สหภาพยุโรป (EU) เตือนว่าจะพิจารณาคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาเพื่อตอบโต้การก่อรัฐประหารและกดดันให้ยุติการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง หลังมีการชุมนุมต้านรัฐประหารเกิดขึ้นทั่วประเทศต่อเนื่องตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มการคว่ำบาตรนายพลเมียนมาอีก 2 นาย
กระแสกดดันจากชาติตะวันตกดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (22 กุมภาพันธ์) หลังจากชาวเมียนมาทั่วประเทศนับล้านคนพร้อมใจกันออกมาร่วมชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่โดยไม่หวั่นเกรงคำเตือนจากรัฐบาลทหาร ภายหลังเมื่อวันเสาร์ (20 กุมภาพันธ์) มีรายงานตำรวจใช้กระสุนจริงปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงที่เมืองมัณฑะเลย์ จนทำให้มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย
ขณะที่สถานีโทรทัศน์ MRTV ของทางการเมียนมารายงานข่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (21 กุมภาพันธ์) เตือนว่าการเผชิญหน้าระหว่างทางการกับกลุ่มผู้ประท้วงนั้นอาจนำมาซึ่งการสูญเสียชีวิต
ในการประท้วงที่กรุงเนปิดอว์วานนี้ (22 กุมภาพันธ์) มีการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจปราบจลาจลที่ใช้กระสุนยางและรถฉีดน้ำแรงดันสูงสลายการชุมนุม ขณะที่ปรากฏภาพและคลิปวิดีโอตำรวจไล่จับกุมกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งนักสิทธิมนุษยชนในเมียนมาระบุว่ามีผู้ถูกจับกุมไปหลายสิบคน ส่งผลให้ยอดรวมผู้ชุมนุมที่ถูกจับนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเพิ่มเป็นเกือบ 700 คน
สำหรับวันนี้คาดว่าจะมีการประท้วงเกิดขึ้นอีกในหลายเมือง โดยเมื่อคืนที่ผ่านมารัฐบาล EU ได้แสดงท่าทีชัดเจนในการสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ออกมาชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD)
“เราไม่ได้เตรียมพร้อมเพื่อที่จะยืนและมองดูเฉยๆ” ไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีกล่าว พร้อมเตือนว่าการคว่ำบาตรเมียนมาอาจจะตามมาอีกหลังจากนี้ หากกระบวนการทางการทูตเพื่อกดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ยุติการใช้ความรุนแรงนั้นล้มเหลว
ทั้งนี้ EU กำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการคว่ำบาตร โดยมุ่งเน้นไปที่เป้าหมายทางธุรกิจที่เป็นของกองทัพเมียนมา ขณะที่ปฏิเสธการคว่ำบาตรทางการค้าเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อประชาชนและแรงงานยากไร้ในเมียนมา
ด้านรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรนายพลเมียนมาอีก 2 นายคือ พลโท โม มยินต์ ตุน (Moe Myint Tun) อดีตเสนาธิการทหารและสมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐ และพลอากาศเอก หม่องหม่องจ่อ (Maung Maung Kyaw) ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเมียนมา
ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ดำเนินการคว่ำบาตร ทั้งรักษาการประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกองทัพเมียนมาหลายนาย ตลอดจนคว่ำบาตรภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพเมียนมา ทั้งธุรกิจหยกและอัญมณี โดยยืนยันว่ารัฐบาลทหารเมียนมาต้องยุติการรัฐประหารและคืนอำนาจให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ที่ผ่านมา หลายประเทศทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ต่างก็แสดงท่าทีประณามการใช้กำลังต่อกลุ่มผู้ประท้วงในเมียนมา ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องกองทัพเมียนมาให้ยุติการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง แต่ทางกองทัพเมียนมาไม่สนใจ และตอบโต้ท่าทีดังกล่าวว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายใน
ภาพ: Kaung Zaw Hein / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: