ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) บรรลุข้อตกลงกับอิหร่านที่จะขยายเวลาให้ผู้ตรวจสอบของ IAEA ตรวจสอบและติดตามกิจกรรมนิวเคลียร์ในประเทศได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งอาจเป็นการปูทางสู่การให้สหรัฐฯ และอิหร่าน เริ่มการเจรจานิวเคลียร์ได้ โดย ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ของ IAEA ระบุเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุ ‘ข้อตกลงทางเทคนิค’ ชั่วคราวหลังจากการเยือนอิหร่านของเขา
ก่อนหน้านี้อิหร่านเพิ่งจะส่งสัญญาณถึงแผนการที่จะลดความร่วมมือกับ IAEA โดยประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าอิหร่านจะหยุดปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมของ IAEA ซึ่งจะทำให้เกิดการจำกัดสถานที่และเวลาที่ผู้ตรวจสอบนิวเคลียร์สามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบได้ยากขึ้นว่าอิหร่านพยายามพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
กรอสซีชี้ว่า ข้อตกลงชั่วคราวดังกล่าวที่ผ่านการบรรลุจากทั้งสองฝ่ายเมื่อวันอาทิตย์ จะบรรเทาผลกระทบจากการหยุดปฏิบัติตามพิธีสารเพิ่มเติมของฝั่งอิหร่านได้ “สิ่งที่เราได้ตกลงกันคือบางสิ่งที่สามารถปฏิบัติได้ มันมีประโยชน์ในการลดช่องว่างที่เรากำลังมีอยู่ในตอนนี้ และกอบกู้สถานการณ์ในตอนนี้” เขากล่าว
กรอสซียังระบุว่า แม้ผู้ตรวจสอบจากนานาชาติจำนวนเท่าเดิมจะยังคงอยู่ในอิหร่านต่อไป แต่การเข้าถึงโรงงานนิวเคลียร์ของพวกเขาจะถูกจำกัดมากขึ้น และผู้ตรวจสอบเหล่านี้จะไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจสอบแบบแจ้งล่วงหน้าแค่เพียงช่วงสั้นๆ ในสถานที่ที่เปิดเผยหรือไม่เปิดเผยอีกต่อไป
“นี่ไม่ใช่การทดแทนสำหรับสิ่งที่เราเคยมี นี่เป็นวิธีแก้ปัญหาชั่วคราวที่ช่วยให้เราสามารถยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นที่นั่นให้กับโลกได้ต่อไป ในความหวังว่าเราจะหวนกลับไปสู่ภาพที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น” กรอสซีกล่าว
การเฝ้าระวังของ IAEA ที่ครอบคลุมสิทธิ์ในการตรวจสอบต่างๆ นั้นเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA)’ ฉบับปี 2015 ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญที่มีเป้าหมายจำกัดโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน และป้องกันไม่ให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร ซึ่งอิหร่านยืนยันมานานแล้วว่าโครงการนิวเคลียร์ของตนมีจุดประสงค์เพื่อสันติ ท่ามกลางความสงสัยของประชาคมนานาชาติ
โดย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ มองว่า ข้อตกลงนี้เอื้อเฟื้อต่อฝ่ายอิหร่านมากเกินไป และถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวเมื่อปี 2018 ซึ่งก็ทำให้อิหร่านค่อยๆ ปรับลดความผูกพันที่มีต่อข้อตกลงดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในระดับที่สูงกว่าที่ได้มีการตกลงกันไว้ ซึ่งยูเรเนียมนี้ก็เป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์
ขณะที่รัฐบาลของ โจ ไบเดน ระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สหรัฐฯ ยินดีที่จะจัดการเจรจากับอิหร่าน และผู้ลงนามฝ่ายอื่นๆ ในข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเพื่อกอบกู้ข้อตกลง หรือกลับไปปฏิบัติตามข้อตกลงนี้ โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายต่างยืนยันว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นผู้กลับมาปฏิบัติตามข้อตกลงก่อน
จาวาด ซารีฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน บอกกับสำนักข่าว CNN ว่า ความรับผิดชอบยังคงอยู่ที่สหรัฐฯ เหตุเพราะเป็นฝ่ายเลือกที่จะถอนตัวจากข้อตกลงนี้ไปก่อน และย้ำว่าสหรัฐฯ ต้องสร้างความจริงใจเพื่อกลับมาสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์อีกครั้ง
ส่วนฝั่งเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ก็เน้นย้ำอย่างระมัดระวังว่า ความปรารถนาของฝั่งสหรัฐฯ ที่จะนั่งลงพูดคุยกับพันธมิตรและอิหร่าน ไม่ใช่การยอมอ่อนข้อหรือแม้แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจานิวเคลียร์ แต่เป็นขั้นตอนทางการทูตขั้นตอนแรกเพื่อค้นหาว่าจะทำอย่างไรที่จะเริ่มการอภิปรายในประเด็นนี้
ด้าน เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของไบเดน ระบุกับ CNN ว่า เจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ต่างกังวลเป็นพิเศษกับการตัดสินใจของอิหร่านในการปฏิเสธที่จะร่วมมือกับ IAEA และระบุว่า “เรื่องที่จะต้องรับมือก่อนสิ่งอื่นก็คือการตัดสินใจของชาวอิหร่านที่จะถอยออกจากการปฏิบัติตามข้อตกลง และผมก็เชื่อว่ามีวิถีทางการทูตอยู่” เขายังเชื่อว่านี่เป็นเพียงขั้นตอนแรก ซึ่งยังต้องอาศัยการทำงาน ตลอดจนการทูตที่ปฏิบัติได้จริงและไม่ใช่เพียงภาพลวงตา และยังต้องอาศัยการตัดสินใจโดยอิหร่านเองว่าพร้อมที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจและพิสูจน์ให้โลกเห็นว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านมีจุดประสงค์เพื่อสันติเท่านั้น
ภาพ: IIPA via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: