ช่วงหัวค่ำของวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาบิตคอยน์ได้ปรับขึ้นทะลุจุดสูงสุดเดิมที่ 1,280,000 บาท ซึ่งเป็นสถิติเดิมเมื่อช่วงเช้าวันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ราคาได้ปรับขึ้นต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดใหม่ที่ระดับ 1,400,000 บาทบนกระดานเทรดสกุลเงินดิจิทัลของไทยอย่าง Bitkub หรือประมาณ 46,794 ดอลลาร์สหรัฐบนกระดานเทรดต่างประเทศ
Tesla ร่วมทัพถือบิตคอยน์!
การปรับตัวทะลุจุดสูงสุดเดิมของบิตคอยน์ครั้งนี้มาจากการเข้าซื้อของ Tesla บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังระดับโลก ซึ่งมีบุคคลที่ทั่วโลกกำลังจับตามองอย่าง อีลอน มัสก์ ผู้เป็นซีอีโอของ Tesla โดยทาง Tesla ได้เข้าซื้อบิตคอยน์เป็นมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท!
Tesla ได้ให้เหตุผลของการเข้าซื้อครั้งนี้ว่า “เพื่อความยืดหยุ่นทางการเงินและเพื่อเป็นการเก็งกำไรให้กับบริษัท” นอกจากนี้ Tesla ยังระบุด้วยว่า “จะมีการพัฒนาระบบรับชำระเงินด้วยบิตคอยน์เพื่อซื้อสินค้าและบริการของ Tesla ผ่านกระดานเทรดต่างๆ” ซึ่งจะทำให้ Tesla กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์บริษัทแรกของโลกที่รับชำระเงินด้วยคริปโตเคอร์เรนซี
ก่อนหน้านี้มัสก์ก็เคยส่งสัญญาณสนับสนุนบิตคอยน์โดยการเปลี่ยนสถานะบนบัญชีทวิตเตอร์ของเขาเป็นสัญลักษณ์ของบิตคอยน์ และกล่าวให้การสนับสนุนบิตคอยน์ผ่านทางนิตยสาร Forbes โดยระบุว่าบิตคอยน์เป็นสิ่งที่ดี และกำลังจะได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้างจากสังคมในอีกไม่นาน
ราคาบิตคอยน์ขึ้นเพราะบริษัทยักษ์ใหญ่
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ราคาบิตคอยน์ปรับสูงขึ้นโดยมีแรงหนุนมาจากข่าวการเข้าซื้อของบริษัทระดับโลก โดยก่อนหน้านี้ราคาบิตคอยน์ก็เคยปรับสูงขึ้นจากการเข้าซื้อของ MicroStrategy บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เข้าซื้อบิตคอยน์เพื่อถือครองเป็นทรัพย์สินสำรองรวมกันแล้วมากกว่า 70,470 ดอลลาร์สหรัฐ หากลองคิดมูลค่าเป็นเงินบาทไทยคร่าวๆ จะอยู่ที่ประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท หรือ 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจาก Tesla กับ MicroStrategy แล้วยังมีบริษัทหรือองค์กรที่ตัดสินใจเข้าซื้อบิตคอยน์เป็นทรัพย์สินสำรองอีกมากมาย ไม่ว่าจะ Grayscale บริษัทการเงินรายใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีบิตคอยน์ในความครอบครองสูงถึง 64,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือแม้แต่สถาบันด้านการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่ถือครองบิตคอยน์รวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำไมบริษัทระดับโลกจึงเลือกถือบิตคอยน์
การที่บริษัทระดับโลกเหล่านี้ตัดสินใจเข้าซื้อบิตคอยน์เพื่อถือเป็นสินทรัพย์สำรองเหมือนกับการที่ธนาคารกลางถือทองคำหรือสกุลเงินต่างประเทศมาจากความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 จนเศรษฐกิจซบเซา
ผลกระทบดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ตัดสินใจใช้มาตรการ Unlimited QE หรือมาตรการพิมพ์เงินไม่จำกัดจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะถึงระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้บรรดาบริษัทและผู้คนทั่วโลกต่างมองหาสินทรัพย์ที่พวกเขาสามารถถือครองและปกป้องความมั่งคั่งของพวกเขาเอาไว้ได้ หนึ่งในตัวเลือกก็คือบิตคอยน์นั่นเอง
การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของบิตคอยน์นับเป็นอีกสัญญาณที่ชัดเจนว่าบิตคอยน์กำลังได้รับความนิยมและการยอมรับจากองค์กรระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เราเรียกว่า ‘ยุคดิจิทัล’ ผู้คนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินบนอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย ประกอบกับคุณสมบัติของบิตคอยน์ที่ได้รับการยอมรับให้เป็น ‘ทองคำดิจิทัล’ อนาคตของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลจึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง!
โดย: บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: CNBC, Cointelegraph, Decrypt, CoinDesk