×

สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังดีลควบรวมกิจการระหว่าง Z Holdings หรือ ‘Yahoo’ และ ‘LINE’ เสร็จสมบูรณ์

02.03.2021
  • LOADING...
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังดีลควบรวมกิจการระหว่าง Z Holdings หรือ ‘Yahoo’ และ ‘LINE’ เสร็จสมบูรณ์

เมื่อวานนี้ (1 มีนาคม) ข่าวการประกาศควบรวมกิจการระหว่าง Z Holdings และ LINE เสร็จสมบูรณ์ตามกระบวนการต่างๆ ด้านกฎหมายเรียบร้อยแล้ว

 

ได้กลายเป็นเหตุการณ์ระดับ ‘ปรากฏการณ์’ ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอยู่ไม่น้อย หลังจากที่ทั้งสองบริษัทได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นของการควบรวมไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019  

 

ซึ่งการควบรวมกิจการในครั้งนี้จะมีสัญญาการแลกเปลี่ยนหุ้นระหว่าง ZHD และ LINE Demerger Preparatory Company ลงวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องกับการควบรวมกิจการในครั้งนี้ด้วย

 

คำถามที่สำคัญก็คือ ภายใต้การควบรวมกิจการระหว่างสองแพลตฟอร์มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นในครั้งนี้ เราจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นบ้าง? และจะสร้างผลกระทบต่อวงการเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด เพราะฝั่ง Z Holdings เองก็คุม ‘Yahoo! Japan’ อยู่ ซึ่งมีบริการยอดนิยมต่างๆ อยู่บนช่องทางของพวกเขาเป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีบริษัทแม่อย่าง SoftBank หนุนหลัง

 

ฝั่ง LINE เองก็ไม่จำเป็นต้องสาธยายความแข็งแกร่งของพวกเขาให้มากความ เพราะถือเป็นแพลตฟอร์มซูเปอร์แอปฯ อีกแพลตฟอร์ม (ภายใต้การบริหารงานโดย NAVER) เป็นแชตแอปฯ ยอดนิยมของผู้ใช้งานชาวไทย การันตีด้วยยอดผู้ใช้งานที่ 47 ล้านราย แถมช่วงหลังๆ มานี้พวกเขายังมีความพยายามในการเข้าไปรุกอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้นในพื้นที่ประเทศที่ให้บริการอยู่ ตัวอย่างเช่น ภาคการเงิน ฟินเทค (ไทย: LINE BK ร่วมกับกสิกรไทย)

 

ทั้ง ZHD และ LINE ได้เปิดเผยว่า ภายใต้ดีลที่เกิดขึ้นนั้น ทั้งสองบริษัทก็จะยังคงให้บริการในกลุ่มธุรกิจ และสิ่งที่พวกเขาถนัดตามเดิมทุกกระบวนท่า เพียงแต่ ‘สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมา’ ก็คือการที่ทั้งสองบริษัทจะเริ่มโฟกัสไปที่การลุย 4 ธุรกิจหลักสำคัญ ประกอบด้วย

 

1. การพาณิชย์ (Commerce) – พัฒนาการซื้อสินค้าและบริการภายในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยเชื่อมโยงกับหน้าร้าน (X Shopping) โดยที่ ZHD มีเป้าหมายจะสร้างโลกที่ผู้คนสามารถซื้อสิ่งที่ตนเองต้องการในราคาที่ดีที่สุด ที่ไหนและเมื่อใดก็ได้เชื่อมโยงผ่าน LINE โดยจะมีการเปิดตัวบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้ของขวัญผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือ Social Gift, การซื้อแบบกลุ่ม (Team Commerce) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถรวมกลุ่มซื้อสินค้าในราคาถูกลง การซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สด (Live Commerce) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ใช้งานเข้ากับวิดีโอจากอินฟลูเอนเซอร์ 

 

และยังจะให้บริการ X Shopping (Cross Shopping) เชื่อมโยงข้อมูลสินค้าระหว่างร้านค้าออนไลน์และหน้าร้าน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกวิธีการซื้อสินค้า ที่ตรงต่อความต้องการของตนเอง รวมถึงการให้บริการซอฟต์แวร์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ผ่านโครงการสมาร์ทสโตร์ (Smart Store Project) 

 

2. สินค้าและบริการในแนวดิ่ง (Local Vertical) – ให้บริการซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ผ่านปัญญาประดิษฐ์ เช่น บริการด้านการจองที่พักและร้านอาหาร ส่วนด้านโฆษณา บริษัทฯ จะให้บริการซอฟต์แวร์ ด้านการตลาดในรูปแบบใหม่แก่ธุรกิจต่างๆ ผ่านการผสานความร่วมมือกับ Yahoo! JAPAN, LINE และ PayPay เพื่อช่วยให้ธุรกิจมีแผนการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้ผู้ใช้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่ตรงต่อความต้องการมากขึ้น

 

3. เทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) – เชื่อมโยงผู้ค้าที่ให้บริการการจ่ายเงินผ่าน PayPay และ LINE Pay เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนปีนี้ โดยผู้ใช้ LINE Pay สามารถจ่ายเงินผ่านผู้ค้า PayPay กว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ใช้งานผ่านโหมด Merchant-Presented Mode (MPM) นอกจากนั้น PayPay และ LINE Pay ยังเริ่มเจรจาเรื่องการจ่ายเงินโดยใช้คิวอาร์โค้ด (QR Code) และบาร์โค้ด (Barcode) ของ LINE Pay ผ่าน PayPay ในเดือนเมษายน 2021

 

4. บริการสาธารณะ (Public Services) – นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในการให้บริการสาธารณะ การป้องกันภัยพิบัติการสาธารณสุข และความพยายามที่จะแก้ปัญหาด้านสังคมต่างๆ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน 

 

และจะให้บริการการแพทย์ทางไกลหรือโทรเวช ผ่าน ‘LINE Doctor’ ซึ่งเป็นบริการจาก LINE Healthcare Corporation สำหรับผู้ใช้งานในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่การให้คำแนะนำออนไลน์เรื่องการใช้ยา ไปจนถึงการส่งยา และการให้บริการการรักษาผ่านทางออนไลน์ โดยตั้งเป้าจะเริ่มให้บริการการให้คำแนะนำออนไลน์เรื่องการใช้ยาภายในปีงบประมาณ 2021 และผลักดันให้เป็นที่นิยมอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น

 

ทั้งนี้ ทั้ง ZHD และ LINE เองก็ได้ประกาศไว้ว่า พวกเขาจะทุ่มทุนกว่า 5 แสนล้านเยน พร้อมเปิดรับบุคลากรในตำแหน่งงาน ‘วิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineer)’ รวมกว่า 5,000 คน ทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ ภายในระยะเวลา 5 ปีต่อจากนี้ เพื่อพัฒนาบริการรูปแบบใหม่ๆ ให้กับบริษัท โดยจะใช้องค์ความรู้และเครือข่ายของบริษัทแม่อย่าง SoftBank และ NAVER มาใช้ประโยชน์ในการเพิ่มแต้มต่อการดำเนินธุรกิจให้รอบด้าน

 

โดยที่ตั้งเป้ากวาดรายได้รวมกว่า 2 ล้านล้านเยน และรายได้จากการดำเนินงาน (Operating Income) กว่า 225,000 ล้านเยน ภายในปีงบประมาณ 2023

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X