×

ส่องราคาเป้าหมายหุ้น OR ก่อนเข้าเทรด 11 กุมภาพันธ์นี้ มาดูกันโบรกไหนให้สูงสุด

10.02.2021
  • LOADING...
ส่องราคาเป้าหมายหุ้น OR ก่อนเข้าเทรด 11 กุมภาพันธ์นี้ มาดูกันโบรกไหนให้สูงสุด

บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรก 11 กุมภาพันธ์นี้ โดยราคาที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) อยู่ที่ 18 บาทต่อหุ้น ซึ่งการจัดสรรหุ้น IPO สำหรับผู้ลงทุนทั่วไปนั้นมีผู้ลงทุนทั่วไปจองซื้อเข้ามาสูงถึง 5.3 แสนรายการ และได้รับการจัดสรรต่อรายสูงสุดไม่เกินคนละ 4,500 หุ้น 

 

ส่วนราคาซื้อขายวันแรกจะเป็นอย่างไรนั้น จากการสำรวจพบว่าโบรกเกอร์ส่วนมากให้ราคาเป้าหมายในกรอบ 19-24 บาท 

 

บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ให้ราคาเป้าหมาย 19.3-23.1 บาทต่อหุ้น

 

ฝ่ายวิจัย บล. แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แนะนำให้ ‘ซื้อ’ ราคาเป้าหมาย 19.3-23.1 บาทต่อหุ้น มี Upside 28% จากราคา IPO 18 บาท

 

บริษัทใน SET ที่เทียบเคียงกับ OR ได้คือ PTG เนื่องจากมีทั้งธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน และ Non-Oil จึงใช้ P/E เฉลี่ยของ PTG ที่ 20.9 เท่า เป็น Benchmark ในการประเมินราคาที่เหมาะสม แต่ด้วยเครือข่ายธุรกิจและกำไรของ OR ใหญ่กว่ามาก กำหนด Premium เพิ่ม 5-20% โดยหากอิงกำไรต่อหุ้นที่ 0.92 จะได้ราคาเป้าหมายในช่วง 19.3-23.1 บาท

 

“เรามองว่า OR เป็นหุ้นที่น่าสนใจจากเครือข่ายธุรกิจขนาดใหญ่ การเป็นแฟลกชิปของกลุ่ม ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและธุรกิจค้าปลีก เป็นผู้นำอันดับ 1 ในธุรกิจค้าปลีกน้ำมันมาอย่างยาวนาน และขยายต่อยอดธุรกิจ Non-Oil เชิงรุกจะช่วยลดความผันผวนของธุรกิจน้ำมันได้ต่อเนื่อง คาดกำไรปีนี้กลับมาเติบโตจากฐานต่ำ และจะเติบโตดียิ่งขึ้นหากการเดินทางด้วยอากาศยานกลับมาปกติ รวมถึงมีกระบวนการการซื้อหุ้นใน SET ของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินจำนวน 390 ล้านหุ้น ประมาณ 13% ของหุ้นที่เสนอขาย”

 

กำไรของ OR ในช่วงปี 2560-2562 อยู่ที่ 9,800 ล้านบาท 7,900 ล้านบาท และ 1.1 หมื่นล้านบาทตามลำดับ แม้กำไรของ Non-Oil จะเติบโตสม่ำเสมอ แต่ก็ไม่เพียงพอชดเชยความผันผวนของธุรกิจน้ำมันได้ กำไรปี 2561 ที่ลดลง 1,900 ล้านบาท เกิดจาก GP ของธุรกิจน้ำมันที่ลดลง 3,100 ล้านบาท จากขาดทุนจากสต๊อก ขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้นในปี 2562 เกิดจาก GP ของธุรกิจน้ำมันที่ 2,100 ล้านบาท โดยเกิดจากค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้น 

 

สำหรับกำไรงวด 9 เดือน ปี 2563 อยู่ที่ 5,900 ล้านบาท ลดลง 34% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่ากำไรในปี 2564 จะอยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาทกำไรต่อหุ้น 0.92 บาท

 

ตลาดน้ำมันและค้าปลีกยังคงเติบโตดีในระยะยาว ใน 10 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่เป็น Oil BU) ยอดขายน้ำมันของ OR เติบโตสม่ำเสมอเฉลี่ย 2.3% ต่อปี และรักษาตำแหน่งผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 39-42% ไว้ได้ต่อเนื่อง รวมทั้งค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้นจากระดับ 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 1.08 บาทต่อลิตร

 

นอกจาก 3 ธุรกิจหลักแล้ว OR ยังถือครองสินทรัพย์และเงินลงทุนที่มีศักยภาพสูง ได้แก่

 

1. การถือครองที่ดิน (กรรมสิทธิ์) ใน PTT Station 135 แห่ง กว่า 1,000 ไร่ ราคาทุน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมองว่าราคาตลาดน่าจะสูงกว่านั้นมาก เพราะถือครองมานานและมีศักยภาพการพัฒนาพื้นที่ในอนาคต

 

2. ถือหุ้นในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) จำนวน 7.1% มูลค่า 922 ล้านบาท คาดมูลค่าจะเพิ่มขึ้นหากการเดินทางด้วยอากาศยานกลับมาปกติ  

 

3. ถือหุ้นบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย (THAPPLINE) จำนวน 40.5% มูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสร้างส่วนแบ่งกำไรสม่ำเสมอมาโดยตลอด

 

4. ถือหุ้นบริษัท Flash Express จำนวน 9.6% มูลค่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งให้บริการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ มีจุดรับส่งพัสดุมากกว่า 2,500 แห่ง ซึ่งยอดส่งพัสดุในปี 2563 เติบโตกว่า 4000% และมีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นตามเทรนด์การซื้อของออนไลน์

 

บล. บัวหลวง คาดกำไรโตเฉลี่ย 14% ในช่วงปี 2563-2565

 

ฝ่ายวิจัย บล. บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยประมาณการอัตราเติบโตของกำไรหลักเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) ของ OR จะอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 14.0% ในระหว่างปี 2563-2565 แม้ว่าเราคาดการณ์ว่ากำไรหลักในปี 2563 จะปรับตัวลดลง 30.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.06 หมื่นล้านบาท กดดันโดยผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงคาดการณ์ว่ากำไรหลักของ OR จะฟื้นตัวในปี 2564 โดยคาดว่าจะขยายตัว 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 1.16 หมื่นล้านบาท 

 

และจะขยายตัว 19.6% มาอยู่ที่ 1.38 หมื่นล้านบาทในปี 2565 หนุนกำไรที่ปรับตัวสูงขึ้นในทุกธุรกิจหลัก บนสมมติฐานว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย และสถานการณ์ทั่วโลกค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

 

โดยกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย, ภาษี, ค่าเสื่อมราคา, ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่เพิ่มขึ้น และงบดุลที่แข็งแกร่งขึ้นภายหลังจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ จะส่งผลให้ OR มีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุน และเข้าซื้อกิจการในอนาคต นอกจากนั้นสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งน่าจะหนุนความสามารถในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทอีกด้วย

 

บล. หยวนต้า มอง PE ยังต่ำเมื่อเทียบกลุ่มค้าปลีก

 

ฝ่ายวิจัย บล. หยวนต้า ประเมินว่า จากผลประกอบการย้อนหลังปี 2561 2562 และ 9 เดือน ปี 2563 อยู่ที่ 9,493 ล้านบาท 10,896 ล้านบาท และ 5,869 ล้านบาท ตามลำดับ มองว่าการเติบโตของบริษัทจะมาจากการขยายตัวของธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจในต่างประเทศกลุ่ม CLMV ซึ่งมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ขณะที่ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันในไทยจะยังสามารถเป็นแหล่งรายได้หลักและสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทต่อไปได้ 

 

แม้ระยะยาวเทคโนโลยีของ EV จะทำให้ OR มีความเสี่ยงจากความต้องการใช้น้ำมันปิโตรเลียม อย่างไรก็ตาม OR สามารถลดความเสี่ยง และเปลี่ยนเป็นการสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจได้จากการติดตั้ง EV Charger ในสถานีบริการของตัวเอง (ปัจจุบันมี 25 แห่ง)  

 

หากอิงสมมติฐานกำไรปี 2564 ที่ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาท (สูงกว่าปี 2561-2562 ที่ 0.9-1.1 หมื่นล้านบาท เพราะจำนวนสาขาที่สูงขึ้น) หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (EPS) ราว 0.92-1.08 บาท ที่ราคา IPO จะ Implied เป็น PER2564 ที่ 16.4-19.6 เท่า สูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจสถานีบริการน้ำมันอย่าง PTG ที่ซื้อขายบน PER ระดับ 16 เท่า 

 

อย่างไรก็ตาม OR เป็นผู้นำตลาดในประเทศ ธุรกิจ Non-Oil แข็งแกร่ง และมีโอกาสการเติบโตในต่างประเทศ รวมทั้งระดับ PER ดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มค้าปลีกที่มี PER ระดับ 30 เท่า  

 

บล. เอเซียพลัส ให้ราคาเหมาะสม 24 บาท

 

ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส ประเมินว่า ในปี 2564 ทาง OR น่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 41.2% โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของทุกกลุ่มธุรกิจ

 

ส่วนภาพระยะยาวตั้งแต่ปี 2564-2567 คาดว่า OR จะมีกำไรเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 16.7% โดยใช้ปี 2563 เป็นปีฐาน จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว และการเดินทางทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์

 

ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐานให้มีการเปิดสถานีบริการน้ำมัน 108 แห่งต่อปี และเปิดสาขา Cafe Amazon เพิ่ม 418 สาขาต่อปี ตามเป้าหมายหลักของ OR ในขณะที่กลุ่มธุรกิจต่างประทศมีการเปิดสถานีบริการน้ำมันปีละ 35-36 แห่ง และขยายสาขา Cafe Amazon ปีละ 35-36 สาขา

 

ปี 2565-2567 คาด OR จะมีกำไรเติบโต 16.7%, 5.8% และ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท 1.5 หมื่นล้านบาท และ 1.6 หมื่นล้านบาทตามลำดับ

 

สำหรับมูลค่าหุ้นที่เหมาะสมของ OR ในปี 2564 ด้วยวิธีคิดลดตามกระแสเงินสด (DCF) จะอยู่ที่ประมาณ 24 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 24.3 เท่า ซึ่งถือว่าใกล้เคียงค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของ P/E ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานต่อ P/E ในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมค้าปลีกในสัดส่วน 70:30 ซึ่งจะได้ค่า P/E เท่ากับ 25.7 เท่า 

 

ขณะที่คาดจะจ่ายปันผลสูงถึง 0.8 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราส่วนเงินปันผล (Dividend Yield) ที่ราว 4.2% ภายใต้สมมติฐานราคาหุ้นละ 18.0 บาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X