เคียว โม ตุน ทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 193 ชาติ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เรียกร้องให้ใช้วิธีการที่จำเป็นเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมา
เขาเริ่มต้นการกล่าวต่อที่ประชุมโดยการยืนยันว่า ตนเองเป็นตัวแทนของรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน
“เราต้องการการดำเนินการที่รุนแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จากประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อยุติการทำรัฐประหารโดยทันที เพื่อยุติการกดขี่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ คืนอำนาจรัฐให้ประชาชน และฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย” เขากล่าวต่อที่ประชุม พร้อมกล่าวข้อเรียกร้อง 6 ข้อต่อชาติสมาชิกในที่ประชุมและสหประชาชาติ ได้แก่
- ให้ออกแถลงการณ์สาธารณะประณามการรัฐประหาร
- ไม่รับรองสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) และรัฐบาลทหารด้วยวิธีการใดๆ
- เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ที่เขาระบุว่าเป็นการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและเป็นธรรม
- ไม่ร่วมมือกับกองทัพเมียนมาจนกว่าจะมีการคืนอำนาจรัฐแก่ประชาชนผ่านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
- ใช้มาตรการยุติความรุนแรงและโหดร้ายต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ และยุติการรัฐประหารทันที
- สนับสนุนสภาแห่งสหภาพ (CPRH) ที่มาจากการเลือกตั้ง
ในตอนท้ายเขาขออนุญาตกล่าวในที่ประชุมเป็นภาษาเมียนมา เนื่องจากเชื่อว่าจะมีชาวเมียนมาติดตามการประชุมนี้เป็นจำนวนมาก และได้ชูสามนิ้วแสดงสัญลักษณ์ในตอนท้ายของการกล่าวต่อที่ประชุมด้วย
และก่อนหน้าที่การกล่าวต่อที่ประชุมของ เคียว โม ตุน จะเกิดขึ้น คริสติน ชเรเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติในประเด็นเมียนมา ก็เตือนว่าไม่ควรมีประเทศใดยอมรับหรือให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลทหารของเมียนมา และต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อฟื้นฟูประชาธิปไตย
โดยเธอหยิบยกการเลือกตั้งที่พรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี คว้าคะแนนเสียงไปได้กว่าร้อยละ 82 ขึ้นมาประกอบ เธอยังผลักดันให้เกิดสัญญาณร่วมกันในการสนับสนุนประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้ประเทศที่มีอิทธิพลผลักดันกองทัพให้เปิดทางสู่การประเมินสถานการณ์อย่างเป็นอิสระ ซึ่งเธอบอกว่าเธอถูกขอให้เลื่อนการไปเยือนเมียนมาออกไป
“ดูเหมือนว่าพวกเขา (คณะผู้ปกครองชุดปัจจุบัน) ต้องการดำเนินการจับกุมครั้งใหญ่ต่อไป และบีบบังคับให้ประชาชนเป็นพยานเอาผิดรัฐบาล NLD นี่เป็นเรื่องที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม” เบอร์เกเนอร์ระบุ และเธอยังตั้งคำถามถึงการยอมรับรัฐบาลทหารเมื่อทหารเองมีส่วนในปฏิบัติการด้านความมั่นคงที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำให้ชาวโรฮีนจาต้องอพยพจากบ้านของตนเอง
ส่วนปฏิกิริยาจากชาติอื่นๆ ก็มีการรายงานเช่นกัน โดยทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติย้ำว่า สหรัฐฯ ได้ใช้และยังคงจะปฏิบัติเพื่อแสดงให้กองทัพเมียนมาเห็นว่าการปฏิบัติของกองทัพมีผลลัพธ์ที่ตามมา โดยจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรและหุ้นส่วนต่างๆ และเรียกร้องให้ชาติสมาชิกในที่ประชุมส่งเสียงไปยังกองทัพว่าความรุนแรงต่อประชาชนจะไม่ได้รับการยอมรับ
ส่วนทูตของจีนประจำสหประชาชาติระบุว่า ประชาคมระหว่างประเทศควรเคารพในอธิปไตยของเมียนมาและหลีกเลี่ยงการเพิ่มความตึงเครียด และบอกว่าจีนกำลังมีส่วนร่วมในขณะนี้ และกำลังสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกในการคลี่คลายและทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และทูตของรัสเซียระบุว่า ชาติอื่นๆ ไม่ควรแทรกแซง “กระบวนการภายในเป็นการเฉพาะ” ของเมียนมา พร้อมบอกว่า ความพยายามพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ซึ่งอยู่ในแง่ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้กลายเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมและเป็นเรื่องทางการเมือง
ด้านความเคลื่อนไหวในเมียนมาล่าสุด กองกำลังความมั่นคงเมียนมาปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ เมื่อวันศุกร์ (26 กุมภาพันธ์) ทำให้มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย โดย 2 รายถูกกระสุนยางยิงเข้าที่หน้าอกและอีกคนได้รับบาดเจ็บที่ขา
ผู้ประท้วงรวมตัวกันบนท้องถนนนอกสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในเมืองมัณฑะเลย์ในช่วงบ่าย ก่อนที่กองกำลังจะเข้าพื้นที่และเริ่มยิงสิ่งที่ทำให้เกิดเสียงคล้ายอาวุธปืนและใช้ระเบิดแสงเพื่อสลายการชุมนุม ในเวลาต่อมาชาวบ้านในพื้นที่เก็บกระสุนและปลอกกระสุนได้แล้วนำมาแสดงต่อผู้สื่อข่าว
เหยื่อทั้งหมดถูกส่งตัวไปที่คลินิกเอกชนเพื่อรับการรักษา ชายคนหนึ่งที่ถูกยิงที่หน้าอกด้วยกระสุนยางมีผ้าพันแผลสีขาวพันรอบศีรษะ และมีภาพข่าวชายอีกคนที่ได้รับบาดเจ็บที่ขาและมีผ้าพันตั้งแต่รอบเท้าสูงขึ้นมาถึงหัวเข่า
ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน กองกำลังความมั่นคงในนครย่างกุ้งก็ได้ยิงกระสุนเตือนและใช้กระบองเคาะโล่ในระหว่างการเข้าสลายกลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร ซึ่งรวมตัวกันที่หน้าศูนย์การค้ายอดนิยม ถือป้ายประท้วงและตะโกนประณามการทำรัฐประหาร แม้ว่าจะมีการเพิ่มระดับการรักษาความปลอดภัยและมีรถบรรทุกฉีดน้ำเข้ามาในพื้นที่ด้วยก็ตาม ส่วนในวันพฤหัสบดีก็มีรายงานว่า มีกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนรัฐบาลทหารทำร้ายกลุ่มผู้ประท้วงต้านรัฐบาลทหารในกรุงย่างกุ้งด้วย
ในวันศุกร์ยังมีการปล่อยตัว ยูกิ คิตาซูมิ นักข่าวอิสระชาวญี่ปุ่นที่รายงานข่าวการชุมนุมในเมียนมา ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ก่อนหน้านี้ด้วย สำนักข่าว Kyodo News ของญี่ปุ่นรายงานคำให้สัมภาษณ์ของคิตาซูมิที่บอกว่า เขาได้รับเหตุผลของการถูกคุมตัวในครั้งนี้ว่าผู้ที่ควบคุมตัวไม่ทราบว่าเขาเป็นสื่อมวลชน แต่เขาไม่คิดว่านี่เป็นคำอธิบายที่ถูกต้อง เนื่องจากเขาได้ใส่หมวกนิรภัยที่มีสติกเกอร์ของสื่อมวลชน ทั้งนี้ เขายังระบุด้วยว่าปลอดภัยดี
ภาพ: United Nations TV / Handout via REUTERS
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/myanmar-un-ambassador-appeal-stop-military-coup-kyaw-moe-tun-14290928
- https://www.channelnewsasia.com/news/asia/myanmar-military-coup-protest-yangon-security-forces-disperse-14288056
- https://english.kyodonews.net/news/2021/02/611f231b2633-breaking-news-japanese-journalist-covering-protest-in-myanmar-detained-report.html
- https://hongkongfp.com/2021/02/27/video-myanmar-envoy-kyaw-moe-tun-breaks-ranks-urges-strongest-possible-un-action-against-military-coup/
- https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-un/myanmars-u-n-envoy-makes-emotional-appeal-for-action-to-stop-coup-idUSKBN2AQ2FX?il=0
- https://apnews.com/article/myanmar-anti-coup-protester-attacks-cb579b11a9699eb12c2ca596f17e66b1
- https://twitter.com/cape_diamond/status/1365327379539783683