ปัญหาโลกร้อน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และปัญหาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั่วโลก ทำให้ “แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ได้รับความสนใจในวงกว้าง จะเห็นได้ว่านักลงทุนต่างนำ ESG Factor เข้ามาใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนในบริษัท ควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันนักลงทุนมิได้แสวงหาเพียงแค่ผลกำไรเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และหลักธรรมาภิบาลของกิจการด้วย
องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดหลักปฏิบัติสำหรับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ (UN Principles for Responsible Investment: PRI) โดยมุ่งเน้นให้นักลงทุนนำ ESG Factor เข้ามาใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุน จึงเห็นได้ว่า จำนวนนักลงทุนสถาบันที่เข้าร่วมลงนามสนับสนุนหลักการ PRI มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึง 3,000 กว่าสถาบันในปี 2563 หรือคิดเป็นสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมากกว่า 103.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2549 อย่างมีนัยสำคัญ
ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นนอกตลาด (Private Equity: PE) ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ต่างให้ความสำคัญกับการนำ ESG Factor เข้ามาประกอบการตัดสินใจในทุกขั้นตอนของข้อตกลง อย่างเช่น ในสหราชอาณาจักร ที่ปัจจุบันเกือบสองในสาม (63%) ของ PE คำนึงถึงหลัก ESG ในการลงทุน ขณะที่ 57% มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกำหนดหลักเกณฑ์ ESG ในการลงทุนอย่างชัดเจน และ 49% ลงนามในหลักการ UN PRI
นอกจากนี้ ผลสำรวจ ‘Private Equity Responsible Investment Survey 2019’ ของ PwC ยังบ่งชี้ว่า บริษัท PE ทั่วโลกให้ความสำคัญกับ ESG การติดสินบน และการทุจริตส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนมากที่สุด
อย่างไรก็ดี แนวคิดการลงทุนแบบยั่งยืนยังไม่แพร่หลายในเอเชียมากนัก จะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่มุ่งเน้นการลงทุนบนพื้นฐานหลัก ESG ของเอเชีย ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ายุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกาเหนือ โดยสองไตรมาสแรกของปี 2563 สินทรัพย์ดังกล่าวของเอเชียมีมูลค่าเพียง 3% ของทั่วโลก ในขณะที่ของยุโรปคาดว่า จะเติบโตจาก 15% ไปถึง 57% ในปี 2568 ด้วยเหตุนี้ บริษัทต่างๆ ในเอเชียจึงต้องเริ่มดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ESG กับ M&A
ในกระบวนการ M&A การพิจารณาด้าน ESG เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเนื่องจากช่วยลดความเสี่ยงทางธุรกิจภายหลังการทำ M&A และมีผลสำคัญต่อข้อตกลง กล่าวคือ บริษัทที่มี ESG ที่ดีมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการควบรวมกิจการมากขึ้น ดังนั้น ESG จึงกลายเป็นเกณฑ์สำคัญในการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะ (Due Diligence) ของบริษัทเป้าหมาย เพื่อการตัดสินใจในการลงทุนที่ถูกต้อง โดยในช่วงการตรวจสอบสถานะ ผู้ซื้อที่มีการใช้หลักเกณฑ์ ESG มักจะ 1) เข้าเยี่ยมชมสถานที่และสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อระบุความเสี่ยงด้าน ESG และโอกาสในการเพิ่มมูลค่า 2) วัดมาตรฐานการดำเนินงานด้าน ESG โดยอ้างอิงตามประเภทอุตสาหกรรมของบริษัทเป้าหมาย หรือมาตรฐานการประเมินของบริษัทตนเอง 3) วิเคราะห์ช่องว่าง (Gap Analysis) ของการดำเนินงานด้าน ESG ระหว่างบริษัทเป้าหมายและผู้ซื้อ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับลดความเสี่ยงด้าน ESG และรับทราบมูลค่าประเมินบริษัทเป้าหมายที่แท้จริง และ 4) กำหนด ESG KPIs ด้วยวัตถุประสงค์และทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการสูญเสียมูลค่าที่คาดว่าจะได้รับจากการทำ M&A นั้นในอนาคต
ทั้งนี้ การประเมิน ESG และความเสี่ยงของบริษัทเป้าหมายนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) จากสาเหตุหลายประการ เช่น ความเสี่ยงด้าน ESG ที่ยากจะประเมินเป็นตัวเลขทางการเงินได้ ความไม่พร้อมในการให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ ESG ไม่ถูกต้อง ปัญหาด้าน ‘ความเหมาะสมทางวัฒนธรรม (Cultural Fit)’ ที่เกิดจากความแตกต่างของตัวชี้วัด ESG ระหว่างบริษัทที่จะเข้าซื้อและบริษัทเป้าหมาย รวมถึงปัญหาในการประเมินต้นทุนและความเสี่ยงด้าน ESG ปัญหาต่างๆ เหล่านี้อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทในอนาคตได้
ESG ในประเทศไทย
ที่ผ่านมา บริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคำนึงถึงการเติบโตแบบยั่งยืนในระยะยาวน้อยมาก โดยพบว่ามีบริษัทเพียง 1 ใน 3 ซึ่งล้วนแต่เป็นกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่เท่านั้นที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน แต่ด้วยแรงผลักดันของนักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืน ประกอบกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนในไทยกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดย บจ. ชั้นนำเริ่มปรับนโยบาย มีการจัดทำรายงานความยั่งยืน เพื่อเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ควบคู่ไปกับการรายงานข้อมูลทางการเงิน ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเริ่มให้รวมแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2) ให้เป็นรายงานเดียว (One Report) ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) หลายแห่งที่มีการออกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนมากขึ้น ปัจจุบันกองทุน ESG ในประเทศไทยมีถึง 29 กองทุน ด้วยสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (Asset Under Management: AUM) กว่า 26,000 ล้านบาท ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ได้สนับสนุนการจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment: THSI) เพื่อให้เป็นทางเลือกสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ รวมไปถึงจัดทำดัชนี SETTHSI ด้วย
ทั้งนี้ บริษัทที่ได้รับการประกาศให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืนยังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ระหว่างปี 2558-2563 อยู่ที่ 19% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า บจ. ไทยให้ความสำคัญกับ ESG มากยิ่งขึ้น
และจากข้อมูลพบว่า แม้ว่าตลาดจะมีความผันผวนสูง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 แต่ราคาหุ้นยั่งยืนจำนวน 124 บริษัท ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึง 5.58% ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ติดลบ 6.56% ยิ่งชี้ให้เห็นว่า บริษัทที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG มีโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้ค่อนข้างดี แม้ว่าตลาดโดยรวมจะเกิดการผันผวนก็ตาม
โดยสรุปแล้ว กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้าน ESG และยึดเป็นหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสร้างมูลค่าให้กับบริษัท และนำไปสู่การเติบโตแบบยั่งยืน ฉะนั้น ESG จึงไม่ใช่แค่ไม้ประดับ แต่เป็นสิ่งที่ต้องลงมือทำเพื่อความอยู่รอดภายใต้สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่งผลกระทบไปทั้งห่วงโซ่อุปทานของทุกธุรกิจ ไม่เพียงเท่านี้ ESG ยังช่วยให้บริษัทเป็นที่น่าจับตามองของนักลงทุน รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำ M&A ในอนาคตได้อีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Making sense of ESG, PwC
- บทความ Future of socially responsible investing in SE Asia
- บทความ ESG Considerations in M&A
- PwC Global Private Equity Responsible Investment Survey 2019
- PwC and UN PRI Trade Buyers Survey Results
- ดัชนี SET THSI, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- หุ้นยั่งยืน – Thailand Sustainability Investment, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ข่าวประกาศ ‘ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศรายชื่อ 124 บจ. ในหุ้นยั่งยืน ปี 2563’ ฉบับที่ 88/2563, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย