ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ลงนามอนุมัติคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหารในการใช้มาตรการคว่ำบาตรคณะผู้นำทหารที่ก่อรัฐประหารในเมียนมา รวมถึงสมาชิกครอบครัว และธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับพวกเขา ซึ่งถือเป็นคำสั่งคว่ำบาตรชุดแรกของไบเดนนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนที่แล้ว
หนึ่งในหลายมาตรการที่มีการประกาศคือ การบล็อกกองทัพเมียนมาไม่ให้เข้าถึงเงินทุนรัฐบาลที่มีอยู่ในสหรัฐฯ รวม 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ไบเดนยังเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี ผู้นำพรรค พรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และผู้นำพลเรือนคนอื่นๆ ที่เวลานี้ถูกกักขังอยู่ และต้องการให้กองทัพยึดถือผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วซึ่งพรรค NLD เป็นฝ่ายชนะคู่แข่งอย่างถล่มทลาย
“เราได้ยินเสียงของประชาชนเมียนมาแล้ว และโลกกำลังจับตามองอยู่” ไบเดนกล่าว พร้อมประกาศเตือนว่ารัฐบาลจะออกมาตรการลงโทษเพิ่มเติมหากจำเป็น
“ในขณะที่การประท้วงขยายตัว การใช้ความรุนแรงต่อผู้ที่ใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้ และเราจะเรียกร้องเช่นนี้ต่อไป” ผู้นำสหรัฐฯ กล่าวเสริม
“เราจะออกมาตรการควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดขึ้น เราได้อายัดทรัพย์สินในสหรัฐฯ ที่เป็นประโยชนต่อกองทัพเมียนมา ในขณะที่เรายังคงให้ความช่วยเหลือด้านเฮลท์แคร์ กลุ่มประชาสังคม และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเมียนมาโดยตรง”
การประกาศมาตรการคว่ำบาตรมีขึ้นในช่วงที่การประท้วงในเมียนมาดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ แม้รัฐบาลทหารประกาศกฎอัยการศึก และห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปในหลายเมืองในช่วงเวลาเคอร์ฟิว (20.00-04.00 น.) แต่ในระหว่างวันก็ยังมีประชาชนหลายหมื่นคนจากหลายสาขาอาชีพนัดหยุดงาน และออกมาประท้วงบนถนนในเมืองใหญ่ๆ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์
ขณะที่นานาชาติเรียกร้องให้เมียนมาหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วงที่ชุมนุมอย่างสงบ หลังตำรวจและกองกำลังความมั่นคงใช้รถฉีดน้ำและกระสุนยางสลายผู้ชุมนุม นอกจากนี้ยังมีรายงานการใช้กระสุนจริงด้วย โดยหญิงสาวคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งแพทย์ระบุว่าเกิดจากการใช้กระสุนจริง โดยเวลานี้เธอยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูโรงพยาบาลที่กรุงเนปิดอว์
ภาพ: Alex Wong / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: