×

ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้แต่ละพรรคจัดการเองปมงูเห่า ตั้งกรรมการติดตามเอาผิดรัฐมนตรีหลังศึกซักฟอก

โดย THE STANDARD TEAM
22.02.2021
  • LOADING...
ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน ให้แต่ละพรรคจัดการเองปมงูเห่า ตั้งกรรมการติดตามเอาผิดรัฐมนตรีหลังศึกซักฟอก

วันนี้ (22 กุมภาพันธ์) ที่พรรคเพื่อไทย สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวภายหลังการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านสรุปผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ได้เห็นถึงความล้มเหลวของรัฐบาลและรัฐมนตรีรายบุคคลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ในจำนวนรัฐมนตรีหลายคนที่อยู่ที่เข้าข่ายที่จะสามารถส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ขณะนี้กำลังตั้งคณะกรรมการทางฝ่ายกฎหมายขึ้นมา เพื่อพิจารณาความผิดของแต่ละบุคคลว่าสามารถยื่น ป.ป.ช. ในลักษณะใดได้บ้าง ซึ่งหลักเกณฑ์คือความผิดทางอาญาและความผิดทางจริยธรรม โดยพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่น ป.ป.ช. ในส่วนของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่และละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและการทุจริต และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการทำผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการทำหน้าที่โดยมิชอบส่อไปในทางทุจริต

 

ในส่วนของ ส.ส. แต่ละพรรคที่โหวตสวนมติของฝ่ายค้าน ก็เป็นเรื่องที่แต่ละพรรคมีแนวทางในการดำเนินการตามขั้นตอนของแต่ละพรรคอยู่แล้ว 

 

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า การดำเนินการทางกฎหมายปล่อยให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการ ส่วนในเรื่องการเมืองเป็นเรื่องสำคัญที่จะให้ประชาชนรู้ โดยพรรคก้าวไกลมีการทำ Fact Check ว่ารัฐมนตรีคนไหนชี้แจงผิดพลาด ซึ่งต้องมีการตีแผ่ให้ประชาชนได้ทราบ จะมีการลงพื้นที่เพื่อทำให้คนเข้าใจการอภิปราย  

 

ด้าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า หาก ป.ป.ช. ชี้ว่ารายชื่อรัฐมนตรีที่ส่งให้พิจารณามีมูลความผิด และส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อศาลรับเรื่องรัฐมนตรีจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เช่นเดียวกับกรณีส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ผ่านมามีรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลก่อนๆ ที่คะแนนผ่านในรัฐสภา แต่เมื่อเรื่องถึง ป.ป.ช. ก็ถูกดำเนินคดี พร้อมยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ถึงที่สุดตามที่ประชาชนมอบหมาย

 

สำหรับประเด็นแก้รัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่วาระการประชุมรัฐสภาในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ ชูศักดิ์ ศิรินิล ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้จะทำหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะนำความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการที่มีความเห็นต่อการแก้รัฐธรรมนูญส่งให้ศาลประกอบคำวินิจฉัยตามคำร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาในการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังจากที่ศาลให้นักวิชาการ 4 คนทำความเห็นส่งต่อศาลเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเชื่อมั่นว่าแนวทางการวินิจฉัยของศาลไม่น่าจะเกิดกรณีที่ไม่สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ 

 

ขณะที่ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวย้ำให้จับตาการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 3 ประเด็น ที่มีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศ 1. การกำหนดห้ามแก้หมวด 1-2 ทั้งที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องให้แก้ไข  ซึ่งหากไม่แก้ไขอาจกลายเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ และจะไม่เป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง

 

  1. และกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตต้องใช้เสียงเห็นชอบรัฐสภา 2 ใน 3 ในทางปฏิบัติค่อนข้างเป็นไปยาก ซึ่งหากเกิดปัญหาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐสภาจะไม่สามารถฝ่าวิกฤตไปได้

 

  1. กรณีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ สสร. หากร่างไม่ผ่านประชามติ ซึ่งอาจไม่ได้หมายถึงประชาชนเลือกที่จะอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ฉบับปี 2560 และแม้มีช่องทางการตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องใช้เสียงรัฐสภา 2 ใน 3 ให้ความเห็นชอบเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ยากในการดำเนินการ โดยตั้งข้อสังเกตว่า หรือแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญจะต้องเกิดรัฐประหารถึงจะร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ก่อนจะย้ำว่าพรรคฝ่ายค้านยืนยันการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน 

 

นอกจากนี้ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ ย้ำตรงกันว่า ฝ่ายค้านห่วงเรื่องการแก้ไขที่จะต้องใช้เสียงรัฐสภาเห็นชอบ 500 คน ทั้งนี้ในชั้นวาระที่ 2 ฝ่ายค้านในแปรญัตติไว้ ต้องมาชั่งน้ำหนักกันดู

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X