทยที่เข้าไปทำธุรกิจในเมียนมา โดยภาพรวมแล้วนักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบที่มีต่อบริษัทเหล่านี้ยังไม่ได้มากนัก
ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า หากมองไปยังหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้จากเมียนมา รวมถึงมีโครงการลงทุนอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ เช่น บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากเมียนมา 35-40%, บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) สัดส่วนรายได้ 12%, บมจ.โอสถสภา (OSP) สัดส่วนรายได้ 8-10%, บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) สัดส่วนรายได้ 8-10% และ บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) ได้งานโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มูลค่าระดับหมื่นล้านบาท
โดยภาพรวม บริษัทที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาในลักษณะที่ได้สัญญาสัมปทาน จะค่อนข้างมีความเสี่ยงมากกว่าบริษัทที่ขายสินค้าเชิงพาณิชย์ทั่วไป เช่น MEGA, OSP และ CBG แม้ว่ายอดขายจะชะลอตัวบ้าง เนื่องจากผู้คนอาจจะไม่ได้ออกไปข้างนอกตามปกติ แต่ยังไม่ได้มีคำสั่งห้ามใดๆ ทำให้ยอดขายคงไม่ได้กระทบมากนัก
ส่วน PTTEP ซึ่งเป็นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน โดยหลักแล้วคงไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ขณะเดียวกันจากสัดส่วนรายได้ 12% เป็นการขายในเมียนมาเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ทำให้ผลกระทบในกรณีเลวร้ายสุดจะอยู่ที่เพียง 3%
ด้าน TTCL แม้จะมีความเสี่ยงในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกสัญญาโครงการ แต่ส่วนตัวมองว่าคงไม่แย่ถึงขั้นนั้น แต่ในส่วนนี้ยังคงประเมินได้ยาก และคงต้องติดตามกันต่อไป
“สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย ก็อาจจะชะลอการลงทุนในหุ้นกลุ่มเหล่านี้ไปก่อน เพราะสถานการณ์โดยภาพรวมคงจะยืดเยื้อต่อไปอีกสักพัก และยังคงต้องติดตามพัฒนาการของสถานการณ์หลังจากนี้ด้วย”
ขณะที่ วิเวก ดาวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงพยายามดูแลให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมายังคงนำเข้าสินค้าและเปิดคลังสินค้าได้ตามปกติ โดยธุรกิจของบริษัทซึ่งเกี่ยวข้องกับยาและอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้บริโภค
“แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมกระทบต่อทุกธุรกิจเป็นธรรมดา แต่โดยรวมแล้วเรายังคงดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และไม่ได้มีการห้ามให้บริษัทจัดส่งสินค้าแต่อย่างใด และบริษัทไม่ได้มีแผนจะเลิกทำธุรกิจในเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นฐานธุรกิจสำคัญของบริษัทตลอด 25 ปีที่ผ่านมา”
ด้านแหล่งข่าวของ CBG เปิดเผยว่า สถานการณ์โดยรวมของธุรกิจในเมียนมายังไม่ดีขึ้นนัก ในแง่ของยอดขายที่ยังไม่ค่อยเพิ่มขึ้นและพลาดไปจากที่ตั้งเป้าหมายกันไว้ แต่ในส่วนนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมบริษัท เพราะยังเป็นส่วนที่ค่อนข้างน้อยอยู่มาก
“สถานการณ์โดยรวมตอนนี้ยังประเมินได้ยาก เบื้องต้นบริษัทยังชะลอแผนการลงทุนไว้ก่อน ขณะที่พาร์ตเนอร์ของบริษัทในเมียนมาก็ยังไม่พร้อมจะลงทุนในตอนนี้”
ทั้งนี้ ราคาหุ้นของแต่ละบริษัทซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาต่างตอบสนองในทิศทางที่แตกต่างกันออกไป
ชาลี กือเย็น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ มองว่าสถานการณ์ในเมียนมาถือเป็นความเสี่ยงต่อ CBG เพราะเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 2 ของบริษัท ซึ่งอาจจะกระทบต่อรายได้และอัตรากำไรของบริษัทได้ หากดูจากปีที่ผ่านมา รายได้ของ CBG จากเมียนมาอยู่ที่ราว 400-500 ล้านบาท จากยอดส่งออกประมาณ 8 พันล้านบาท
“ปัญหาในเมียนมาไม่ได้เกิดจากว่าบริษัทส่งออกสินค้าได้หรือไม่ได้ แต่ปัญหาเกิดจากธนาคารหลายสาขาปิดทำการ ทำให้บริษัทไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ซึ่งเริ่มส่งผลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา”
โดยภาพรวมเรามองว่าราคาเหมาะสมของ CBG ปีนี้ อยู่ที่ 132 บาท ซึ่งอิงจาก P/E 30 เท่า เมื่อมีความเสี่ยงในเรื่องของเมียนมาเข้ามาเพิ่มเติม ทำให้ราคาหุ้น CBG ที่ซื้อขายเกินกว่าระดับนี้ค่อนข้างจะแพงจนเกินไป
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล