จิราพร ขาวสวัสดิ์ รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) รายงานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ผลดำเนินงานงวดปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิรวม 8,791 ล้านบาท ลดลง 2,104 ล้านบาท หรือคิดเป็นการลดลง 19.31% เมื่อเทียบกับปี 2562
สำหรับกำไรสุทธิที่ลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่สูงขึ้นจากการขยายสถานีบริการและร้านคาเฟ่อเมซอน รวมถึงการจัดประเภทค่าใช้จ่ายตามมาตรฐานบัญชีใหม่
นอกจากนี้มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงินเพิ่มขึ้น จากการเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เครื่องมือทางการเงินตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 โดยรวมแล้วส่งผลให้กำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.98 บาท ปรับลดลง 19%
สำหรับกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) ในปี 2563 มีจำนวน 17,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 615 ล้านบาท หรือ 3.6% จากปี 2562 โดยบางส่วนเป็นผลจากการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (Thailand Financial Reporting Standard: TFRS) ฉบับที่ 16 สัญญาเช่า ทําให้ต้องจัดประเภทค่าเช่าที่เข้าเงื่อนไขตามมาตรฐานบัญชี จากเดิมจัดอยู่ในประเภทค่าใช้จ่ายดําเนินงานไปเป็นค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจําหน่าย ส่งผลให้ EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,361 ล้านบาท
แม้ว่ากําไรขั้นต้นปรับลดลง 948 ล้านบาท หรือลดลง 2.8% โดยหลักจากธุรกิจน้ำมันในผลิตภัณฑ์นํ้ามันอากาศยานที่ปริมาณขายลดลง ขณะที่กําไรขั้นต้นเฉลี่ยของนํ้ามันอากาศยานปรับเพิ่มขึ้น
ในด้านค่าใช้จ่ายดําเนินงานสุทธิและรายได้อื่น ปรับลดลง 1,567 ล้านบาท หรือ 9.2% โดยหลักจากค่าใช้จ่ายที่ลดลงผันแปรตามปริมาณขายที่ลดลง เช่น ค่าจ้างเติมน้ำมันอากาศยาน ค่าขนส่ง ค่าโฆษณาส่งเสริม การขาย เป็นต้น รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16 เรื่องสัญญาเช่า ตามที่กล่าวข้างต้น ทําให้ปี 2563 มี EBITDA margin รวมที่ 4.1%
สำหรับรายได้และบริการของบริษัทในปี 2563 มีรวมทั้งสิ้น 428,804 ล้านบาท ลดลง 148,330 ล้านบาท หรือลดลง 25.7% จากปีก่อน โดยหลักจากรายได้กลุ่มธุรกิจน้ำมัน โดย 1. ราคาขายเฉลี่ยผลิตภัณฑ์นํ้ามันปรับตัวลดลงตามราคานํ้ามันในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจากสงครามราคาระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (OPEC) และประเทศรัสเซีย ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันทั่วโลก รวมทั้งอุปสงค์ของน้ำมันทั่วโลกก็ลดลงจากการระบาดของโรคโควิด-19 และ 2. ปริมาณขายในกลุ่มผลิตภัณฑ์หลักปรับลดลง ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยาน ดีเซล และเบนซิน จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19
สําหรับในประเทศไทย เพื่อระงับและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐบาลไทยจึงได้ออกมาตรการจํากัดการเดินทาง และเวลาในการเปิด-ปิดร้านค้า ส่งผลกระทบต่อปริมาณการขายในช่วงเดือนเมษายน 2563
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายก็เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลําดับ เมื่อรัฐบาลไทยเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยไตรมาส 4 ปี 2563 ปริมาณการขายปรับตัวเพิ่มเกือบเทียบเท่าสถานการณ์ปกติก่อนภาวะโควิด-19 ยกเว้นผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานที่ยังได้รับผลกระทบจากข้อจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศ และปริมาณเที่ยวบินทั่วโลกที่ลดลง และ LPG ภาคครัวเรือนจาก สภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังชะลอตัว
สําหรับรายได้กลุ่มธุรกิจ Non-Oil ลดลง โดยหลักจากรายได้ของร้านค้าสะดวกซื้อ สําหรับรายได้กลุ่มธุรกิจต่างประเทศลดลงเช่นกัน สาเหตุจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อราคาขาย ผลิตภัณฑ์ และปริมาณขายที่ลดลง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยาน
นอกจากนี้ OR แจ้งเพิ่มว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติจ่ายเงินปันผลเป็นเงินสดในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 17 มีนาคม 2564 วันที่ไม่ได้รับสิทธิ์ปันผล (XD) วันที่ 16 มีนาคม 2564 โดยเตรียมจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 เมษายน 2564
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า