×

ชาวเมียนมาเดินขบวนกดดันรัฐบาลทหาร ร่วมไว้อาลัยผู้ประท้วงที่เสียชีวิต สหรัฐฯ เรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2021
  • LOADING...
ชาวเมียนมาเดินขบวนกดดันรัฐบาลทหาร ร่วมไว้อาลัยผู้ประท้วงที่เสียชีวิต สหรัฐฯ เรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม

ชาวเมียนมาในหลายเมืองของประเทศพากันออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร ขณะที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตถูกตัดเป็นคืนที่ 6 ติดต่อกัน ด้านสหรัฐฯ เรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง หลังเกิดเหตุผู้ประท้วงถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 กุมภาพันธ์) 

 

ฝ่ายต่อต้านรัฐประหารออกมารวมตัวกันตามท้องถนนอีกครั้งในวันนี้ (20 กุมภาพันธ์) เพื่อเรียกร้องให้ยุติการปกครองด้วยระบอบทหาร และปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี รวมถึงคนอื่นๆ ที่ถูกจับตัวไป

 

 

ที่เมืองย่างกุ้ง ผู้ประท้วงถือพวงหรีดและวางดอกไม้เพื่อไว้อาลัยแด่ เมียะ ตะแวะ ตะแวะ ข่าย หญิงสาววัย 20 ปี ซึ่งกลายเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร โดยเธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลหลังถูกยิงที่ศีรษะ ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา

 

เมียะ ตะแวะ ตะแวะ ข่าย กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยบรรดาผู้สนับสนุนถือรูปถ่ายของเธอในระหว่างการชุมนุมประท้วง

 

“คุณคือผู้ที่พลีชีพเพื่อพวกเรา” โพสต์หนึ่งบนโซเชียลมีเดียกล่าวยกย่องพนักงานร้านขายของชำผู้ล่วงลับ “เราจะนำความยุติธรรมมามอบให้แก่คุณ”

 

 

ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ แถลงว่า สหรัฐฯ รู้สึกเสียใจต่อการเสียชีวิตของผู้ประท้วง และประณามการใช้กำลังกับผู้ประท้วง

 

“เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาละเว้นจากการใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ชุมนุมประท้วงอย่างสันติ” เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

 

“เราจะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและพันธมิตรเพื่อกดดันกองทัพเมียนมา”

 

ด้าน แอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หารือกับชาติพันธมิตรในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เพื่อเร่งรัดให้นานาชาติตอบโต้รัฐบาลทหารเมียนมาอย่างเด็ดขาด

 

ก่อนหน้านี้มีสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และนิวซีแลนด์ที่ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเมียนมาแบบจำกัด โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้นำกองทัพ ซึ่งรวมถึงการห้ามเดินทางและการอายัดทรัพย์สิน ขณะที่ญี่ปุ่นและอินเดียได้ร่วมกับประเทศตะวันตกในการเรียกร้องให้กองทัพคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารเมียนมาไม่มีปฏิกิริยาต่อมาตรการคว่ำบาตรใหม่เหล่านี้ โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โฆษกของกองทัพกล่าวในการแถลงข่าวว่า ทางกองทัพคาดไว้อยู่แล้วว่าจะมีการคว่ำบาตร

 

ทั้งนี้เมียนมาถูกตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตติดต่อกันเป็นคืนที่ 6 ในวันเสาร์ โดย Netblocks ซึ่งเป็นองค์กรที่ติดตามตรวจสอบการใช้งานอินเทอร์เน็ตรายงานว่า Wikipedia ถูกบล็อก หลังจากที่บริการโซเชียลมีเดียหลายเจ้าถูกแบนไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งรวมถึง Facebook 

 

 

ผู้ประท้วงหลายพันคนออกมารวมตัวกันอีกครั้งในเมืองมิตจีนา (Myitkyina) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศ หลังจากที่ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ตำรวจและทหารใช้กระบองและกระสุนยางเพื่อสลายฝูงชน

 

นอกจากนี้ประชาชนกลับมาเดินขบวนกันอีกครั้งผ่านเมืองพุกาม (Bagan) ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของเมียนมา และเมืองปะเต็ง (Pathein) ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี

 

ขณะที่เมืองใหญ่อันดับสองอย่างมัณฑะเลย์ นักเขียนและกวี รวมไปถึงพนักงานรถไฟ ได้จัดการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้กองทัพคืนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี และคนอื่นๆ ตลอดจนยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2008 ซึ่งร่างขึ้นภายใต้การกำกับของทหารและทำให้กองทัพมีบทบาทชี้ขาดทางการเมือง

 

ตัวแทนจากกลุ่มผู้ประท้วงที่เป็นชนกลุ่มน้อยเปิดเผยว่า ทางกลุ่มได้วางแผนจัดการประท้วงในวันเสาร์เช่นกัน แม้เกิดความกังขาในหมู่ชนกลุ่มน้อยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของ ออง ซาน ซูจี ที่มีต่อการช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา โดยที่ผ่านมา ออง ซาน ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศจากกรณีที่เธอไม่ประณามการปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างโหดร้ายของกองทัพ

 

 

เค จุง ผู้นำเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์นากา (Naga) และผู้จัดการประท้วงที่เมืองย่างกุ้งในวันเสาร์กล่าวว่า “เราไม่สามารถจัดตั้งประเทศสหพันธรัฐภายใต้อำนาจเผด็จการได้ เรายอมรับรัฐบาลทหารไม่ได้” 

 

เมียนมาประสบกับเหตุการณ์ความไม่สงบโดยกลุ่มชนกลุ่มน้อยมานับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อปี 1948 และกองทัพสถาปนาตนเองว่าเป็นสถาบันเดียวที่สามารถรักษาเอกภาพของชาติได้

 

ออง ซาน ซูจี วัย 75 ปี รวมถึงนายพลระดับสูงคนอื่นๆ ล้วนแต่เป็นชาวพม่า (Burman) ซึ่งเป็นชนชาติของประเทศ 

 

เค จุง กล่าวว่า พรรคการเมืองที่มาจากชนกลุ่มน้อยบางพรรคไม่ได้มุ่งมั่นที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารเท่าไรนัก

 

“มันเป็นภาพสะท้อนว่า ออง ซาน ซูจี ล้มเหลวในการสร้างพันธมิตรกับพรรคการเมืองกลุ่มชาติพันธุ์” เขากล่าว

 

“อย่างไรก็ตาม เราต้องชนะในการต่อสู้ครั้งนี้ เรายืนหยัดร่วมกับประชาชน เราจะต่อสู้จนกว่าเผด็จการจะหมดไป”

 

 

ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) ของเมียนมาเปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุประท้วง มีผู้ถูกจับกุมตัว 546 คน และจนถึงวานนี้มีผู้ได้รับการปล่อยตัวรวม 46 คน

 

ทั้งนี้ ออง ซาน ซูจี ถูกทางการจับกุมด้วยข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ และข้อหาการนำเข้าวิทยุสื่อสาร 6 เครื่องอย่างผิดกฎหมาย สำหรับการขึ้นศาลครั้งต่อไปของ ออง ซาน ซูจี จะมีขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม

 

ภาพ: Stringer / Anadolu Agency via Getty Images

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X